เมื่อองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 ให้ พล.อ.ประยุทธ์ “หยุดปฏิบัติหน้าที่”
5 เสียง ที่ให้ พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ ประกอบด้วย นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ,ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์ ,จิรนิติ หะวานนท์ ,วิรุฬห์ แสงเทียน และนภดล เทพพิทักษ์
4 เสียง ที่ให้ พล.อ.ประยุทธ์ ทำหน้าที่ต่อ ประกอบด้วย วรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ,อุดม สิทธิวิรัชธรรม ,บรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ และ ปัญญา อุดชาชน
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ “รักษาราชการแทนนายกฯ” ตั้งแต่บัดนั้น
ทั้งนี้ เหตุผลที่ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ “พล.อ.ประยุทธ์” หยุดปฏิบัติหน้าที่ ระบุว่า
“ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง ศาลพิจารณาคำร้องและเอกสาร ประกอบคำร้องแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องปรากฎเหตุอันควรสงสัยว่ามีกรณีตามที่ถูกร้อง จึงมีมติเสียงข้างมาก (5 ต่อ 4) ให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 2565 จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย"
“ในคำร้องของพรรคร่วมฝ่ายค้าน 6 พรรค ที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า เนื่องจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งสูงสุดของฝ่ายบริหาร มีอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน หากให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปทั้งที่ไม่มีอำนาจตามกฎหมายย่อมส่งผลกระทบต่อความชอบด้วยกฎหมายของบรรดาคำสั่งและข้อสั่งการต่างๆ ที่สั่งการในนามของนายกรัฐมนตรี”
“รวมถึงความชอบด้วยกฎหมายของการก่อนิติสัมพันธ์ต่างๆ ในนามของรัฐบาล และการลงนามในพันธกรณีระหว่างประเทศที่อาจจะมีขึ้น ดังนั้น จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งตามมาตรา 82 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560ให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย”
กระแสการเมืองถูกปลุกเร้าด้วยการแปะแฮชแท็ก #นายกเถื่อน ชั่วคราว ผ่านโลกโซเชียลมีเดีย
ทว่าปลายทาง ยังไม่รู้ว่าจะออกหัว – ออกก้อย ยังต้องรอไปอีกประมาณ 1 เดือนเศษ กว่าศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน
แต่คำขอของฝ่ายค้านศาลรัฐธรรมนูญเห็นด้วยไปแล้ว 1 ทาง
ยังเหลืออีก 1 ทาง ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ตามมาตรา 7 (9) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญว่าความเป็นรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเนื่องจากดำรงตำแหน่งครบกำหนดเวลา ตามมาตรา 170 วรรคสอง และมาตรา 158 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
ในเอกสารประกอบคำร้องพรรคฝ่ายค้าน อ้างถึง 4 องค์ประกอบที่ชี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา สถานะ พล.อ.ประยุทธ์ พ้นจากเก้าอี้นายกฯ เพราะเป็นมาแล้ว 8 ปี ดังนี้
1. ข้อสั่งการและนโยบายต่าง ๆ ที่มอบหมายโดย พล.อ.ประยุทธ์ ล้วนกระทำในตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี เอกสารราชการทุกฉบับที่ลงนามโดยนายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 จนถึงปัจจุบันล้วนลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
“ดังนั้น ข้อเท็จจริงที่รู้กันอยู่ทั่วไปของประชาชนทุกภาคส่วนจึงรับรู้ตรงกันว่าพลเอกประยุทธ์ ดำรง ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 ติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน”
เมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา158 วรรคสี่ บัญญัติลักษณะต้องห้ามไว้ชัดแจ้งว่านายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้
“ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ซึ่งประชาชนทุกภาคส่วนรับรู้กันทั่วไป จึงมีความจำเป็นต้องตีความและใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญให้ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อเท็จจริงที่รู้กันอยู่ทั่วไปของประชาชนทุกภาคส่วน และเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะหรือประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ”
2. พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ในโอกาสรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีในครั้งหลัง เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2562 โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อ้างว่า “มิใช่การเข้ารับตำแหน่งใหม่”
“ผู้บริหารระดับสูงของ ป.ป.ช.หลายคนออกมาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเผยแพร่ต่อสาธารณชนยืนยันสอดคล้องกันว่า กรณีการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ครั้งหลังนี้ไม่ใช่การเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีใหม่ตามมาตรา 105 วรรคสาม(1) แต่เป็นการยื่นเพื่อเป็นหลักฐานตามมาตรา 105 วรรคสี่ เท่านั้น”
“เป็นผลให้ ป.ป.ช.ไม่สามารถเปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินให้ประชาชนทราบได้ตามมาตรา 106 วรรคหนึ่ง ซึ่งนับจนถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่มีการเปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินให้ประชาชนทราบตามมาตรา 106 วรรคหนึ่ง”
ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
3.เจตนารมณ์ของการจำกัดระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 158 วรรคสี่ แนบท้ายความเห็นของ “มีชัย ฤชุพันธุ์” อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ในบันทึกการประชุมของ กรธ.ที่ 500/2561 ระบุว่า
“ที่เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญ ประกาศใช้บังคับสามารถนับรวมระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีดังกล่าวเข้ากับวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่”
สุพจน์ ไข่มุกด์ รองประธานกรรมการ คนที่หนึ่ง ในขณะนั้นกล่าวว่า “หากนายกรัฐมนตรี ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้บังคับ เมื่อประเทศไทยยังคงมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก็ควรนับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าว รวมเข้ากับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วย”
และประธาน กรธ.ได้กล่าวโดยสรุปอีกว่า “เมื่อพิจารณาบทเฉพาะกาลในมาตรา 264 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า
“ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวัน ประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่และให้นำความในมาตรา 263 วรรคสาม มาใช้บังคับแก่การดำรงตำแหน่งด้วยโดยอนุโลม”
การบัญญัติ ในลักษณะดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าแม้จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับก็สามารถนับรวมระยะเวลาดังกล่าวรวมกับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ ซึ่งเมื่อนับรวมระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต้องมีระยะเวลาไม่เกินแปดปี
“โดยกรรมการร่างรัฐธรรมนูญคนอื่นมิได้โต้แย้งหรือมีความเห็นที่แตกต่างไปจากหลักการนี้
เป็นผลให้ศาลรัฐธรรมนูญ เรียกให้ “มีชัย” รวมถึง “ปกรณ์ นิลประพันธ์” เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ในฐานะเลขานุการ กรธ. มาชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 15 วันด้วย
4.อ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2561 และ 7/2562 กรณี มาตรา 264 ให้รัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ต้องอยู่ในบังคับของรัฐธรรมนูญ 2560
ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2561 เป็นการวินิจฉัยคำร้องของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ผู้ร้อง ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กรณีนางนรีรัตน์ ปรมัตถ์วินัย ภรรยา ดอน ถือครองหุ้นเกิน 5 เปอร์เซ็นต์ในบริษัท ปานะวงศ์ จำกัด และบริษัท ปานะวงศ์ รีแอลที จำกัด หรือไม่ซึ่งจะขัดกับรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 187
โดยศาลวินิจฉัยปมถือหุ้นของ ดอน และภรรยา ซึ่งสถานะรัฐมนตรีของนายดอนนั้น เป็นรัฐมนตรีที่มาจากรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ คือ รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 กับ รัฐธรรมนูญ 2560 เพราะได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี ในวันที่ 23 สิงหาคม 2558 จึงเป็นรัฐมนตรีที่ต่อเนื่องกันมา แต่ก็ต้องนำเรื่องการห้ามถือหุ้นในบริษัทเอกชนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 187 ของรัฐธรรมนูญ 2560 มาบังคับใช้กับนายดอน และภรรยาด้วย เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่มีข้อยกเว้นไว้ให้
จึงเท่ากับ ให้ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ 2560 และต้องอยู่ในการบังคับของรัฐธรรมนูญ 2560
และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 3-5/2550 และ 24/2564 เรื่องการบังคับใช้กฎหมายย้อนหลังสามารถทำได้หากมิใช่โทษทางอาญา ซึ่งเป็นคำร้อง เรื่องการถือหุ้นสัมปทานของ 4 รัฐมนตรี คือ ม.ล.ปนัดดาดิศกุล สุวิทย์ เมษินทรีย์ นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร และ ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์
หัวใจของคำร้องของฝ่ายค้าน ที่ยกคดี 4 รัฐมนตรีคือ “เรื่องการบังคับใช้กฎหมายย้อนหลังสามารถทำได้หากมิใช่โทษทางอาญา”
เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กำหนดให้นำรัฐธรรมนูญมาตรา 186 (ที่โยงกับ มาตรา 184 อันมีเรื่องของ “ไม่รับหรือแทรกแซงหรือก้าวก่ายการเข้ารับสัมปทานจากรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจอันมีลักษณะ เป็นการผูกขาดตัดตอน หรือเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็น คู่สัญญาในลักษณะดังกล่าว ทั้งนี้ ไม่วาโดยทางตรงหรือทางอ้อม”) มาบังคับใช้ด้วย
นพ.ธีรเกียรติ จึงต้องพ้นจากตำแหน่ง เพราะคู่สมรสมีการซื้อหุ้นบริษัทปูนซิเมนต์ไทยเพิ่ม 800 หุ้น หลัง นพ.ธีระเกียรติ เข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เข้าข่ายเป็นการถือครองหุ้นบริษัทที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานกับรัฐ จึงขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 187 และมาตรา 184 (2) มีผลให้ต้องเว้นวรรคการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นเวลา 2 ปี ตามรัฐธรรมนูญ 160 (8)
นี่เป็น 4 ปมพิฆาต พล.ประยุทธ์ บนศาลรัฐธรรมนูญ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง