ไม่พบผลการค้นหา
'วิโรจน์' มองปม 'หยก' ถูกตัดสิทธิ์นักเรียน ต้องคุยหาทางออกกันอย่างสร้างสรรค์ เชื่อทุกฝ่ายหวังดีร่วมกัน อยากให้เด็กได้เรียน ย้ำแก้ปัญหาโกงข้าวกลางวันนักเรียนมีหลายปัจจัย ต้องแก้ทั้งงบประมาณ และสางหนี้ อปท. เตือนทำลายอนาคตชาติโทษหนัก

วันที่ 16 มิ.ย. 2566 ที่พรรคก้าวไกล วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ให้ความเห็นกรณี 'หยก' เยาวชนอายุ 15 ปี ที่มีปัญหาถูกทำให้พ้นสภาพความเป็นนักเรียนของโรงเรียน โดยระบุว่า ตนคิดว่าเรื่องนี้กำลังอยู่ในกระบวนการ กำลังแก้ไข หารือ หาทางออก ด้วยการพูดคุยกันอย่างสร้างสรรค์ เป็นทางออกที่ถูกต้องแล้ว 

วิโรจน์ ยังมองว่า การที่คนฝ่ายหนึ่งที่มีข้อมูลอีกแบบหนึ่ง แล้วมาพูดนอกรอบ ตนว่าไม่เกิดประโยชน์ แต่ตนเชื่อว่าทุกคนพยายามทำให้นักเรียนรวมถึง หยกได้เรียนอยู่แล้ว ติดขัดตรงไหนก็ต้องคุยกัน 

“ต้องพูดคุยกัน ถ้าเรายังตอบคำถามแบบปิงปองแบบนี้ การแก้ปัญหาจะไม่เกิด เราควรเปลี่ยนให้เป็นการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ดีกว่า เพราะว่าจุดยืนคือนักเรียนทุกคนต้องได้รับการเรียนหนังสือ” วิโรจน์ กล่าว


แก้ปัญหาโกงข้าวกลางวันนักเรียนมีหลายปัจจัย

วิโรจน์ กล่าวถึงประเด็นการตรวจสอบการทุจริตอาหารกลางวันของนักเรียน ว่า เป็นปัญหาที่มีความซับซ้อน การแก้ไขเพียงเรื่องทุจริตเพียงอย่างเดียวไม่สำเร็จ เพราะที่มาของปัญหาคือการจัดสรรงบประมาณที่ไม่สมเหตุสมผล เพราะตามมติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) งบประมาณอาหารกลางวันต่อหัว อยู่ที่ 22-36 บาท ขึ้นอยู่กับจำนวนนักเรียน หากหักค่าวัตถุดิบค่าง ๆ ก็แทบไม่เหลือค่าแรงให้แม่ครัว

วิโรจน์ ยกตัวอย่าง โรงเรียนขนาดใหญ่ นักเรียน 1,000 คน ขึ้นไป จะไม่มีปัญหานี้ แต่โรงเรียนขนาดเล็ก นักเรียน 300-400 คน จะเหลืองบ 27 บาทต่อหัว และถ้ามีนักเรียน 100-120 คน ก็จะได้ 22 บาทต่อหัว จึงต้องตั้งคำถามว่า งบประมาณต่อหัวเพียงพอต่อต้นทุนวัตถุดิบ และค่าแรงของแม่ครัวหรือไม่ 

วิโรจน์ กล่าวถึงอีกปัจจัยคือ บางโรงเรียน เช่น โรงเรียนขยายโอกาส ซึ่งให้นักเรียนมัธยมมาร่วมรับประทานอาหารกลางวันกับนักเรียนชั้นประถม ถึงแม้จะผิดกฎระเบียบ แต่ด้วยความขาดแคลนจึงต้องทำ ซึ่งก็ต้องมารับประทานอาหารที่เหลือจากน้อง เพราะตามระเบียบแล้วไม่สามารถรับประทานพร้อมกันได้ งบประมาต้องไปเจียดให้กับเรื่องนี้ ซึ่งไม่เพียงพอ 

วิโรจน์ ยังกล่าวถึงปัญหาของโรงเรียนขนาดเล็ก ที่มีอุปสรรค จากกฎระเบียบทำให้ไม่สามารถรวมตัวกัน เพื่อจัดซื้อจัดจ้างได้ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) บางแห่ง ก็มาอุดหนุนไม่สะดวกนัก เพราะมีปัญหาเนื่องจากการจัดเก็บภาษีที่ดินที่ปรับลดลง 90% ทำให้ตอนนี้รัฐบาลติดหนี้ค้างจ่าย อปท. ทั่วประเทศ กรุงเทพฯ ซึ่งค้างอยู่ 30,000 ล้านบาท ก็ยังไม่มีแผนชำระคืน 

“หลังจัดการเรื่องงบประมาณเสร็จแล้ว ต่อไปผมต้องมาดูเรื่องความโปร่งใสต่างๆ เพราะการทุจริตอาหารกลางวันมีโทษหนัก ไม่ใช่เพียงโทษทางกฎหมาย โทษทางสังคมก็หนัก เพราะเรารู้อยู่แล้วว่า เยาวชนคืออนาคตของชาติ การโกงอาหารกลางวันคือการทำลายอนาคตของชาติ” วิโรจน์ กล่าว