ไม่พบผลการค้นหา
รัฐสภาของหลายประเทศถูกประชาชนมองว่า เป็นเพียงแค่พื้นที่ของเกมทางการเมือง หลายฝ่ายต่างรู้สึกหมดศรัทธาต่อการทำหน้าที่ของผู้แทนราษฎร เช่นในประเทศไทยเองที่ประชาชนพบกับปรากฏการณ์ “สวนกล้วย” และ “ฟาร์มงูเห่า” จาก ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน กระโดดไปร่วมกับฝ่ายรัฐบาล ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นสัญญาณความอ่อนแอของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดกฎเกณฑ์ให้การเมืองไทยตกอยู่ในภาวะลูกผีลูกคน

ประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่างมาเลเซียเอง ก็ประสบกับปัญหา ส.ส.ย้ายพรรคเช่นกัน จนส่งผลให้การเมืองของประเทศประสบกับภาวะไร้เสถียรภาพ โดยนับตั้งแต่ปี 2563 มาเลเซียเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีคนใหม่ไปแล้วกว่า 3 ครั้ง สืบเนื่องจากปัญหา ส.ส.ย้ายพรรค การทรยศหักหลังกันในทางการเมือง ส่งผลให้ประชาชนมาเลเซียมองภาพที่ติดลบต่อการทำงานของ ส.ส.ในรัฐสภาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จนเมื่อปลายสัปดาห์ก่อน สภาล่างของมาเลเซียเพิ่งผ่านกฎหมายฉบับใหม่ ที่มีชื่อเรียกว่ากฎหมายต่อต้านการย้ายพรรค ซึ่งรัฐสภามาเลเซียทำการเสนอและพิจารณากันมาตั้งแต่เดือน ก.ย.ปีก่อน นวัตกรรมทางกฎหมายชิ้นใหม่ของรัฐสภามาเลเซียในครั้งนี้ จะช่วยสร้างเสถียรภาพให้กับการเมืองมาเลเซียได้หรือไม่ ‘วอยซ์’ ชวนไปพิจารณากฎหมายต่อต้านการย้ายพรรคฉบับใหม่ของประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย เพื่อว่ามันอาจจะเป็นต้นแบบมาปรับใช้ในวิกฤตทางการเมืองที่ไทยกำลังประสบอยู่


ทำไมมาเลเซียพยายามออกกฎหมายต้านย้ายพรรค

การย้ายพรรคของ ส.ส.มาเลเซีย ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศอย่างหนัก ความง่อนแง่นของการเมืองมาเลเซียเริ่มปรากฏขึ้นเมื่อปี 2563 หลังจากที่รัฐบาลของพรรคปากาตัน ฮาราปัน (PH) ซึ่งมีพรรคต่างๆ เข้ามาเป็นกลุ่มพันธมิตรในทางการเมืองภายใต้พรรคใหญ่ อันมีอดีตนายกรัฐมนตรีคนดังอย่าง มหาเธร์ โมฮัมหมัด เป็นผู้นำ กลับล่มลง หลังจาก ส.ส.ในพรรคพันธมิตรของ PH ทำการย้ายพรรค หลังจากที่พวกตนได้ร่วมกันโค่นล้มอำนาจพรรคใหญ่อย่างองค์การมลายูรวมแห่งชาติ หรือที่รู้จักกันในชื่ออัมโน ซึ่งปกครองประเทศมานานหลายทศวรรษได้สำเร็จไปก่อนหน้านี้ก็ตาม

พรรค PH ของมหาเธร์ขึ้นครองอำนาจหลังชนะการเลือกตั้งในปี 2561 พลิกชะตาทางการเมืองของมาเลเซีย หลังจากการปกครองของพรรคใหญ่อย่างอัมโนมาตลอด 60 ปี อย่างไรก็ดี พรรครัฐบาลใหม่ของ PH กลับล่มลงที่ปากอ่าว หลังเกิดการย้ายพรรคของ ส.ส.จำนวนมากจากพรรคแนวร่วมภายใต้พรรค PH หรือที่เรียกว่า “เชอราตันมูฟ” การล่มสลายลงของรัฐบาลมาเลเซียในปี 2563 นำมาสู่ความไร้เสถียรภาพในทางการเมืองมาจนถึงปัจจุบัน

000_1PD2HW.jpg

การละทิ้งพรรคหรือย้ายพรรคข้ามฝั่งยังคงเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ ในการเมืองมาเลเซีย ส่งผลให้รัฐบาลที่ตามมาหลังการลงออกของมหาเธร์ ได้แก่ รัฐบาลของอดีตนายกรัฐมนตรี มูห์ยิดดิน ยัสซิน และ อิสมาอิล ซาบรี ยาคอบ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของมาเลเซีย ครองเสียงข้างมากในรัฐสภาได้เพียงแค่ตัวเลขหลักเดียว

ตัวเลข ส.ส.ปริ่มน้ำ ทำให้การเมืองของมาเลเซียระส่ำระสาย ทั้งการลงมติไว้วางในนายกรัฐมนตรี ไปจนถึงการผ่านกฎหมายงบประมาณ ที่อาจหยุดชะงักลงได้เพียงเพราะแค่ ส.ส.ตัดสินใจย้ายพรรคกันไปมา กฎหมายต่อต้านการย้ายพรรคของมาเลเซีย จึงถูกออกแบบมาภายใต้เงื่อนไขของข้อตกลงการลงมติไว้วางใจและกฎหมายงบประมาณ โดยเป็นหนังสือบันทึกความเข้าใจ (MOU) ซึ่งกระทำขึ้นระหว่างพรรค PH ซึ่งปัจจุบันเป็นฝ่ายค้าน กับพรรครัฐบาลของอิสมาอิล ตั้งแต่เดือน ก.ย.ปีก่อน

ข้อตกลงฉบับดังกล่าวระหว่างรัฐบาลกับฝ่านค้านมาเลเซีย จะช่วยให้ฝ่ายค้านให้การสนับสนุนอิสมาอิล ในการผ่านกฎหมายฉบับสำคัญ และในทางกลับกัน นายกรัฐมนตรีมาเลเซียตกลงที่จะผลักดันกฎหมายปฏิรูปฉบับสำคัญหลายฉบับ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือกฎหมายต่อต้านการย้ายพรรคการเมือง โดยข้อตกลงการลงมติไว้วางใจและกฎหมายงบประมาณ หรือ MOU ฉบับนี้จะไม่มีวันหมดอายุ เว้นแต่ว่าจะมีการประกาศยุบสภาลง

000_32B66GD.jpg

สำหรับที่มาสภาผู้แทนราษฎรในปัจจุบันของมาเลเซียนั้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของมาเลเซียมีจำนวนทั้งสิ้น 222 คน โดย ส.ส.จะมีวาระ 5 ปี ทั้งนี้ สมาชิกจำนวน 209 คนจะได้รับเลือกมาจากรัฐต่างๆ ตามปริมาณ ส.ส.ของแต่ละรัฐ และ ส.ส.อีก 13 คน จะได้รับเลือกมาจากเขตการปกครองที่เหลืออีก 3 เขต ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2500 เป็นต้นมา มาเลเซียมีระบบการเลือกตั้งหลายพรรค โดยพรรคที่มีที่นั่งมากที่สุดในสภาผู้แทนราษฎร และสมานิติบัญญัติแห่งรัฐ จะมีสิทธิในการจัดตั้งรัฐบาลกลางและรัฐบาลแห่งรัฐ

ภายใต้ระบบการเมืองหลายพรรคของมาเลเซีย และตัวแทนที่ถูกจำกัดเอาไว้เพียงแค่ 222 คนนั้น ทำให้เสียงในรัฐสภาของมาเลเซียส่งผลต่อความเป็นความตายของรัฐบาลโดยตรง โดยเฉพาะสถานการณ์การเมืองปัจจุบันของมาเลเซียที่รัฐบาลมีเสียงปริ่มน้ำ ยิ่งทำให้การเมืองมาเลเซียเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน การออกกฎหมายต่อต้านการย้ายพรรคของ ส.ส. จึงเป็นความหวังที่รัฐสภามาเลเซียเชื่อว่า จะแก้ไขปัญหาที่ฝังรากลึกอยู่ในการเมืองของประเทศได้


อะไรคือใจความสำคัญของกฎหมายห้ามย้ายพรรค

ตามมาตรา 10 แห่งบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาเลเซียของรัฐบาลกลาง มีการกำหนดให้ประชาชนชาวมาเลเซียมีสิทธิเสรีภาพในการสมาคม กฎหมายฉบับดังกล่าวเข้าไปแก้ไขเนื้อหาสาระ ที่จะมีข้อยกเว้นสำหรับสิทธิเสรีภาพของ ส.ส.ในการสมาคมกัน เพื่อป้องกันการละทิ้งหรือย้ายพรรคการเมือง

ไม่เพียงแต่การกำหนดกรอบสิทธิและเสรีภาพในการรวมตัวของ ส.ส.มาเลเซียใหม่ แต่กฎหมายฉบับใหม่ได้ถูกแก้ให้การจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง จะสามารถจัดขึ้นได้ในทุกเมื่อ เมื่อ ส.ส.ทำการย้ายพรรคของตนเอง ภายใต้มาตรา 49A ใหม่ของรัฐธรรมนูญมาเลเซียของรัฐบาลกลาง จากเดิมที่มาตราดังกล่าวกำหนดแค่เพียงว่า ส.ส.จะไม่สามารถเป็นสมาชิกรัฐสภาของทั้งสองฝ่ายได้ หรือเป็นสมาชิกรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งในหนึ่งเขตการเลือกตั้งได้ หรือการเป็น ส.ว.มากกว่าหนึ่งรัฐในเวลาเดียวกันได้ หรือเป็นทั้งผู้ได้รับการเลือกตั้งและได้รับการแต่งตั้งจากวุฒิสภา

นอกจากนี้แล้ว ส.ส.ที่ทำการลาออกจากตำแหน่ง จะไม่ถูกจำกัดสิทธิในการลงสมัครรับเลือกตั้งในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า ข้อกำหนดนี้จะส่งผลให้ ส.ส.สามารถลาออกจากพรรคของตนเอง เพื่อป้องกันที่นั่งของตนในรัฐสภา ในการปูทางไปสู่การจัดการเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง

ในส่วนของรัฐแต่ละรัฐในมาเลเซีย ข้อกำหนดตามกฎหมายฉบับใหม่ที่ถูกเสนอจะมอบอำนาจให้แก่แต่ละรัฐ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญของตน อันจะส่งผลให้ไม่เกิดการย้ายข้ามพรรคของ ส.ส.ที่มาจากรัฐของตนได้

กฎหมายฉบับใหม่นี้ได้รับการแก้ไขผ่านการแก้รัฐธรรมนูญของประเทศ แทนการออกพระราชบัญญัติฉบับใหม่ทั้งฉบับ โดยการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญของรัฐบาลกลางมาเลเซียใดๆ จะต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐสภา ในขณะที่กฎหมายดังกล่าวจะถูกแก้ไขได้ เมื่อมีเสียงข้างมากของรัฐสภาสนับสนุน

แล้วใครจะได้รับการยกเว้นจากกฎหมายห้ามการย้ายพรรคฉบับใหม่ ทั้งนี้ เนื้อหาของกฎหมายห้ามการย้ายพรรคของมาเลเซียกำหนดชัดเจนว่า ผู้ที่จะได้รับการยกเว้นจากกฎหมายฉบับดังกล่าว จะเป็นเพียงแค่ ส.ส.ที่ถูกขับให้พ้นออกจากพรรคการเมืองของตน หรือการถอนตัวที่ทำขึ้นทั้งพรรค หรือการที่ระหว่างพรรคได้ทำข้อตกลงร่วมกันภายหลังจากการเลือกตั้งเสร็จสิ้นลง


เสียงตอบรับของ ส.ส.มาเลเซียเป็นอย่างไร

สภาผู้แทนราษฎรมาเลเซียได้รับรองกฎหมายฉบับดังกล่าว เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (28 ก.ค.) ด้วยคะแนนเห็นด้วย 209 เสียง และงดออกเสียงอีก 11 เสียง จาก ส.ส.ที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎรมาเลเซียทั้งสิ้น 220 คน โดยไม่มีเสียงของ ส.ส.คนใดคัดค้่นกฎหมายฉบับดังกล่าว ที่ต้องอาศัยเสียง 2 ใน 3 ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรับรอง ทำให้กฎหมายต่อต้านการย้ายพรรคฉบับใหม่ผ่านสภาล่างของมาเลเซียไปอย่างง่ายดาย

กฎหมายฉบับนี้จะถูกส่งต่อไปให้สมาชิกวุฒิสภามาเลเซียพิจารณาต่อในวันที่ 9 ส.ค.ที่จะถึงนี้ เพื่อรอการรับรองและประกาศใช้ โดยมีการคาดการณ์ว่า กฎหมายการต่อต้านการย้ายพรรคของ ส.ส.มาเลเซีย จะมีผลบังคับใช้ได้ในช่วงสัปดาห์แรกของเดือน ก.ย.ที่จะถึงนี้

กฎหมายต่อต้านการย้ายพรรคของมาเลเซีย ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลว่าอาจจะไม่สามาถแก้ไขปัญหา ส.ส.ย้ายพรรคได้อย่างสมบูรณ์แบบ แต่รัฐบาลมาเลเซียเชื่อว่า กฎหมายดังกล่าวจะสามารถทำให้พรรครัฐบาลและฝ่ายค้านของมาเลเซียมานั่งโต๊ะประชุมหารือ เพื่อหาทางออกให้กับวิกฤตของประเทศร่วมกันได้ โดยอิสมาอิลระบุว่า กฎหมายฉบับดังกล่าวจะยุติวิกฤตทางการเมืองของมาเลเซียที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานลงได้

000_329Y4AM.jpg

ในทางกลับกัน อันวาร์ อิบราฮิม ผู้นำฝ่ายค้านของสภาผู้แทนราษฎรมาเลเซียออกมาชี้ว่า การเมืองของมาเลเซียมาถึงจุดวิกฤตที่ทำให้คนรุ่นใหม่หมดศรัทธาต่อการทำงานของรัฐสภา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นการย้ายพรรคเพื่อผลประโยชน์ของ ส.ส.กันเอง 

ทั้งนี้ ก่อนเกิดวิกฤตการเมืองของพรรค PH ในปี 2563 เอง สภาผู้แทนราษฎรของมาเลเซียก็ประสบชะตากรรมการย้ายพรรคของ ส.ส. เช่นเดียวกัน หลังจากที่พรรคฝ่ายค้านในช่วงระหว่างปี 2561 ถึง 2562 อย่างแนวร่วมของพรรคบาริซัน นาซิโอนัล (BN) เสียเสียง ส.ส.ในสภาไปกว่า 15 คน จากพรรคอัมโนเดิม ที่ย้ายพรรคไปอยู่กับพรรคปาร์ตี ปรีบูมี เบอร์ซาตู ซึ่งขณะนั้นพรรค PH เองกำลังเป็นฝ่ายค้านอยู่

ปัจจุบันนี้ มี ส.ส.มาเลเซียทำการย้ายพรรคกลุ่มพันธมิตรของตนเองไปแล้วกว่า 39 คน รวมถึงมาเลเซียเองต้องทำการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีใหม่ของประเทศมาแล้วกว่า 3 คน นับตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา เป็นเวลาเพียง 4 ปีเท่านั้น ที่การย้ายพรรคของ ส.ส.ในรัฐสภามาเลเซีย ส่งผลให้การเมืองของประเทศเกิดวิกฤตอย่างต่อเนื่อง


กฎหมายจะกันการย้ายพรรคของ ส.ส.มาเลเซียได้ไหม

การที่พรรค PH ของมาเลเซียภายใต้การนำของมหาเธร์ล่มลงในปี 2563 นั้น เกิดขึ้นจากการย้ายพรรคในสองลักษณะของ ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎรของมาเลเซีย โดยรูปแบบแรกคือ 10 ส.ส.จากพรรคปาร์ตี เคอาดิลัน รักยัต ภายใต้การนำของ อัซมิน อาลี ทำการประกาศแยกตัวออกไปจากพรรค PH เอง และกลุ่มพรรคของมูห์ยิดดินทั้งพรรคปาตี ปรีบูมี เบอร์ซาตู มาเลเซีย ซึ่งประกาศแยกตัวยกพรรคออกจากพรรค PH

กฎหมายฉบับเดิมส่งผลให้ไม่ว่า ส.ส.จากพรรครัฐบาลที่ทำการย้ายพรรคไปไม่หมดทั้งพรรค กับ ส.ส.ที่ย้ายพรรคกันยกพรรค จะสามาถย้ายพรรคได้โดยไม่ได้รับผลกระทบใดๆ ส่งผลให้ประชาชนชาวมาเลเซียมองว่า ส.ส.เหล่านี้มุ่งหาผลประโยชน์ เสมือนกบเลือกนายกระโดดไปยังบ่อน้ำที่เต็มไปด้วยอาหารที่อุดมสมบูรณ์กว่า (เสมือนงูเห่าเลื้อยหากล้วยกิน)

แต่ภายใต้กฎหมายฉบับใหม่ในการต่อต้านการย้ายพรรคนี้ ส.ส. 10 คน ภายใต้การนำของอัซมิน ไม่ว่าจะมาจากเขตการเลือกตั้งใด จะต้องหมดสภาพจากการเป็น ส.ส.ทันที เมื่อพวกเขาทำการย้ายพรรค และแต่ละเขตของ ส.ส.ทั้ง 10 รายนั้นๆ จะต้องมีการจัดการเลือกตั้งใหม่ทั้งหมด เพื่อหา ส.ส.มาแทนที่กลุ่ม ส.ส.ย้ายพรรคที่ไปกันไม่หมดทั้งพรรค

000_1PQ1E8.jpg

ในทางตรงกันข้าม กลุ่ม ส.ส.ของมูห์ยิดดิน ที่ถอนตัวออกจากพรรค PH กันไปยกพรรค จะไม่เข้ากับกฎการต่อต้านการย้ายพรรคของ ส.ส.ใหม่ เนื่องจากกลุ่มของมูห์ยิดดิน ภายใต้พรรคปาร์ตี ปรีบูมี เบอร์ซาตู มาเลเซีย เป็นการย้ายพรรคออกจากพรรค PH แบบไปกันยกพรรค ไม่ใช่การย้ายพรรคในนามส่วนตัวของแต่ละ ส.ส.อย่างที่เกิดขึ้นกับกรณีของ ส.ส. 10 รายจากพรรคปาตี เคอาดิลัน รักยัต

อย่างไรก็ดี หากกฎหมายฉบับใหม่นี้ผ่านการรับรองจากวุฒิสภามาเลเซีย กฎหมายนี้จะไม่มีผลบังคับใช้ย้อนหลังต่อกลุ่ม ส.ส. 10 คนที่ย้ายออกจากพรรค PH ในปี 2563 แต่อย่างใด

มาเลเซียใกล้อาจจะมีการประกาศยุบสภาในเร็ววันนี้ หรือไม่ก็จนกว่าวาระของสภาจะหมดลงในเดือน ก.ย. 2564 อย่างไรก็ดี เสียงของประชาชนชาวมาเลเซียกำลังถูกส่งไปยังรัฐสภาของตนเอง ในการเร่งการแก้ไขปัญหาการย้ายพรรคกระโดดข้ามเรือ เพื่อหาผลประโยชน์ของตนเองไปวันๆ แทนการรับฟังเจตจำนงของประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ


ที่มา:

straitstimes.com

channelnewsasia.com

thesundaily.my

parliament.go.th

jac.gov.my