รายการ Talking Thailand ประจำวันที่ 28 สิงหาคม 2563
#เหมี่ยวปวันรัตน์ ยังไม่ขอโทษ แม้กระแสในโลกโซเชียล ทวงถามสามัญสำนึกปมแสดงความสะใจคนถูกยิง บนเวทีม็อบนกหวีด! แม้จะ “พักงาน” พิธีกร ตาม #ม้าอรนภา แต่เป็นเพราะความไม่สบายใจส่วนตัว...แอดฯ ว่า ถ้าคิดว่าไม่ผิด ก็ควรยืนหยัดสู้...แบบนี้เหมือนจะรู้แรงต้านที่ถาโถมเข้ามา
หลัง เหมี่ยว ปวันรัตน์ นาคสุริยะ ดารานักแสดง ถูกกระแสต่อต้าน และเรียกร้องให้แบนจนแฮชแท็ก #เหมี่ยวปวันรัตน์ ขึ้นอันดับ 1 เทรนด์ทวิตเตอร์ สืบเนื่องจากการแสดงความคิดเห็น สะใจเรื่องมือปืนป๊อปคอร์น ที่ก่อเหตุกราดยิง บริเวณหลักสี่ จนทำให้ ลุงอะแกว แซ่ลิ้ว วัย 72 ปี เสียชีวิต
ล่าสุด มดดำ คชาภา ได้เปิดเผยใน รายการแฉ ทางช่องจีเอ็มเอ็ม ระบุว่า กรณีของพี่เหมี่ยว ปวันรัตน์ ที่จัดรายการข่าวใส่ไข่ ล่าสุด พี่เหมี่ยว บอกว่า ไม่สบายใจ ในเมื่อกระแสอะไรยังแรง จึงขอเบรก ขอหยุดการดำเนินรายการไปก่อน เพื่อความสบายใจของตนเอง ยังไม่ได้มีการปลดอะไรทั้งสิ้น
กรณีนี้ เกิดขึ้นต่อเนื่อง หลังกระแสดราม่า “ม้า อรนภา กฤษฎี” ที่แสดงความคิดเห็นโดยใช้ถ้อยคำไม่สุภาพ กรณีการชุมนุมของนักเรียน นักศึกษา จนต้องยุติบทบาทพิธีกร รายการข่าวใส่ไข่ รายการ 3 แซ่บ และรายการ อลหม่านจานใหม่
ด้านศาสตราจารย์กิตติคุณ สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นความสำคัญของการคลี่คลายปมเงื่อนของความแตกต่างขัดแย้ง ด้วยหลักความบริสุทธิ์ใจ และใช้ข้อมูลความรู้ในการแก้ปัญหา โดยอยู่บนพื้นฐานความรับผิดชอบต่อสังคม โดยตระหนักว่า ปัจจุบันสังคมไทยเผชิญกับสิ่งท้าทายรอบด้าน ดังนั้นจึงต้องการให้การทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัย มีส่วนช่วยในการตอบโจทย์ของสังคมและสาธารณะ โดยสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและหลักนิติธรรม
ทั้งนี้จากการประชุมเพื่อหาแนวทางดำเนินการเกี่ยวกับกิจกรรมการแสดงออกและการใช้สิทธิเสรีภาพของชาวจุฬาฯ ได้ข้อสรุปเชิงหลักการว่า
1.การยอมรับความหลากหลายทางความคิด และการสร้างความเชื่อมั่น ไว้วางใจต่อกันเป็นเงื่อนไขสำคัญของการย่างก้าวสู่อนาคตของการอยู่ร่วมกัน
2.ความขัดแย้งไม่ใช่ปัญหาแต่ประเด็นปัญหาคือ การทำให้ความแตกต่างขัดแย้งกลายเป็นความรุนแรง ดังนั้นการแก้ไข จึงไม่ควรอาศัยแต่เครื่องมืออำนาจ และระเบียบบังคับแต่อย่างเดียว หากต้องใช้เครื่องมือที่สามารถเพิ่มพูนสมรรถภาพในการแก้ปัญหาร่วมกัน
3.การตัดสินกันด้วยความชอบ-ไม่ชอบ เพราะคิดเห็นต่างกันและการสร้างความเกลียดชังต่อกัน สามารถเป็นปัจจัยทำให้เกิดความรุนแรง และนำสังคมไปสู่ทางตันได้ ดังนั้นต้องคลี่คลายปมความเห็นต่างด้วยการขยายความรู้ความเข้าใจร่วมกัน การพิจารณาประเด็น เช่น ช่องว่างระหว่างรุ่นอายุและความแตกต่างในการให้คุณค่านั้นจำต้องใช้วิชาการรวมถึงสหวิชาการจึงจะสามารถคลี่คลายปมปัญหาได้
ส่วนแนวทางการดำเนินการอาจแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะสั้น สร้างความเชื่อมั่นไว้วางใจในการแลกเปลี่ยนเพื่ออนาคตด้วยบรรยากาศเปิดกว้างในการรับฟังความคิดเห็น และหารือกัน เกี่ยวกับกติกาและเสรีภาพในการแสดงออกในมหาวิทยาลัย ทั้งคณาจารย์ นิสิตและนิสิตเก่าในรูปแบบที่หลากหลาย เช่น เวทีเสวนา การระดมความคิด ฯลฯ โดยมหาวิทยาลัยจะสนับสนุนพื้นที่และดูแลความปลอดภัยเต็มที่ นอกจากนั้น สนับสนุนให้มีรายวิชาใหม่ เช่น วิชาที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพและความรับผิดชอบในโลกยุคดิจิทัลด้วย
ระยะกลาง สนับสนุนโอกาสให้ทุกภาคส่วน ได้มีส่วนร่วมกำหนดควบคุมดูแลกันเองและส่งเสริมการศึกษาวิจัยแบบสหสาขาวิชาหัวเรื่องใหม่ๆ เช่น เสรีภาพและความรับผิดชอบในโลกแห่งความเสี่ยงพลังหนุ่มสาว (youthquake) เพื่อการเปลี่ยนแปลงอนาคต ช่องว่างระหว่างรุ่นอายุ(generation gaps) กับพลังสังคมยุคดิจิทัลแล้วนำผลจากการวิจัยมาบูรณาการในการเรียนการสอนและกิจกรรมไปด้วย
ระยะยาว อนาคตประเทศชาติ ย่อมขึ้นอยู่กับการเรียนรู้ทางสังคมในท่ามกลางการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำโดยไม่ใช้ความรุนแรง จุฬาฯ จึงเห็นความสำคัญในการขับเคลื่อนหาทางออกสังคมโดยร่วมสร้างความรู้ที่เหมาะสมและสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการแก้ปัญหาความขัดแย้งและเพิ่มสมรรถนะในการทำความเข้าใจความคิดที่หลากหลาย