งานวิจัยล่าสุดของสหรัฐฯ เผยว่า อนุภาคเพียงเล็กน้อยจากมลพิษทางอากาศ สามารถส่งผลกระทบต่อการพัฒนาต่อมไทรอยด์ของทารกในครรภ์ได้ ซึ่งจะทำให้เด็กเสี่ยงที่จะมีปัญหาสุขภาพในอนาคต
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซาต์เทิร์นแคลิฟอร์เนีย ตีพิมพ์ผลวิจัยล่าสุดลงในวารสารสมาคมการแพทย์แห่งอเมริกา หรือ JAMA ว่า หญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับมลพิษทางอากาศอาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาต่อมไทรอยด์ของทารก
ทีมวิจัยได้ศึกษาเลือดของทารกเกิดใหม่จำนวน 2,050 คน ทันทีหลังคลอด เพื่อตรวจวัดระดับไทรอกซิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ผลิตจากต่อมไทรอยด์ ผลปรากฏว่า หากหญิงตั้งครรภ์ได้รับฝุ่นละอองที่มีค่า PM2.5 ในอากาศเพิ่มขึ้น 16 ไมโครกรัม ต่อลูกบาศก์เมตร จะส่งผลให้ทารกในครรภ์มีระดับไทรอกซินเพิ่มขึ้น 7.5 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับทารกทั่วไป ขณะที่ ถ้าแม่ได้รับฝุ่นละออง PM10 เพิ่มขึ้น 22 ไมโครกรัม ต่อลูกบาศก์เมตร จะทำให้ระดับไทรอกซินของทารกเพิ่มขึ้น 9.3 เปอร์เซ็นต์
ทีมวิจัยยังค้นพบว่า หากหญิงตั้งครรภ์หายใจเอาฝุ่นละออง PM10 ในช่วง 1-8 เดือนของการตั้งครรภ์ จะทำให้ระดับไทรอกซินสูงอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่การได้รับฝุ่น PM2.5 ในช่วง 3-7 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ จะทำให้ค่าไทรอกซินผิดปกติมากที่สุด โดยระดับฮอร์โมนไทรอยด์ที่ผิดปกตินี้จะส่งผลกระทบอย่างมากกับการเติบโตของตัวอ่อนในครรภ์ ระบบเผาผลาญ รวมถึงการพัฒนาของระบบประสาท
ก่อนหน้านี้ มีรายงานจากสมาคมทางการหายใจแห่งยุโรปที่เผยว่า อนุภาคเล็ก ๆ อย่างคาร์บอน ที่มาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง สามารถส่งผ่านไปยังรกได้ ด้านผลวิจัยจากมหาวิทยาลัยควีนแมรี่ในลอนดอน เผยว่า ขณะที่ผู้หญิงหายใจเอามลพิษเข้าไป เขม่าทั้งหลายจะเข้าไปยังปอดและรกได้ผ่านทางกระแสเลือด นอกจากนั้น ยังมีงานวิจัยที่เชื่อมโยงว่าการที่หญิงตั้งครรภ์ได้รับมลพิษทางอากาศ จะทำให้เสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนด ทารกมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์หรืออาจเสียชีวิตได้ รวมถึงอาจทำให้เด็กมีปัญหาด้านทางเดินหายใจ