รัฐบาลลาวเดินหน้าสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงแห่งที่ 5 ท่ามกลางความกังวลและเสียงคัดค้านเรื่องสิ่งแวดล้อม
รัฐบาลลาวตัดสินใจเดินหน้าโครงการเขื่อนในแม่น้ำโขงแห่งที่ 3 โดยจะเริ่มขึ้นตอนกระบวนการปรึกษาหารือกับชาติสมาชิกกลุ่มแม่น้ำโขง 4 ชาติได้แก่ ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ในช่วงต้นเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ ท่ามกลางข้อถกเถียงในเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อน
คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงสากล (MRC)กล่าวว่า ทางรัฐบาลลาวได้ยื่นเอกสารต่อ MRC เพื่อขอเข้าสู่ขั้นตอนกระบวนการปรึกษาหารือในการสร้างเขื่อนหลวงพระบาง ซึ่งเป็นขั้นตอนขอความเห็นชอบและการแก้ไขปัญหาในการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงที่ทุกเขื่อนจะต้องปฏิบัติตาม
ทั้งนี้ทาง MRC แจ้งว่า กระบวนการปรึกษาหารือของเขื่อนหลวงพระบางนี้จะเริ่มกระบวนการในวันที่ 9 ตุลาคมที่จะถึงนี้ โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือนในขั้นตอนดังกล่าว ซึ่งเป็นระยะเวลาขั้นต่ำที่สุดในขั้นตอนก่อนการสร้างเขื่อน
โครงการเขื่อนหลวงพระบางเป็นเขื่อนไฟฟ้าขนาดใหญ่ โดยจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 1,410 เมกกะวัตต์ ซึ่งเขื่อนดังกล่าวจะตั้งอยู่ในเขตเมืองจอมเพ็ด เมืองปากอู แขวงหลวงพระบางและเมืองงา แขวงอุดมไซของลาว
โครงการดังกล่าวจะสร้างผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงถึง 928 ครอบครัว หรือประชาชนประมาณ 4,600 คนที่ต้องโยกย้ายที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินออกจากบริเวณดังกล่าว
ปัจจุบันในแม่น้ำโขงมีเขื่อนที่สร้างแล้วเสร็จในลาว 2 แห่ง คือ เขื่อนไซยะบุรีในแขวงไซยะบุรี และเขื่อนดอนสะโฮงในแขวงจำปาสักของลาว และปัจจุบันกำลังเดินหน้าก่อสร้างอีก 1แห่ง คือเขื่อนปากแบงที่ตั้งอยู่ในแขวงไซยะบุรีทางตอนเหนือของลาว
แถลงการณ์ขององค์กรแม่น้ำสากลระบุว่า หากยังคงมีการเดินหน้าก่อสร้างเขื่อนต่อไป เขื่อนดังกล่าวจะสร้างอันตรายอย่างใหญ่หลวงต่อระบบนิเวศในแม่น้ำโขงในอนาคต ซึ่งตามแผนการของรัฐบาลลาวมีแผนจะสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงอีก 9 แห่งและกัมพูชาอีก 2 แห่งในเส้นทางของแม่น้ำโขง