ไม่พบผลการค้นหา
‘จาตุรนต์’ ซัด ส.ว.เสนอรัฐบาลแห่งชาติ สะท้อนจิตสำนึกฝักใฝ่เผด็จการ ชี้ความเห็น 'วิษณุ' ปมคดี 'พิธา' ถือหุ้นไอทีวี ทำต้องเลือกตั้งใหม่ทั้งประเทศ จะนำไปสู่ความขัดแย้งใหม่ เสียงประชาชนไม่ได้รับการเคารพ

วันที่ 1 มิ.ย. 2566 จาตุรนต์ ฉายแสง ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย คณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองของพรรค ให้ความเห็นกรณีความเห็นของ ส.ว. ที่เสนอเรื่องการตั้งรัฐบาลแห่งชาติว่า เป็นความเห็นที่ไม่สอดคล้องและมีความเป็นไปได้ และไม่มีความเป็นเหตุเป็นผลเลย เพราะขณะนี้พรรคฝ่ายประชาธิปไตยรวมเสียงกันได้ 313 เสียง ซึ่งเกินครึ่งของสภาผู้แทนราษฎรไปมาก แต่ว่ายังไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ เพราะต้องรวมเสียงให้ได้ 376 เสียง ซึ่งมันยังมีวิธีการที่จะดำเนินการต่อไปได้อยู่ ถ้ายังไม่ได้ 376 ก็ยังสามารถโหวตใหม่ได้อีก โดยชักชวน ส.ส. มาร่วมลงมติโหวตให้ ผู้ถูกเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรีของฝ่ายประชาธิปไตยเรื่อยๆ ก็ยังสามารถทำได้ และหากไม่ได้จริงๆฝ่าย ส.ว. ที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ก็ยังสามารถรวบรวมพรรคในฝ่ายตนเองที่มีอยู่ประมาณ 180 เสียง บวกกับเสียง ส.ว.เพื่อให้ครบ 376 ก็ยังสามารถสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ตามรัฐธรรมนูญ เพียงแต่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่ขาดความชอบธรรม และไม่มีเสถียรภาพ

จาตุรนต์ ระบุว่า ถ้าจะทำก็ทำได้ แต่การจะมีรัฐบาลแห่งชาติ โดยการเอาทุกพรรคมารวมกัน และจะดันใครเป็นนายกรัฐมนตรี และมีการเสนอให้ชดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา การเสนอแบบนี้มันแปลก มันจะเหมือนการเสนอรัฐบาลแห่งชาติในอดีต ซึ่งจะนำไปสู่วิกฤต หรือเสนอในระหว่างวิกฤต และ นำไปสู่การรัฐประหาร เพียงแต่ตอนนี้ ไม่มีใครทำ 

"การเสนอในลักษณะนี้มันสะท้อนถึงจิตสำนึกของ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งของ พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อสนับสนุนการสืบทอดอำนาจ ซึ่งคนเหล่านี้เป็นผู้ที่ช่วยสืบทอดอำนาจให้ พล.อ.ประยุทธ์ ก็อาจจะมีจิตสำนึกลึกๆแบบนี้อยู่ จะสะท้อนว่าคนเหล่านี้ไม่เคารพการตัดสินใจของประชาชน และ ฝักใฝ่กับการจัดการด้วยวิถีทางที่ไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย" จาตุรนต์กล่าว 

นอกจากนี้ จาตุรนต์ ยังระบุถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังไม่รับรองผลเลือกต้ัง ส.ส. อย่างเป็นทางการ ว่า แน่นอน กกต.มีส่วน และ ควรจะชี้แจงว่าทำไมถึงช้า และไม่ควรต้องใช้เวลานานเลย ระยะเวลา 60 วันไม่จำเป็นต้องใช้ให้หมดขนาดนั้น และเอาเข้าจริง ระยะเวลา 60 วัน มีไว้ในกรณีบัตรใบเดียว ซึ่งกว่าจะรู้ว่าพรรคไหนจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อกี่คน มันต้องรู้คะแนนของทุกเขตเลือกตั้งก่อน และเอามารวมกันว่าพรรคไหนได้คะแนนเท่าไหร่ ซึ่งมันอาจจะต้องใช้เวลา แต่ในการเลือกตั้งที่ผ่านมานี้เป็นบัตร 2 ใบ ส.ส.บัญชีรายชื่อ นับคะแนนเสร็จ สามารถคำนวณได้เลย

ส่วน ส.ส.เขตที่ยังนับไม่ได้ ก็คือเขตที่ต้องนับคะแนนใหม่ หรือต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งมันมีน้อยมากและกกต.สามารถใช้หลักของการรับรองไปก่อน แล้วมาดำเนินการทีหลัง ก็สามารถทำได้ ส่วนถ้าจะมีกรณีต้องสอบสวนบ้าง ก็ใช้เวลาอีกนิดหน่อย ก่อนประกาศก็เพียงพอแล้ว และการที่กกต. สามารถประกาศผลเลือกตั้งได้เร็ว จะเป็นการลดการเกิดวิกฤตทางการเมือง เพราะดึงเวลาออกไป ก็จะมีคนนำเรื่องคุณสมบัติของแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี หรือคุณสมบัติ ส.ส. ที่ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้ความเห็นว่า ถ้าฟ้องหลายเรื่อง อาจจะนำไปสู่การเลือกตั้งใหม่ทั้งประเทศ มันเป็นการหาเรื่อง และทำให้ประชาชนส่วนใหญ่รู้สึกไม่ดี รู้สึกว่าไม่เคารพการตัดสินใจของประชาชน 

"กกต.สามารถช่วยป้องกันปัญหาเหล่านี้ได้ด้วยการรับรองให้เร็ว ถ้ารับรองได้เร็วก็จะสามารถประชุมสภาได้เร็วเลือกประธานสภาฯ ได้เร็ว และเลือกนายกรัฐมนตรี ได้เร็ว สำเร็จหรือไม่ว่ากันไปแต่ไม่ใช่มายืดเวลาให้มันชักช้า จนกระทั่งกลายเป็นช่องว่างให้เกิดปัญหา" จาตุรนต์ กล่าว 

เมื่อถามถึงกรณีความเห็นของวิษณุ ต่อกรณีข้อกล่าวหาของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯ ที่ถูกร้องไปยังองค์กรอิสระ ในคดีถือหุ้นไอทีวีซึ่งหากมีผลออกมาอย่างใดอย่างหนึ่ง อาจจะต้องเลือกตั้งใหม่ทั้งประเทศ เป็นการกดดัน-ชี้นำการทำงานองค์กรหนึ่งองค์ใดหรือไม่ จาตุรนต์ ตอบว่า หากเป็นช่วง รัฐบาล คสช.เป็นการปกครองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ มีอำนาจเหนือทุกองค์กร รวมทั้งศาล ครม. และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สั่งปลดประธานศาลฎีกา ก็สามารถทำได้ ซึ่งในระหว่างนั้นวิษณุ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีได้ชี้นำองค์กรอิสระรวมถึงศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยการกล่าวว่าเรื่องนั้นน่าจะเป็นแบบนั้นแบบนี้และมันจะออกมาตามนั้นเสมอ แต่ขณะนี้จะไปกล่าวหา วิษณุอย่างเดียวกันไม่ได้เพราะไม่ได้อยู่ในภายใต้ คสช.อีกต่อไปแล้ว ตนมองว่าการพูดในลักษณะนี้จะไม่ใช่การชี้นำองค์กรอิสระ หรือศาลรัฐธรรมนูญ แต่เห็นชัดๆว่าเป็นการชี้นำผู้ร้อง ว่าให้ไปร้องประเด็นให้ครบ เมื่อร้องแล้วก็จะนำไปสู่รูปแบบนั้นรูปแบบนี้ ซึ่งมันไม่เป็นผลดีต่อบ้านเมือง

"ส่วนเรื่องที่ร้องแล้วเกิดความตกอกตกใจ มันก็ควร เพราะว่าเรื่องของการถือหุ้นสื่อ ในรัฐธรรมนูญนี้เขียนไว้ไม่ชัดเจน เขียนห้วนๆ เกินไป และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มักจะไม่ถูกพูดถึง จนกระทั่งกลายเป็นว่าถือหุ้นเดียวใน 800 ล้านหุ้น หรือในบริษัทสื่อที่ไม่ได้ทำหน้าที่สื่อมาเป็นเวลานานมากแล้ว ก็อาจจะถูกตัดสินว่าขาดคุณสมบัติก็ได้ และยิ่ง คุณวิษณุออกมาให้ความเห็นในลักษณะนี้ มันแสดงถึงความไม่เป็นเหตุเป็นผล ไม่ได้สัดส่วนของความผิดหรือไม่ผิดก็ตาม หรือแม้ถึงทำผิดจริง ก็ไม่สมควรที่จะเป็นเหตุให้ คนไม่ได้เป็นนายกฯ หรือ ส.ส ต้องเลือกกันใหม่เป็นร้อยๆเขต สิ่งเหล่านี้คือความบกพร่องของระบบและอาจจะโยงไปถึงการใช้กฎหมาย ที่ไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรม ดังนั้นการชี้นำในลักษณะนี้ไม่เป็นผลดีต่อบ้านเมือง มันจะทำให้ประชาชนรู้สึกว่า การตัดสินของประชาชนไม่ได้รับความเคารพ และ จะนำไปสู่การความขัดแย้งทางสังคม ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อใครเลย" จาตุรนต์ กล่าว