Big Story ชุด เนรมิตเชียงใหม่สู่ Smart City ตอนที่ 3 : จากชองกเยชอนเกาหลีใต้ สู่คลองแม่ข่าเชียงใหม่
เชียงใหม่ ชาวบ้านตำบลป่าแดด บอกเล่าสภาพคลองแม่ข่าในปัจจุบัน จากที่เคยเป็นคลองธรรมชาติ ที่พญามังราย เลือกเป็นชัยภูมิสร้างเมืองเชียงใหม่เมื่อ 700 ปีก่อน เมื่อเมืองถูกพัฒนา คลองกลายเป็นที่รองรับน้ำเสียจากภาคธุรกิจ วันละ 25,000 ลูกบาศก์เมตร เมื่อน้ำต้นทุนธรรมชาติน้อยลง การเติมน้ำดีไล่น้ำเสียจึงทำได้ไม่ดีนัก สภาพคลองแม่ข่าจึงเป็นอย่างที่เห็น
สิ่งที่บริษัทเชียงใหม่พัฒนาเมืองอยากเปลี่ยนแปลง คือการพัฒนาคลองแม่ข่า ระยะทาง 6 กิโลเมตร ให้เป็นแหล่งการค้าและแหล่งท่องเที่ยวใหม่ เปรียบเสมือนการชุบชีวิตคลองเน่าเสียให้กลายเป็นน้ำใส กลายเป็นแหล่งน้ำที่กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง แม้เอกชนจะมีความพร้อม แต่เพราะต้องใช้งบประมาณสูง ซึ่งถือเป็นหนึ่งในความท้าทายในการพัฒนา
การเนรมิตคลองแม่ข่าให้กลายเป็นคลองแห่งโอกาส บริษัทเชียงใหม่พัฒนาเมืองนำโมเดลที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาคลองน้ำเสียเป็นคลองน้ำใส จนประสบความสำเร็จมาแล้ว
การพัฒนาคลองชองกเยชอน ของเกาหลีใต้ที่ประสบความสำเร็จ จนเป็นต้นแบบสำคัญแห่งหนึ่งในโลก เริ่มต้นโครงการในปี 2545 โดยนายอี มย็อง-บัก ผู้ว่าการกรุงโซล ระยะแรกโครงการนี้ต้องหารือร่วมกันมากกว่า 4,300 ครั้ง จนเกิดการยอมรับอีก 1 ปีถัดมา จึงเริ่มเดินหน้าตามแผนด้วยงบประมาณกว่า 10,000 ล้านบาท
ซึ่ง "คลองแม่ข่าโปรเจคต์" มีความแตกต่างกันกับเกาหลีใต้ แต่หากทำได้สำเร็จ มันจะกลายเป็นโมเดลสมาร์ทซิตี้แบบใหม่ ที่เริ่มการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ก่อนการมาถึงของรถไฟฟ้า