ไม่พบผลการค้นหา
เสวนาถอดบทเรียน 8 ปี เวทีเจรจาสันติภาพชายแดนใต้ จากยุครัฐบาลพลเรือนถึงรัฐบาลทหาร

28 ก.พ. 2556 จุดเริ่มต้นการพูดคุยเพื่อสันติภาพ กรณีความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเป็นทางการระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมาลายูปัตตานี (Barisan Revolsi Nasional Melayu Patani) หรือ BRN 

ในวาระครบรอบ 8 ปี กระบวนการพูดคุยสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้-ปาตานี สื่อ 'Bicara Patani' จัดเสวนาออนไลน์ร่วมทบทวนถอดบทเรียน แลกเปลี่ยนความเห็นจากอดีตตัวแทนทั้งรัฐบาลไทยและปาตานี เพื่อปูเส้นทางสู่สันติภาพในพื้นที่ชายแดนใต้


รัฐทหารไม่ใช่คำตอบ

พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวถึงช่วงเวลาที่ผ่านมาตลอด 8 ปี ได้เกิดกลไกในการพูดคุยทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายเห็นต่าง ทว่าในปัจจุบัน ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ควรเป็นหน่วยงานหลักในการอำนวยความสะดวกบริหารจัดการ แต่องอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กลับมีบทบาทสูงขึ้น ทำให้ในพื้นที่ถูกครอบงำจากฝ่ายกองทัพ สะท้อนให้เห็นว่าบรรยากาศการพูดคุยยังไม่มีการพัฒนาเท่าที่ควร 

ทว่าอุปสรรคสำคัญในการพูดคุยคือการเปลี่ยนผ่านอำนาจรัฐบาลพลเรือนไปสู่รัฐบาลทหาร เมื่อปี 2557 ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ากระบวนการจะเดินหน้าต่อไปได้ต้องเป็นรัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตยอย่างแท้จริง โดยเฉพาะด้านความเชื่อมั่น และเปิดพื้นที่สร้างการมีส่วนร่วม รับการเห็นชอบจากทุกฝ่าย  


"สถานการณ์การเมืองยังไม่ใช่อุปสรรค อุปสรรคจริงคือรัฐบาลที่รับผิดชอบนโยบาย ต้องเป็นรัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตย จากนั้นกลไลทุกอย่างมันจะเดินไปได้ ถ้ารัฐบาลไทยนโยบายชัดการมีส่วนร่วมก็จะเข้ามา"


ยืนยันหลักการทางการเมือง

ฮาซัน ตอยิบ อดีตตัวแทนเจรจาของขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี หรือ บีอาร์เอ็น ได้ทบทวนการพูดคุยสันติภาพ ว่า ความสำเร็จคือรัฐไทยให้การยอมรับบีอาร์เอ็นว่าเป็นขบวนการต่อสู้ เพราะที่ผ่านมามักถูกครหาว่าเป็นขบวนการโจรแบ่งแยกดินแดน รวมถึงการเปิดพื้นแลกเปลี่ยนประเด็นปัญหาพื้นที่สามจังหวัดในสังคมไทยมากขึ้น ขณะเดียวกันฮาซันมองว่าเรื่องที่ยังไม่สำเร็จคือการยอมรับความเป็นเจ้าของดินแดน และทางการไทยยังไม่มีการหยิบยกกรณีชายแดนใต้เป็นวาระแห่งชาติ

ฮัจยีสุหลง-ชายแดนใต้-3จังหวัด-ปัตตานี
  • ฮัจจีสุหลง ผู้นำจิตวิญญานชาวปาตานี

ฮาซันมองว่าทั้งสองฝ่ายต้องใช้การเจรจานำการทหาร โดยมีการลงนามเพื่อเป็นประจักษ์พยาน และฝ่ายบริหารรัฐไทยและกองทัพต้องเป็นเอกภาพ ขณะที่องค์กรระหว่างประเทศต้องยกระดับมากกว่าสังเกตการณ์ ยืนยันว่าบีอาร์เอ็นยึดการแก้ปัญหาปาตานีตามแนวทางการเมือง ต่อคำถามว่าจะสู้โดยวางอาวุธได้หรือไม่ อดีตตัวแทนบีอาร์เอ็น ตอบว่า

"อาจเป็นไปได้ถ้ารัฐไทยยอมรับฟังเสียงและความไฝ่ฝันประชาชนอย่างแท้จริง"


หนทางสู่การเจรจา

กัสตูรี มะห์โกตา ประธานองค์การปลดปล่อยสหปาตานี (PULO-mkp) มองว่ากระบวนการสันติภาพยังวนอยู่ที่เดิม แต่ถือว่าที่ผ่านมาการพูดคุยเป็นความก้าวหน้า ยกระดับขบวนการต่อสู้ให้ได้พูดคุยนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ในส่วนการแก้ปัญหา คือการเจรจาด้วยความจริงใจ 

ประธานพูโล เสนอว่าการพูดคุยหาทางออกต้องกลับไปสู่รากเหง้าของปาตานี ตั้งแต่สมัยก่อนสยามล่าอาณานิคม โดยเฉพาะการปกปิดและยอมรับในเรื่องเอกราชของปาตานี สำหรับแนวทางการเมืองต้องมีความชัดเจนทั้งสองฝ่าย อีกทั้งในขบวนการต่อสู้ของปาตานีและรัฐไทยเอง ยังมีการช่วงชิงอำนาจในกระบวนการเอง เพื่อผลประโยชน์ส่วนตนมากกว่าปาตานี 

ทั้งนี้ยืนยันว่าพูโลพร้อมเจรจากับทุกฝ่ายเพื่อสลายปัญหาความขัดแย้ง โดยไม่ทิ้งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนปาตานี และพร้อมที่จะรับข้อเสนอหยุดยิง แต่ต้องมีการติดตามสังคมนานาชาติ และทหารไทยต้องออกจากพื้นที่ หลังจากมีข้อตกลงการหยุดยิง


"ปาตานีเคยเป็นรัฐที่มีเอกราชและอธิปไตย แต่มีความพยายามปกปิดความเป็นจริงตรงนี้ แล้วจะแก้ไขปัญหาอย่างไร"


เห็นร่วมการเจรจา 

อาบูฮาฟิซ อัลฮากิม โฆษกของคณะพูดคุยฝ่ายมาราปาตานี ย้อนไทม์ไลน์การพูดคุย ว่ากระบวนการได้หยุดชะงักจากเหตุรัฐประหารยึดอำนาจ เมื่อปี 2557 ต่อมารัฐบาลทหารได้ส่งสัญญานสานต่อการพูดคุย โดยหลายคนที่เคยร่วมโต๊ะเจรจาก็ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งแล้ว อาทิ ทวี สอดส่อง 

โดยระหว่างปี 2558-2561 ได้มีการจัดตั้งผู้ร่วมพูดคุยจากฝ่ายมาราปาตานี ซึ่งได้พูดคุยกับรัฐไทยมาโดยตลอด และมีการลงนามคุ้มครองความปลอดภัยพลเรือน และเปิดพื้นที่ให้ประชาชนในพื้นที่มีอิสระในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ทว่าขณะที่กระบวนการพูดคุยได้เดินหน้าไป ยังคงมีการปราบปรามผู้เห็นต่างจากฝ่ายไทย กอรปกับการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลประเทศมาเลเซีย ทำให้การพูดคุยในระยะหลังไม่ราบรื่นนัก

AFP-ระเบิดจังหวัดชายแดนใต้-เหตุการณ์ความไม่สงบ-หน่วยความมั่นคง-ที่เกิดเหตุนราธิวาส-1.jpg
  • ภาพเหตุการณ์ความไม่สงบชายแดนใต้

สำหรับเป้าหมายที่แท้จริงของการพูดคุยคือ การจัดตั้งทีมประสานเพื่อสันติภาพด้วยความเป็นกลางและพูดคุยกับทุกฝ่าย ยกตัวอย่างเช่นการเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้งกรณีที่ อาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย และมินดาเนา ฟิลิปปินส์ รวมถึงกรณีเมียนมา

"ตลอดระยะเวลาที่เรามีการพูดคุย สิ่งที่เราได้คือการรับรู้ข้อกังวลและข้อจำกัดของแต่ละฝ่าย ทำให้เรามีความไว้เนื้อเชื่อใจในระดับหนึ่ง และต้องดูต่อไปว่าบทบาทของมาราปาตานี และบีอาร์เอ็นจะไปในรูปแบบใด"