รายการ Talking Thailand ประจำวันที่ 26 ตุลาคม 2563
นักวิเคราะห์ Talking Thailand ถึงกับขำ “ส.ว.ลากตั้ง” ยังไม่เลิกกล่าวหาลอย ๆ “ทักษิณ–ธนาธร” อยู่เบื้องหลังม็อบ ทั้งที่ไม่มีหลักฐาน “ใบตองแห้ง” ชี้ในสมองไม่มีอะไร ปั่นแต่เรื่องเดิมๆ
แถมยังวิเคราะห์หลัง กกต. ชงเอาผิดอาญา “ธนาธร–กรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่” กรณีปมให้กู้เงิน ทั้งที่ให้กู้..ไม่ใช่เงินจากการขายแป้ง! นายสมชาย แสวงการ ส.ว. อภิปรายว่า ตนได้ไปสังเกตการณ์ชุมนุมพบว่า มีมวลชนพรรคการเมืองไปร่วมด้วยพอสมควร ไม่ใช่มีแค่นักเรียน นักศึกษา สาเหตุของปัญหาไม่ใช่แค่ตัวนายกฯ รัฐธรรมนูญ หรือสถาบัน แต่ปัญหาส่วนหนึ่ง มาจากนักการเมืองที่นำความขัดแย้งส่งต่อให้ลูกหลาน การชุมนุมมีคำปราศรัยที่รุนแรง ก้าวล่วงไกลเกินกว่าจะรับได้
จากการตรวจสอบการชุมนุมพบว่า มีการปิดล้อมขบวนเสด็จจริง ทั้งที่เส้นทางดังกล่าวเป็นเส้นทางเสด็จปกติ เพื่อขึ้นทางด่วนไปทอดกฐินที่วัดราชโอรส ขบวนเสด็จออกมาก็เจอมวลชน ทุกม็อบเวลาเจอขบวนเสด็จฯจะเปิดเส้นทาง ถวายความจงรัก ภักดี แต่ครั้งนี้มีการประกาศว่า ขบวนเสด็จมาให้ชู 3นิ้ว ดังนั้น ไม่อยากให้บิดเบือนกันในโลกโซเชียลว่า ตั้งใจนำขบวนเสด็จมาผ่านมวลชน
ทั้งนี้ ยื่น 9 ข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาได้แก่
1.ให้รัฐบาลใช้หลักนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ใช้ไม้นวมไม้แข็งดูแลความขัดแย้งอย่างเหมาะสม
2.รัฐบาลต้องชี้แจงองค์ระหว่างประเทศเรื่องการแก้ปัญหาให้ดีกว่านี้
3.ตั้งทีมจัดการข่าวปลอมเชิงรุกอย่างรวดเร็ว
4.ส.ส.และส.ว.ต้องร่วมมืออย่างสร้างสรรค์ปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจ
5.ให้รัฐบาลเปิดเวทีกลาง เช่น มหาวิทยาลัย สนามกีฬาแห่งชาติ ให้ผู้ชุมนุมได้เสนอความเห็นตามเสรีภาพ แทนการชุมนุมบนถนน
6.การเปิดเวทีเจรจา แม้จะยากแต่ต้องทำ
7.การปฏิรูปสถาบันเป็นข้อเสนอสุดโต่ง
8.นายกฯไม่ควรลาออก เพราะไม่ช่วยแก้ปัญหา
9.หากการดำเนินการข้อ1-8 แล้ว ไม่สามารถเป็นทางออกได้ ให้ใช้วิธีออกเสียงประชามติแก้ปัญหา
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 24 ต.ค. นายสมชาย โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า #คำเตือนครั้งสุดท้ายถึงผู้บงการทำลายชาติ เดิมนั้นฝ่ายศัตรูใช้ยุทธวิธีแยกกันเดิม รวมกันตี ในสงคราม 9 ทัพยุค social Dilemma หลอกใช้เด็กเป็นกองหน้าตายแทน ผู้บงการในและต่างประเทศร่วมมือฝรั่งมหาอำนาจล่าอาณานิคมยุค 5G เป็นผู้กำกับแอบกดปุ่มอยู่เบื้องหลัง ทันทีที่กราบสะท้านแผ่นดินบ่งยอกแยกลูกเมียออกจากสนามรบ
การข่าวก็ชัดเจนว่า สงคราม 9 ทัพ ได้รวมศูนย์สไกป์สั่งการจากดูไบ ท่อน้ำมันที่อุดตัน ก็เริ่มจ่ายหัวท่อ งานนี้ไม่ต้องโอนข้ามประเทศ ใช้ท่อน้ำเลี้ยงในประเทศ ที่เคยได้ประโยชน์จ่ายพร้อมกันแล้ว แม้ศึก 9 ทัพครั้งนี้จะมีทัพต่างเมืองเข้าร่วมนำทัพสนับสนุน แต่เมื่อจอมทัพนำการรบเอง #ศัตรูย่อมแพ้พ่ายราบคาบกระอักเลือดอีกครั้ง
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเปิดการอภิปราย ยืนยันรัฐบาลพร้อมรับฟังความคิดเห็นจากสมาชิกรัฐสภา เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ หวังใช้เวทีการประชุมรัฐสภาร่วมหาทางออกร่วมกัน เชื่อทุกฝ่ายมีความรักบ้านเมืองและแก้ปัญหาให้ผ่านไปด้วยกัน
โดยในเรื่องการชุมนุม โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 การชุมนุมมีการพักค้างคืน อาจยืดเยื้อ มีความผิดตามพระราชบัญญัติชุมนุมสาธารณะ 2558 และอาจมีผู้ฉวยโอกาสเข้ามาแทรกซึมทำให้เกิดความวุ่นวายได้ ดังนั้น รัฐบาลจึงออกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และได้ยกเลิกแล้ว
ส่วนข้อเรียกร้อง 3 ข้อ รวมถึงการให้ปล่อยผู้ที่ถูกควบคุมตัว ได้แก่ การยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และการปฏิรูปสถาบันนั้นว่า หลายเรื่องอยู่ในขั้นตอนการการดำเนินการอยู่แล้ว ปัจจุบันศาลได้ปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัวหลายราย แม้การชุมนุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย แต่บางแห่งมีความรุนแรงเกิดขึ้น รัฐบาลมีหน้าที่ในการรักษาสิทธิของคนไทยทุกคนทั้งประเทศซึ่งมี 70 ล้านคน ยืนยันเจ้าหน้าที่ตำรวจ รัฐบาล พยายามที่จะดูแลสถานการณ์การชุมนุมอย่างอะลุ่มอล่วยและผ่อนผัน ยึดหลักการใช้กฎหมาย
ขณะที่ เวลา 15.50 น. พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงเกี่ยวกับข้อเรียกร้องของ ส.ส.ที่อภิปรายให้ลาออก ว่า กรณีนายกฯ ลาออกจากตำแหน่ง จะเกิดอะไรบ้าง ได้ปรึกษากับฝ่ายกฎหมายแล้ว ถ้านายกฯลาออก ครม.ต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ และเลือกนายกฯ ใหม่จากที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งต้องใช้ทั้งเสียงส.ส.และส.ว.ด้วย ต้องมีมติเสียงกึ่งหนึ่ง ดังนั้นต้องมี ส.ว.มาร่วมเลือกนายกฯด้วย ส่วนกรณีการยุบสภา พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะเหมือนกัน สมาชิกภาพของส.ส.ก็ต้องสิ้นสุดลงเช่นกัน ตนจึงไม่แน่ใจว่าท่านต้องการหรือไม่ต้องการอะไรตรงนี้
ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวว่า ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญรัฐบาลได้แก้ปัญหาแล้ว ซึ่งคาดว่าจะสามารถพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคมและใช้เวลา 90 วันในการทำประชามติ เหลือเพียงข้อเรียกให้นายกรัฐมนตรีลาออกส่วนการปฏิรูปสถาบันนั้น รัฐบาลไม่ทราบและไม่เข้าใจจึงอยากฟัง การอภิปรายและข้อเสนอแนะจากสมาชิกรัฐสภาจะต้องมีความขัดแย้งขึ้น แต่ขณะนี้ยังไม่มีความขัดแย้งในลักษณะนั้น แต่หากเป็นความประสงค์หรือเจตนารมย์นายกจะหารือและพิจารณาในเรื่องนั้นต่อไป
สำหรับ ขอเสนอให้นายกรัฐมนตรีลาออก ฝ่ายกฎหมายได้แจ้งกับนายกฯหากลาออก ต้องคิดว่าจะหานายกฯคนใหม่จากขั้นตอนใด ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ที่ยังไม่มีการแก้ไข และอีกเงื่อนไขนายกรัฐมนตรีจะต้องถูกเสนอชื่อมาจากบัญชีรายชื่อ ซึ่งขณะนี้มีรายชื่อเพียง 5 คน หากตัดพลเอกประยุทธ์และนายธนาธร ออกไป ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าการเลือกนายกรัฐมนตรีจะต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากรัฐสภาไม่น้อยกว่าหนึ่งหรือ 366 เสียง ซึ่งขณะนี้ไม่ว่าฝ่ายค้านหรือรัฐบาลก็มีเสียงไม่ถึง 366 เสียง จึงมีคนเสนอ นายกรัฐมนตรีให้พรรคพลังประชารัฐไปร่วมเสียงกับพรรคฝ่ายค้าน เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี ขณะเดียวกันก็มีเสียงสนับสนุนให้นายกรัฐมนตรีอยู่ต่อไม่ต้องลาออก ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มีการพูดคุยหารือกับรองนายกรัฐมนตรีว่า ทางออกควรจะมีการถามประชาชน แต่ปัญหา คือการทำประชามติไม่สามารถทำในเรื่องของตัวบุคคลได้ แต่หากมีกลวิธีในการตั้งคำถามเพื่อทำประชามติที่แนบเนียนและแยบยล ก็จะนำไปพิจารณาของหากเป็นข้อเสนอของที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะแจ้งต่อประธานรัฐสภา ว่าข้อเสนอนี้ เป็นไปได้หรือไม่ แต่อย่างไรก็ตามการลาออกหรือไม่อยู่ที่ดุลพินิจของนายกรัฐมนตรี