หลังรัฐบาลเลิกอุดหนุนราคาเชื้อเพลิง ส่งผลให้ราคาน้ำมันสูงขึ้นกว่าเท่าตัว ชาวเอกวาดอร์จึงลงถนนประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดในรอบทศวรรษ โดยรัฐบาลโต้ตอบด้วยการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
'เลนิน โมเรโน' ประธานาธิบดีเอกวาดอร์ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม หลังเกิดเหตุชุมนุมประท้วงทั่วประเทศ จากการปฏิรูปคลัง ซึ่งรัฐยกเลิกการอุดหนุนราคาเชื้อเพลิง ทำให้มีราคาเพิ่มสูงขึ้นอย่างมหาศาล ซึ่งโมเรโน กล่าวว่าต้องใช้มาตรการนี้เพื่อรักษาความปลอดภัยให้พลเมืองและหลีกเลี่ยงความโกลาหล
สำหรับการประท้วงครั้งนี้ สืบเนื่องราคาเชื้อเพลิงถีบตัวสูงขึ้นถึง 120 เปอร์เซ็นต์ เพราะรัฐบาลบังคับใช้แผนปฏิรูปการคลัง ซึ่งยกเลิกการอุดหนุนราคาเชื้อเพลิง ในวันที่ 3 ตุลาคมนี้
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่าราคาน้ำมันดีเซล จากแกลลอนละ 1.03 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 31.33 บาท) สูงขึ้นเป็น 2.30 ดอลลาร์ฯ (ราว 69.97 บาท) ขณะที่ราคาแก๊สโซลีนหรือน้ำมันเบนซินทั่วไปนั้น สูงขึ้นจาก 1.85 ดอลลาร์ฯ (ราว 56.28 บาท) เป็น 2.40 ดอลลาร์ฯ (ราว 73.01 บาท)
บรรดาผู้ขับแท็กซี่ รถเมล์ และรถบรรทุก พากันปิดถนนในกีโต (Quito) เมืองหลวงของเอกวาดอร์ และกัวยากิล (Guayaquil) เมืองที่มีประชากรมากที่สุดในประเทศ ขณะที่สถานีขนส่งในกีโต และตามเมืองใหญ่ก็ปิดให้บริการ
แม้การชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดในรอบทศวรรษนี้ของเอกวาดอร์ นำโดยภาคการขนส่ง และมีกลุ่มอื่นๆ รวมถึงนักเรียน นักศึกษา และสหภาพแรงงานร่วมด้วย
ถนนในเมืองถูกกีดขวางด้วยก้อนหิน และยางรถยนต์ที่ถูกเผา กลุ่มผู้ชุมนุมได้เขวี้ยงปาก้อนหินใส่ตำรวจปราบจราจล ขณะที่ทางตำรวจได้ตอบโต้ด้วยแก๊สน้ำตา และส่งรถหุ้มเกราะลงถนน
อาเบล โกเมซ หัวหน้าสหพันธ์การขนส่งสาธารณะแห่งชาติเอกวาดอร์ (National Federation of Public Transport Cooperatives) กล่าวกับกับสำนักข่าวรอยเตอร์สว่า "นี่เป็นการเคลื่อนไหวอย่างไม่มีกำหนด จนกว่ารัฐบาลจะกลับลำคำสั่งเรื่องการอุดหนุน (ราคาเชื้อเพลิง) เราจะทำให้ประเทศนี้เป็นอัมพาต"
การยกเลิกการอุดหนุนราคาเชื้อเพลิง เป็นส่วนหนึ่งในข้อตกลงเพื่อกู้เงิน จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ (International Monetary Fund: IMF) แม้ว่าประเทศจะมีหนี้สาธารณะสูงอยู่แล้ว
ในเอกวาดอร์ การอุดหนุนราคาเชื้อเพลิงนั้นเป็นรายจ่ายของรัฐบาลคิดเป็นปีละ 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท) ส่วนเงินกู้ในข้อตกลงกับไอเอ็มเอฟ ซึ่งลงนามไปเมื่อเดือนมีนาคม เปิดทางให้เอกวาดอร์กู้ยืมเงินได้ 4.2 พันล้านดอลลาร์ฯ (ราว 128,000 ล้านบาท)
'ริชาร์ด มาร์ติเนซ' รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ กล่าวเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม ว่า คาดการณ์การยกเลิกการอุดหนุนเชื้อเพลิง และการปฏิรูปภาษี จะช่วยลดรายจ่ายได้ปีละ 2.27 พันล้านดอลลาร์ฯ (ราว 69,000 ล้านบาท)
ทางรัฐบาล ต้องการลดการขาดดุลงบประมาณจากที่คาดว่าในปีนี้จะขาดดุล 3.6 พันล้านดอลลาร์ฯ (ราว 109,500 ล้านบาท) ให้เหลือ 1 พันล้านดอลลาร์ฯ (ราว 3 หมื่นล้านบาท) ในปี 2020
โมเรโน โทษว่าความถดถอยทางการเงินของเอกวาดอร์เป็นความผิดของราฟาเอล กอร์เรอา อดีตประธานาธิบดีเอกวาดอร์ ซึ่งตอนนี้พำนักอยู่ที่เบลเยียม โดยศาลมีคำสั่งจับกุมเขาในข้อหาเป็นผู้บงการการลักพาตัวส.ส.ฝ่ายค้านเมื่อปี 2012
โมเรโน ผู้เข้ารับตำแหน่งในปี 2017 มาแทนที่กอร์เรอา กล่าวว่าการดันทุรังอุดหนุนราคาเชื้อเพลิงมา 40 ปี เป็นตัวการที่ทำให้เศรษฐกิจผิดเพี้ยนไป และจะไม่ยอมให้ผู้ประท้วงทำให้เอกวาดอร์เป็นอัมพาต โดยการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นการอนุญาตให้รัฐบาลสามารถจำกัดการชุมนุม เซนเซอร์สื่อ และส่งกองกำลังทหารเพื่อรักษาความสงบได้ อีกทั้งทางรัฐบาลยังระบุว่าการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนี้มีผลเป็นเวลา 60 วัน และหลังจากนั้นสามารถขยายเวลาเพิ่มได้อีก 30 วัน
สำนักข่าวอัลจาซีราและวอยซ์ออฟอเมริการายงานว่าในวันที่ 4 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันที่สองของการชุมนุมประท้วง มีผู้ประท้วงถูกจับกุมแล้ว 350 คน และการประท้วงยังคงดำเนินต่อไป
ทั้งนี้ ในระหว่างปี 1996 ถึงปี 2007 การลงถนนประท้วงครั้งใหญ่ได้บีบให้ประธานาธิบดีเอกวาดอร์ลาออกมาแล้วถึง 3 คน ก่อนที่ราฟาเฟล กอร์เรอาจะขึ้นสู่ตำแหน่งเป็นสิบปีตั้งแต่ปี 2007