ไม่พบผลการค้นหา
'กลอสซิเยร์' แบรนด์เครื่องสำอาง ที่เดินเกมการตลาดเน้นกลุ่มเป้าหมายชาว 'มิลเลนเนียล' พร้อมใช้โซเชียลมีเดียดันธุรกิจให้มีเสน่ห์เป็นที่สนใจของเหล่านักลงทุนจนเรียกเงินระดมทุนต่อยอดธุรกิจขึ้นชั้น 'ยูนิคอร์น' หรือระดมทุนได้มากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

‘กลอสซิเยร์’ สตาร์ทอัพเครื่องสำอางระดับยูนิคอร์น (ระดมทุนได้มากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) จากมหานครนิวยอร์ค ปัจจุบันมีมูลค่าธุรกิจกว่า 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3.8 หมื่นล้านบาท จากการระดมทุนครั้งล่าสุด ในปี 2561 ส่งผลให้รายรับของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าเท่าตัวจากปีก่อนหน้า พร้อมยอดเงินมากกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3.16 พันล้านบาท

จากบล็อกสู่แบรนด์

สำหรับ 'เอมิลี่ ไวสส์' เส้นทางของเธอเริ่มขึ้นในปี 2553 หลังตัดสินใจเขียนบล็อกความงามที่มีชื่อว่า "อินทูเดอะกลอส" (Into The Gloss) ขณะที่ ทำงานเป็นผู้ช่วยด้านแฟชั่นให้กับนิตยสาร Vogue

อย่างไรก็ตาม แท้จริงแล้วเส้นทางแฟชั่นของไวสน์เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วัย 15 ปี ที่เธอเข้าไปฝึกงานกับแบรนด์ 'ราล์ฟ ลอเรน'


emily.png

(ภาพจาก: อินสตาแกรม)

เมื่อเวลาผ่านไป บล็อกความงามของไวสส์เติบโตขึ้นและผลักให้ ‘กลอสซิเยร์’ กระโดดขึ้นเป็นแบรนด์เครื่องสำอางและครีมบำรุงผิด ที่ได้รับการระดมทุนมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขึ้นชั้นสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์น (สตาร์ทอัพที่มีมูลค่าการระดมทุนมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

ตามข้อมูลจากนิตยสาร 'เดอะคัท' ระบุว่า ในตอนแรกไวสส์วางแผนที่จะสร้างแบรนด์เครื่องสำอางของเธอด้วยผลิตภัณฑ์เพียง 4 ชนิดเท่านั้น ซึ่งเธอต้องการเงินทุนประมาณ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 31.6 ล้านบาท จาก 12 บริษัทร่วมลงทุนที่เธอเข้าไปติดต่อ

แต่มีเพียง ‘คริสเทน กรีน’ เป็นเพียงบริษัทเดียวที่ตอบรับข้อเสนอและร่วมลงทุนกับเธอ และในปี 2557 เธอได้เริ่มต้นสร้างธุรกิจ โดยเน้นการทำการตลาดไปที่แพลตฟอร์มและโซเชียลมีเดียที่ชาวมิลเลนเนียมนิยม

“ฉันไม่รู้เลยว่าทำอะไรอยู่ตอนนั้น ฉันอายุ 28 ปี ไม่ได้จบบริหารธุรกิจ ฉันจบมาจากคณะศิลปศาสตร์” ไวสส์ กล่าว

ในบทสัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นในปี 2560 ไวสส์กล่าวว่า เธอตระหนักดีว่าโซเชียลมีเดียสามารถเป็นช่องทางสื่อสารกับผู้บริโภคโดยตรงและสามารถสร้างสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการได้ โดยย้ำว่า ปัจจุบันผู้หญิงสามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ด้วยตัวเอง พวกเธอสามารถหาข้อมูลสินค้าที่พวกเธอต้องการจากเพื่อนของพวกเธอหรือผู้หญิงคนอื่นๆ จากทั่วโลก

‘กลอสซิเยร์’ ติดโผ 1 ใน 300 ‘ยูนิคอร์น’ ทั่วโลก

'อลิสัน เกเธอร์' นักวิเคราะห์จากรายการความงามและการดูแลตัวเองของมินเทลในสหรัฐฯ กล่าวว่า ณ การสำรวจล่าสุดในเดือนมกราคมที่ผ่านมา พบว่าปัจจุบันมีบรัษัทที่อยู่ในระดับยูนิคอร์นมากกว่า 300 บริษัททั่วโลก รวมไปถึงบริษัทสตาร์ทอัพชื่อดังจากซิลิคอนแวลลีย์ เช่น อูเบอร์ แอร์บีเอ็นบี และ ลิฟท์

หากมองย้อนกลับไปประมาณ 5 – 10 ปีที่แล้ว การที่สตาร์ทอัพเครื่องสำอางจะขึ้นมาอยู่ในระดับยูนิคอร์นดูเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ แต่ปัจจุบันแนวคิดเหล่านั้นได้ถูกทำลายลงไปแล้ว ด้วยการมาถึงของแบรนด์สตาร์ทอัพอย่าง 'แพท แมคแกรธ' และ 'ไคลี่ คอสเมติกส์' ที่ทำรายได้ขึ้นมาอย่างรวดเร็ว



glossier 3.jpg

(ภาพจาก: เฟซบุ๊ก)

สาเหตุหลักที่ทำให้ ‘กลอสซิเยร์’ กลายมาเป็นสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นได้นอกจากบรรจุภัณฑ์สีชมพู-ขาวถูกใจชาวมิลเลเนียม ก็คือการเลือกทำธุรกิจที่สื่อสารกับผู้โภคโดยตรง และมีคำมั่นกับลูกค้าว่า “จะไม่ปกปิดคุณ เปลี่ยนให้คุณกลายเป็นคนอื่น หรือทำให้ชีวิตประจำวันคุณยุ่งยากขึ้น”

‘กลอสซิเยร์’ สามารถเข้ามาตีตลาดคนรุ่นใหม่ได้ในเวลาอันรวดเร็ว ขณะเดียวกันราคาสินค้าก็ไม่ได้สูงมากเกินไป มาสคาร่าของกลอสซิเยร์ขายอยู่ที่ 16 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 500 บาท ขณะที่ไฮไลเตอร์ขายอยู่ที่ 22 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 700 บาท และแม้ราคาจะไม่ได้สูงเสียดฟ้าเหมือนแบรนด์ไฮเอนด์อื่นๆ แต่เหล่าผู้มีชื่อเสียงระดับแถวหน้าของวงการอย่างบียอนเซ่ก็เป็นหนึ่งในลูกค้าเช่นเดียวกัน

แม้ว่า ชื่อแบรนด์จะเต็มไปด้วยความแวววาวและส่องสว่าง แต่ ‘กลอสซิเยร์’ ก็ต้องเผชิญหน้ากับความมืดมิดของเสียงวิจารณ์ในเรื่องความไม่โปร่งใสของสูตรการผลิตและการสร้างเทรนด์ “แต่งหน้าแบบไม่แต่งหน้า” ซึ่งเป็นการตอกย้ำมาตรฐานความงามที่ผู้หญิงต้องมีผิวหน้าที่สมบูรณ์แบบหรือการตอกย้ำรูปแบบความงามมาตรฐาน



glossier 1.jpg

(ภาพจาก: เฟซบุ๊ก)

อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครปฏิเสธพลังของยอดผู้ติดตามกว่า 2 ล้านบัญชี ที่ตั้งตารอผลิตภัณฑ์ชิ้นใหม่ของแบรนด์ตลอดเวลา และพาแบรนด์สตาร์ทอัพนี้มาจนถึงจุดที่แบรนด์กำลังยืนอยู่ในปัจจุบัน

อ้างอิง; CNN, CNBC