ไม่พบผลการค้นหา
อดีตอาจารย์อายุ 64 ปี ผู้สมัครจากพรรคภรัตติยาชนาตา (BJP) จากรัฐโอริสสาได้ยุติบทบาททางการเมืองในฐานะผู้ว่าการรัฐ โดย เทราปาตี เมอร์มู กำลังจะได้กลายมาเป็นประธานาธิบดีชนเผ่าคนแรกของอินเดีย ในวันที่ 24 ก.ค.นี้

ทั้งนี้ ตำแหน่งประธานาธิบดีของอินเดีย จะเป็นเพียงแค่ประมุขของรัฐเท่านั้น และจะไม่มีอำนาจในทางการเมือง ซึ่งประธานาธิบดีอินเดียจะถูกเลือกจากทั้งสภานิติบัญญัติของรัฐ และสภาของดินแดนสหภาพ

เมอร์มูเอาชนะผู้ท้าชิงอย่าง ยาชวานต์ ซินฮา นักการเมืองผู้มากประสบการณ์ และอดีตรัฐมนตรีอาวุโสในรัฐบาลของ อฏัล พิหารี วาชเปยี ในช่วงทศวรรษที่ 2530 จนถึงต้นทศวรรษที่ 2540 ซึ่งปัจจุบัน วาชเปยีกำลังเป็นนักวิพากย์วิจารณ์ของพรรคและรัฐบาล นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน

เมอร์มูจะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีต่อจาก ราม นาถ โกวินท์ ที่จะหมดวาระในวันที่ 24 ก.ค. โดยเมอร์มูถูกเลือกเป็นประธานาธิบดี จากผู้ท้าชิงทั้งหมด 20 คนที่พรรค BJP และพันธมิตรรับพิจารณา เมอร์มูกล่าวว่า เธอรู้ว่าตัวเองถูกเสนอชื่อเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีผ่านโทรทัศน์ ทำให้เธอรู้สึกประหลาดใจ และดีใจเป็นอย่างมาก “ในฐานะสตรีชนเผ่าจากเขตมยุรพานจ์ที่ห่างไกล ดิฉันไม่เคยคิดเลยว่าจะได้เป็นประธานาธิบดี ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นถึงเพียงนี้” 

เหล่าผู้นำทางการเมืองในรัฐโอริสสาต่างแสดงความยินดีกับการเสนอชื่อเมอร์มูเป็นประธานาธิบดี อีกทั้งยังเรียกเธอว่าเป็น “บุตรีแห่งดิน” อีกด้วย

โดยเพื่อนร่วมพรรคที่รู้จักกับเมอร์มูมาตั้งแต่ช่วงปี 2523 อย่าง กาบี วิศนุ สัทพาที ยังกล่าวว่า เมอร์มูเป็นคนที่ “ตรงไปตรงมาและเรียบง่าย” ก่อนชี้ว่า “เมอร์มูเป็นคนที่จิตใจดีมีเมตตา ไร้ซึ่งความหยิ่งผยอง ไม่ถือตัว ไม่เคยอวดเบ่ง อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ดี เป็นคนถ่อมตนและติดดิน ในฐานะนักการเมืองผมว่าเธอรู้วิธีอยู่กับผู้คน”

ในเดือนถัดไป สภาอินเดียจะมีการลงคะแนนเสียงเพื่อเลือกรองประธานาธิบดี โดยพรรค BJP ได้ประกาศเสนอชื่อ ชัคดีป ธังคาร์ ผู้นำอาวุโสที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐเบงกอลตะวันตก เข้าชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี ในขณะที่ฝ่ายค้านจะเสนอชื่อ มาร์กาเร็ต อัลวา อดีตรัฐมนตรีของรัฐบาลหลายสมัย

เมอร์มูเป็นที่รู้จักครั้งแรกในปี 2560 หลังจากมีข่าวลือว่าพรรค BJP กำลังพิจารณาเสนอชื่อเธอเป็นประธานาธิบดีในปีนั้น ก่อนที่เธอจะมาเป็นผู้ว่าการรัฐฌารขันธ์ในเวลาต่อมา 

เมอร์มูเกิดปี 2501 ณ หมู่บ้านไบดาโพสี ในเขตมยุรพานจ์ โดยเมอร์มูอยู่ในเผ่าซานทาล หนึ่งในเผ่าที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย เธอเป็นลูกสาวของประธานที่ปรึกษาหมู่บ้าน และได้ศึกษาที่มหาวิทยาลัยสตรีรามเทวี ในเมืองบูบันเนสชวาร์

นักเขียนและนักเคลื่อนไหวอย่าง นิกามนันดา ปัตไนก์ ที่รู้จักกับเธอมาตั้งแต่ปี 2523 กล่าวว่า เธอเริ่มจากการเข้าเรียนในโรงเรียนของหมู่บ้าน “ตอนเธอยังเด็ก พ่อของเธอเคยพาเธอไปเมืองไรรังปูร์ ในขณะที่ผู้ว่าการรัฐโอริสสา คาร์ทิค มาจี อยู่ที่นั่น แล้วเธอก็รีบวิ่งขึ้นไปบนเวทีก่อนจะชูประกาศณียบัตรของโรงเรียนขึ้นแล้วพูดว่า ฉันอยากจะเรียนหนังสือที่บูบันเนสชวาร์ ผู้ว่าการรัฐถูกใจในความพยายามของเธอ จึงสั่งให้เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือเธอให้ได้เรียนหนังสือที่นั่น” 

เมอร์มูเริ่มทำงานโดยเป็นพนักงานประจำรัฐบาลรัฐโอริสสา ในตำแหน่งผู้ช่วยกระทรวงพลังงานและชลประทานในปี 2522 ถึง 2526 หลังจากลาออกจากงานในบูบันเนสชวาร์ เธอได้กลับไปยังไรรังปูร์เพื่อดูแลครอบครัวของเธอตามคำเรียกร้องของแม่สามี ก่อนจะทำงานเป็นครูในโรงเรียนศรีอรพิน   

“เมอร์มูปฏิเสธที่จะรับเงินเดือน รับเพียงแค่ค่าเดินทางเท่านั้น เพราะเธอบอกว่านี่ไม่ใช่อาชีพแต่เป็นการทำเพื่อสังคมต่างหาก เธอยังกล่าวอีกว่าเงินเดือนของสามีที่เป็นพนักงานธนาคารก็มากพอที่จะใช้จ่ายในครอบครัวอยู่แล้ว” ปัตไนก์กล่าวเสริม 

เส้นทางทางการเมืองของเธอเริ่มต้นขึ้นในปี 2540 เมื่อเธอได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นในไรรังปุร์ เธอมักจะรับผิดชอบงานสุขาภิบาล คอยเก็บกวาดขยะ และดูแลท่อระบายน้ำ ทั้งนี้ ในฐานะสมาชิกพรรค BJP เธอได้รับการเลือกตั้งสองครั้งในปี 2543 และ 2552 ในฐานะผู้แทนของไรรังปูร์

ตั้งแต่ปี 2543 ถึง 2547 เธอเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลผสมที่นำโดย นาวีน ปัตไนก์ ของพรรค บิจู จนาทา ดาล โดยเธอรับผิดชอบด้านการค้าและการขนส่ง ก่อนเธอจะมารับผิดชอบเรื่องการลงทุนด้านการประมงและทรัพยากรสัตว์

ตั้งแต่ปี 2549 ถึง 2552 เมอร์มูดำรงตำแหน่งเป็นประธานฝ่าย "ชนเผ่าตามรัฐธรรมนูญ" ของพรรค BJP ซึ่งเป็นกลุ่มชนเผ่าที่รัฐธรรมนูญของอินเดียรับรองว่าด้อยโอกาสทางสังคมและเศรษฐกิจ

ชีวิตของเธอหม่นหมองลงในปี 2552 เมื่อเธอสูญเสียลูกชายคนโตโดยไม่ทราบสาเหตุ หลังจากนั้นไม่กี่ปีเธอก็เสียลูกชายอีกคนพร้อมกับสามีไป “หัวใจเธอสลายเลยในตอนนั้น ทุกครั้งที่เจอกันเธอเอาแต่ร้องไห้อย่างหนัก เธอถึงกับพูดว่า ชีวิตของเธอไม่เหลืออะไรอีกแล้ว” สัทพาทีกล่าว แต่เมอร์มูก็ฟื้นฟูจิตใจของเธอกลับมาอีกครั้งในปี 2558 เธอได้รับเลือกเป็นผู้ว่าการรัฐหญิงคนแรกของรัฐเพื่อนบ้านอย่าง ฌารขันธ์ ก่อนจะออกจากตำแหน่งในเดือน ก.ค. 2564 เธอได้รับคำชื่นชมในระหว่างดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการรัฐ ในฐานะที่เธอเปิดกว้างให้ผู้คนจากทุกสาขาอาชีพสามรถเข้าถึงได้

แต่ในหลายครั้ง เธอก็ตกเป็นข่าวว่าทำผิดหลักเกณฑ์ เช่น ครั้งหนึ่งที่เธอไปพบปะกับ นาวีน ปัตไนก์ที่บ้านของเขา หรือการที่เธอไปพบรัฐมนตรีการรถไฟเพื่อกดดันให้มีการขยายเส้นทางรถไฟไปยังมยุรพานจ์บ้านเกิดของเธอ โดยที่ปรึกษาทางการเมืองของเธออย่าง ไรกิชอร์ ดาส กล่าวว่า “ทั้งสองกรณีนี้ถือว่าผิดหลักเกณฑ์ แต่เธอก็ไม่ได้สนใจเท่าไร” ดาสยังกล่าวถึงความประทับใจเกี่ยวกับนิสัยส่วนตัวของเมอร์มูว่า “ผมชอบความใจเย็นของเธอทั้งในยามสุขและทุกข์ เธอสามารถอดทนอดกลั้นต่อเรื่องร้ายๆ ได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญคือเธอสามารถฟื้นฟูจิตใจกลับมาทำงานต่อได้ แม้จะเจอเรื่องราวร้ายๆ ในครอบครัวมาอย่างหนักก็ตาม นี่แหละคือตัวตนที่แข็งแกร่งของเธอ” 


ที่มา: 

https://www.bbc.com/news/world-asia-india-61892776