นักวิจัยพบ 'ฝนตกเป็นพลาสติก' บนเทือกเขาในสหรัฐฯ ขณะการเก็บตัวอย่างน้ำฝนเพื่อศึกษาผลกระทบจากมลภาวะ
ทีมนักวิจัยในสหรัฐฯ พบเส้นใยพลาสติกที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าในตัวอย่างน้ำฝนที่เก็บจากเทือกเขาที่ระดับความสูงกว่า 3,000 เมตร บ่งชี้ว่าอนุภาคพลาสติกแพร่กระจายในบรรยากาศและรวมตัวกับเม็ดฝนเมื่อฝนตก ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าในปัจจุบันมีขยะพลาสติกปนเปื้อนในอากาศ น้ำ และผืนดินมากแค่ไหน
การค้นพบในครั้งนี้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ ขณะเกรกอรี เวเทอร์บี นักวิจัยจากองค์กรสำรวจทางธรณีวิทยาสหรัฐฯ(U.S. Geological Survey: USGS) และคณะ กำลังรวบรวมตัวอย่างน้ำฝนจากทั่วรัฐโคโลราโดเพื่อศึกษามลพิษจากไนโตรเจน เมื่อเขานำตัวอย่างมาวิเคราะห์ด้วยกล้องจุลทรรศน์กลับพบว่ากว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของตัวอย่างน้ำฝนที่เก็บมา มีเส้นใยพลาสติกหลากสีสันและเม็ดบีดส์พลาสติกอยู่ในนั้น
พลาสติกส่วนใหญ่ที่พบในตัวอย่างน้ำฝนนั้นเป็นเส้นใยพลาสติกขนาดเล็กซึ่งจะมองเห็นได้เมื่อขยายด้วยกำลังขยายประมาณ 40 เท่า เวเทอร์บี กล่าวว่างานวิจัยนี้ชี้ให้เห็นว่าขณะนี้มีพลาสติกอยู่ในธรรมชาติมากกว่าที่ตาเห็น
"มันอยู่ในฝน อยู่ในหิมะ มันกลายเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อมเราไปแล้ว"
การศึกษาครั้งนี้พบพลาสติกแม้แต่ในตัวอย่างที่เก็บจากอุทยานแห่งชาติเทือกเขาร็อกกี (Rocky Mountain National Park: Rockies) ที่ระดับความสูง 3,159 เมตร บ่งชี้ว่าการที่มลพิษสะสมในบรรยากาศและรวมตัวกับเมฆตกลงมาเป็นฝนนั้นเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ไม่ใช่เฉพาะในเขตเมืองเท่านั้น
สอดคล้องกับผลการศึกษาในเดือนเมษายนของนักวิจัยอีกกลุ่มหนึ่ง ที่พบว่าในบริเวณเทือกเขาพิรินี (Pyrenees) ในประเทศฝรั่งเศส ซึ่งตั้งอยู่ห่างไกลเมืองใหญ่และพื้นที่การค้าหรืออุตสาหกรรมหนัก ก็ยังมีไมโครพลาสติกอยู่ 365 อนุภาคในทุกๆ ตารางเมตร เมื่อศึกษาโดยใช้แบบจำลองบรรยากาศแล้วพบว่าขยะพลาสติกในอากาศเหล่านี้ สามารถลอยมาจากพื้นที่ที่อยู่ห่างออกไปอย่างน้อย 100 กิโลเมตร
ทางด้านเชอร์รี เมสัน นักวิจัยด้านไมโครพลาสติก จากมหาวิทยาลัยเพนน์สเตตเบห์เรนด์ รัฐเพนซิลวาเนีย กล่าวว่าขยะเป็นตัวการหลักของเรื่องนี้ โดยอธิบายว่าขยะพลาสติกที่ไม่ถูกรีไซเคิลนั้นเสื่อมสภาพและสลายเป็นชิ้นเล็กลงเรื่อยๆ พร้อมเสริมว่าเส้นใยพลาสติกซึ่งหลุดจากเสื้อทุกครั้งที่ซักก็เป็นที่มาหนึ่งของพลาสติก จากนั้นอนุภาคพลาสติกในบรรยากาศจะรวมกับเม็ดฝนเมื่อฝนตก แล้วไหลลงสู่แม่น้ำ ลำธาร อ่าว มหาสมุทร และแหล่งน้ำบาดาล