ไม่พบผลการค้นหา
ธนาคารแห่งประเทศไทย จับมือศูนย์ประสานงานด้านความมั่นคงปลอดภัยเทคโนโลยีสารสนเทศภาคการธนาคาร ตรวจสอบระบบธนาคารไม่พบข้อมูลรั่วไหล ชี้ข้อมูลที่รั่วไหล ไม่สามารถใช้ทำธุรกรรมการเงินผ่าน Mobile Banking ได้ - สถาบันการเงินมีระบบป้องกันข้อมูลลูกค้าเข้มงวด

สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับระบบการชำระเงินและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ชี้แจงกรณีข่าวข้อมูลประชาชนรั่วไหลว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับศูนย์ประสานงานด้านความมั่นคงปลอดภัยเทคโนโลยีสารสนเทศภาคการธนาคาร (TB-CERT) ภายใต้สมาคมธนาคารไทย (TBA) ตรวจสอบระบบของธนาคารแล้ว ไม่พบข้อมูลรั่วไหลจากธนาคาร


นอกจากนี้ ข้อมูลที่รั่วไหลออกไปดังกล่าว ไม่สามารถนำไปใช้ทำธุรกรรมทางการเงินผ่าน mobile banking ได้ เนื่องจากยังต้องใช้เครื่องโทรศัพท์มือถือของผู้ใช้บริการ ซึ่งต้องมีรหัสส่วนตัวในการเข้าใช้ รวมทั้งจะต้องยืนยันตัวตนอีกครั้งในการทำธุรกรรม


ทั้งนี้ สถาบันการเงิน มีระบบป้องกันข้อมูลของลูกค้าอย่างเข้มงวด และมีระบบตรวจจับความผิดปกติเพื่อให้การให้บริการทางการเงินมีความมั่นคงปลอดภัย ซึ่งล่าสุด สถาบันการเงินได้ยกระดับการเฝ้าระวังและติดตามเหตุการณ์อย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกัน ธปท. ได้เน้นย้ำให้สถาบันการเงินทุกแห่งดำเนินการตาม พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 อย่างเคร่งครัด โดยหากตรวจสอบและพิสูจน์พบว่าเป็นความผิดพลาดหรือข้อบกพร่องของ สง. ให้ สง. ต้องพิจารณาช่วยเหลือและดูแลความเสียหายให้กับผู้ใช้บริการโดยเร็ว


อย่างไรก็ดี เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อภัยการเงิน ประชาชนสามารถปฏิบัติตนเพื่อป้องกันภัยเบื้องต้นได้ ดังนี้

 1. ระมัดระวังมิจฉาชีพที่อาจใช้ข้อมูลที่รั่วไหลออกไป เช่น หมายเลขบัตรประชาชน หรือที่อยู่ ในการหลอกลวงให้ทำธุรกรรมทางการเงิน

 2. หลีกเลี่ยงการให้ข้อมูลส่วนตัว และข้อมูลทางการเงินกับบุคคลอื่น ผ่านโทรศัพท์ โซเชียลมีเดีย เว็บไซต์ หรืออีเมล ที่ไม่น่าเชื่อถือ

 3. หากถูกหลอกลวงในการให้ข้อมูลส่วนตัว หรือพบความผิดปกติของการทำธุรกรรม ให้เปลี่ยนรหัสผ่าน mobile banking ทันที และติดต่อธนาคารที่ใช้บริการผ่านช่องทาง hotline โดยเร็วที่สุด