ไม่พบผลการค้นหา
‘ปานปรีย์’ แจงนโยบายต่างประเทศมีความทันสมัย เท่าทันสถานการณ์โลก ยันรัฐบาลมีแผนรองรับผู้หนีภัย-ผู้ลี้ภัยจาก ‘เมียนมา’ ยันไทยหวนคืนสู่จอเรดาห์โลก ผ่านการทูตเชิงรุก-เชิงเศรษฐกิจ ระบุจุดยืนการทูตสร้างสรรค์ ไม่เลือกข้าง ส่งผลช่วยเหลือตัวประกันได้ชาติแรกรองจากอิสราเอล

วันที่ 4 เม.ย. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 32 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2) ในญัตติการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตาม ม.152 ของรัฐธรรมนูญ

ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวชี้แจงถึงข้อซักถามประเด็นสถานการณ์ในเมียนมาว่า ขณะนี้สถานการณ์ในเมียนมามีความรุนแรง และมีความขัดแย้งสูง รวมถึงความซับซ้อนที่ส่งผลยืดเยื้อหลายทศวรรษ และเป็นเวลา 40 กว่าปีที่มีผู้หนีภัยราว 77,000 คน และบุคคลเหล่านี้กระจายอยู่ในศูนย์พักพิง ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงมหาดไทย และภาคประชาสังคม โดยตรงนี้ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากต่างประเทศในการเข้าดูแลกลุ่มคนดังกล่าว

ปานปรีย์ กล่าวอีกว่า ภายหลังการรัฐประหารในปี 2564 เกิดการสู้รบเพิ่มขึ้นในแนวชายแดน และภายในประเทศเมียนมาด้วย ทำให้ชาวเมียนมาหลบหนีมาอยู่ในศูนย์พักพิงอีกครั้ง ซึ่งการวิ่งเข้ามาในครั้งนั้นมีจำนวนกว่า 52,000 คน และเมื่อเหตุการณ์ภายในมีสภาพที่ดีขึ้น ประชาชนเหล่านั้นก็เดินทางกลับไป ล่าสุดในวันที่ 3 เม.ย. มีชาวเมียนมาอยู่ในศูนย์พักพิงแค่ 74 คน ใน อ.อุ้มผาง จ.ตาก พร้อมยืนยันว่า ตลอดแนวชายแดนระหว่างไทย และเมียนมานั้นมีศูนย์รองรับประมาณ 100 แห่ง และอาจจะรองรับประชาชนได้ประมาณ 100,000 คน

รวมถึงการดูแลที่ได้มาตรฐาน และมีแนวปฏิบัติที่เป็นสากล ส่วนข้อเสนอให้จัดตั้ง Safety Zone นั้นถือว่าดีมาก และฝ่ายไทยได้มีดำริเสนอเรื่องนี้ต่อเมียนมาแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการพิจารณา ส่วนเรื่องที่มีความกังวลในเรื่องของผู้หนีภัยที่อาจมีจำนวนมากขึ้นในพื้นที่ อ.แม่สอด ถึง 600,000 คนนั้น ตามที่ตนได้รับรายงาน มีคนข้ามพรมแดนเข้ามาอยู่บ้าง แต่ยังไม่ใช่จำนวนที่มากนัก และยังอยู่ในวิสัยที่บริหารจัดการได้

ปานปรีย์ กล่าวย้ำถึงการรองรับผู้หนีภัยในกรณีที่สถานการณ์ในเมียนมารุนแรงมากขึ้นว่า ทางรัฐบาลได้เตรียมพร้อมที่จะรองรับคนเพิ่มมากขึ้น และประเมินสถานการณ์อยู่ตลอด เพราะความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการสู้รบในเมียนมานั้นมีอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งในเรื่องของการช่วยเหลือมนุษยธรรมก็เป็นโครงการนำร่องโดยรัฐบาลดำเนินการมาตลอด และส่งความช่วยเหลือไปในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยงแล้ว จึงทำให้ประชาชนได้รับความช่วยเหลือ แม้จะมีประชาชนได้รับความช่วยเหลือไม่มากนัก แต่ยืนยันว่า หากการช่วยเหลือในครั้งนี้ประสบความสำเร็จ รัฐบาลคิดจะทำในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป

ปานปรีย์ กล่าวต่อว่า ในส่วนที่ฝ่ายค้านระบุว่า การช่วยเหลือดังกล่าวเป็นการสร้างภาพเอาหน้าเอาตานั้น ตนคิดว่าไม่น่าจะเป็นอย่างที่กล่าวหา เพราะการดูแลช่วยเหลือเรื่องนี้น่าจะดี ส่วนในเรื่องความเป็นอยู่นั้นสำคัญมากสำหรับคนที่หนีภัยเข้ามา ตนคิดว่า เป็นข้อเสนอแนะที่ดี ไม่ว่าจะเรื่องของเต็นท์ผ้าใบ อาหารที่ไม่เพียงพอ และขยะที่ไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกสุขอนามัย ขณะที่เด็กยังไม่ได้รับการศึกษา รวมถึงการบังคับคนบางส่วนให้กลับไปยังประเทศต้นทางโดยไม่เต็มใจ ตรงนี้แม้จะไม่ใช่อำนาจของกระทรวงการต่างประเทศโดยตรง แต่จะไปประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดูแลต่อไป

ปานปรีย์ ยังชี้แจงถึงข้อซักถามของ กัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม ว่า ตนทราบดีว่า โลกเราเผชิญความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งด้านการเปลี่ยนแปลงเรื่อง ภูมิรัฐศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ภูมิเทคโนโลยี และภาวะโลกร้อน แต่นโยบายการต่างประเทศต้องมองในรอบด้าน เพื่อรักษาผลประโยชน์ของคนในชาติ รวมถึงตอบสนองต่อสถานการณ์ใหม่ ซึ่งนโยบายของรัฐบาลกำหนดไว้ 3 ส่วนคือ เร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่น แสดงจุดยืนในด้านการต่างประเทศอย่างสมดุล และแสดงบทบาทหน้าที่ที่สร้างสรรค์ นอกจากนั้นนโยบายการต่างประเทศของรัฐบายังสอดคล้องกับปัจจุบัน ยืนยันว่า มีการวางนโยบายเพื่อรองรับสถานการณ์ที่อาจจะมีความเปลี่ยนแปลงในอนาคต

สำหรับคำว่า ‘Self-Center’ หรือนโยบายการต่างประเทศของรัฐบาลที่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางนัก ตนมองว่า ไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง เพราะนโยบายการต่างประเทศ และเป้าหมายของรัฐบาลเรามีความชัดเจน อีกทั้งนโยบายการทูตเชิงรุก และการทูตเชิงเศรษฐกิจ ยืนยันว่า รัฐบาลนี้นำประเทศสู่จอเรดาห์เรียบร้อยแล้วผ่านการไปเยือนหลายประเทศ หรือเข้าร่วมกรอบความร่วมมือในระดับภูมิภาค และอนุภูมิภาค มีการพบผู้นำตามคำเชิญของผู้นำประเทศต่างๆ รวมแล้วกว่า 20 ประเทศ ภายในระยะเวลา 6 เดือน นอกจากนี้ยังมีการต้อนรับการเยือนจากผู้นำต่างประเทศในระดับสูงจำนวนมาก และภายในเดือนนี้จะมีผู้นำระดับสูงของประเทศบังกลาเทศ นิวซีแลนด์ และบรูไนดารุสซาลามมาเยือนไทยอีกด้วย

ปานปรีย์ ยืนยันว่า สถานการณ์ปัจจุบันนี้ เราไม่อาจจะเลือกข้างได้ ซึ่งผลจากการที่เราไม่เลือกข้างนั้นเห็นได้ชัด โดยเฉพาะกรณีการนำแรงงานไทยกลับจากอิสราเอลในจำนวน 7,500 คน ซึ่งรัฐบาลนี้สามารถดำเนินการภายใต้ความยุ่งยากภายในระยะเวลา 3 อาทิตย์ ส่วนที่สำคัญกว่านั้นคือ การที่เราเข้าไปช่วยเหลือตัวประกันอีก 23 คนได้ ถือว่าเป็นชาติแรกรองจากอิสราเอล

นอกจากนี้ประเทศไทยยังเป็นที่พบกันระหว่าง ‘หวัง อี้’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน และ ‘เจค ซัลลีแวน’ ผู้แทนด้านความมั่นคงของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เพื่อหารือในการสร้างเสถียรภาพให้ประเทศมหาอำนาจสองประเทศ ซึ่งตรงนี้เป็นตัวชี้วัดที่สำคัญในการสร้างความสมดุลของไทย รวมถึงประเด็นในการเป็นผู้เล่นที่สำคัญในเวทีโลก และภูมิภาค โดยได้เข้าร่วมการประชุมระดับต่างๆ เพื่อเป็นการตอกย้ำค่านิยมทางประชาธิปไตย ส่งเสริมสันติภาพโลก และรัฐบาลได้มีแนวคิดในการลงสมัครคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) ซึ่งมีประเทศให้การสนับสนุนกว่า 100 แห่ง รวมถึงตราชั่งที่ กัรวีร์ นำเสนอว่า นโยบายการต่างประเทศเอนเอียงไปในเรื่องการค้า และการลงทุนมากนัก ตนคิดว่า มันกลับมีความสมดุลมากกว่า

ปานปรีย์ กล่าวย้ำว่า เรื่องเมียนมานั้นต้องขอขอบคุณฝ่ายค้านที่ให้ข้อเสนอแนะ เรื่องการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ที่ระบุว่า มีกระบวนการมากมายที่ต้องทำ และต้องทำให้ถูกต้อง ตนจึงขอรับข้อเสนอแนะไปด้วย และย้ำว่า เป็นการเริ่มต้นการให้ความช่วยเหลือนั้น เป็นไปตามฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน และในข้อเสนอของจุดยืนสันติภาพ 4 ข้อ รัฐบาลก็กำลังขับเคลื่อนในแนวทางเดียวกันอยู่แล้วด้วย