รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศยกเลิกสถานะ 'โสดตลอดชีพ' ซึ่งเคยใช้เรียกคนอายุ 50 ปีที่ยังไม่แต่งงาน พร้อมเร่งปรับตัวเข้ากับโครงสร้างสังคมที่เปลี่ยนแปลงทุกมิติ
สำนักข่าวเคียวโดของญี่ปุ่นรายงานว่า เมื่อประมาณ 30 ปีก่อน รัฐบาลญี่ปุ่นได้กำหนดคำว่า 'โสดตลอดชีพ' (lifelong single) เพื่อเรียกประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปที่ยังไม่แต่งงาน เพื่อให้สะดวกต่อการจัดทำสำมะโนประชากรและเก็บข้อมูลสถาบันครอบครัว
เป้าหมายดั้งเดิมของการใช้คำว่า 'โสดตลอดชีพ' เนื่องจากประชากรกลุ่มนี้อยู่ในช่วงอายุที่เกินไปจากค่าเฉลี่ยของคนญี่ปุ่นที่แต่งงานสร้างครอบครัวหรือกลุ่มคนที่ยังอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ แต่ผลสำรวจช่วงเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา พบว่าชายและหญิงชาวญี่ปุ่นแต่งงานหลังอายุ 50 ปีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่รายหนึ่งของ Zwei (ซไว) บริษัทหาคู่ในกรุงโตเกียว ซึ่งไม่ขอเปิดเผยชื่อ ยังได้แสดงความเห็นผ่านสำนักข่าวเคียวโดด้วยว่า การกำหนดสถานะ 'โสดตลอดชีพ' และแนวความคิดว่าคนอายุเกิน 50 ปีนั้น 'พ้นวัย' ที่จะสามารถแต่งงานได้ เป็นวิธีคิดที่ล้าสมัยไปแล้วในยุคนี้ โดยอ้างอิงผู้ลงทะเบียนใช้บริการจัดหาคู่ของบริษัท มีจำนวนมากว่า 300 รายที่อายุเกิน 50 ปีไปแล้ว โดยคนกลุ่มนี้ยังสนใจที่จะแต่งงาน และเป็นคนละกลุ่มกับผู้ที่กลับมา 'โสด' เพราะการหย่าร้างหรือคู่สมรสเสียชีวิต
ขณะเดียวกัน ผลสำรวจของกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นบ่งชี้ว่า ประชากรทั้งชายและหญิงแต่งงานช้าลงเรื่อย ๆ โดยสถิติเมื่อปี 1985 บ่งชี้ว่า ประชากรไม่ถึงร้อยละ 5 เท่านั้น ที่ยังไม่ได้แต่งงานเมื่อมีอายุ 50 ปี แต่ในปี 2010 ผู้ชายที่ยังไม่แต่งงานในวัย 50 ปี เพิ่มจำนวนขึ้นเป็นร้อยละ 20 และผู้หญิงร้อยละ 10 จนกระทั่งปี 2015 พบว่าอายุเฉลี่ยของผู้ชายญี่ปุ่นที่ตัดสินใจแต่งงาน อยู่ที่ 31.1 ปี และผู้หญิงอยู่ที่ 29.4 ปี
ด้วยเหตุดังกล่าวทำให้กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำสำมะโนประชากรของญี่ปุ่นปรับเปลี่ยนคำเรียกผู้ที่ยังไม่ได้แต่งงานก่อนอายุ 50 ปีเสียใหม่ จากคำว่า 'โสดตลอดชีพ' เป็น 'บุคคลอายุ 50 ปีที่ยังไม่แต่งงาน' แทน แต่เอกสารบางประเภทของทางราชการจะใช้ทั้งสองคำ
ขณะที่ ก่อนหน้านี้รายงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์จากมหาวิทยาลัยโตเกียวและทีมวิจัยจากสวีเดนระบุว่า ประชากรญี่ปุ่นทั้งชายและหญิงในช่วงอายุ 18-39 ปีที่ไม่เคยมีประสบการณ์เรื่องเพศและไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยผลสำรวจพบว่า ผู้ชายญี่ปุ่น 'เวอร์จิน' เพิ่มขึ้นเป็น 25.8 % ในปี 2015 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 1992 ที่อยู่ที่ 20 % ขณะที่ ในหมู่ประชากรหญิงของญี่ปุ่นมีเปอร์เซ็นต์ 'เวอร์จิน' เพิ่มขึ้นจาก 21.7 ในปี 1992 เป็น 24.6 % ในปี 2015
ความกังวลในเรื่องหน้าที่การงานและเงื่อนไขทางรายได้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประชากรญี่ปุ่นยังเวอร์จิน ในรายงานดังกล่าวระบุว่า ผู้ชายที่มีรายได้ต่ำ มีเปอร์เซ็นต์ไร้ประสบการณ์ทางเพศที่สูงกว่าผู้หญิง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ชายในช่วงอายุ 25-39 ปีที่ยังมีรายได้ที่ต่ำกว่า 3 ล้านเยนต่อปี หรือในกลุ่มคนที่ยังไม่งานประจำ ลูกจ้างชั่วคราวและพนักงานพาร์ตไทม์
ปีเตอร์ อุเอดะ หนึ่งในนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโตเกียวกล่าวว่า การขาดประสบการณ์ทางเพศของประชากรญี่ปุ่นกลายเป็นปัญหาในระดับชาติ แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีรายงานการศึกษาในกลุ่มช่วงอายุที่ต่างกัน รวมไปถึงภูมิหลังทางเศรษฐกิจ และทีมนักวิจัยยังพบว่าทั้งชายและหญิงในช่วงอายุ 25-39 ปี กว่า 80 % ที่ยังเวอร์จินต่างระบุว่า ความคาดหวังในเรื่องการแต่งงานนั้นเป็นสิ่งที่สุดท้ายในชีวิตที่พวกเขานึกถึง
สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ประเทศญี่ปุ่นต้องเผชิญหน้ากับปัญหาสังคมสูงวัยที่หนักขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้บุคลากรในประเทศที่อยู่วัยทำงานมีจำนวนลดลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคั่งของประเทศในอนาคตอันใกล้ ด้านนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เสนอให้มีการรับแรงงานจากต่างประเทศเข้ามาอุดช่องว่างแรงงานในประเทศ
โทโมมิ อิเนดะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและอดีตรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของญี่ปุ่น กล่าวว่า การหดตัวลงและการสูงอายุขึ้นของประชากรเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ใหญ่ที่สุดที่ประเทศกำลังเผชิญหน้า ในฐานะประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับที่ 3 ของโลกและผลจากสถิติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า จำนวนประชากรในวัยทำงานของญี่ปุ่น จะลดลงราว 1.1 % ภายใน 50 ปีข้างหน้า
รัฐบาลของนายอาเบะ ซึ่งบริหารประเทศมากว่า 6 ปี มีความพยายามในการแก้ไขปัญหาประชากรสูงวัยด้วยมาตรการหลายอย่าง เช่น มาตรการปลอดภาษีและเพิ่มแรงจูงใจอื่น ๆ เพื่อเพิ่มการพัฒนา งานวิจัย และการลงทุนด้านการเงิน ทั้งยังมีความพยายามในการสร้างโอกาสให้กับแรงงานเพศหญิงและผู้สูงอายุ
แม้จะมีมาตรการในการกระตุ้นต่าง ๆ การขาดแคลนแรงงานก็ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ในญี่ปุ่น อิเนดะกล่าวว่า ทางออกที่ได้ผลมาที่สุดในขณะนี้คือการเปิดรับแรงงานต่างชาติผ่านกฎหมายใหม่ที่มีการประกาศใช้ในปีที่ผ่านมา ซึ่งตัวเลขแรงงานต่างชาติอาจสูงถึง 350,000 คน ภายในระยะเวลา 5 ปี ข้างหน้า
แท้จริงแล้ว มีชาวต่างชาติเข้ามาในญี่ปุ่นเป็นจำนวนมากมาเป็นเวลานานแล้ว แต่เข้ามารูปแบบของนักเรียน เข้ามาฝึกงาน หรือคนที่เข้ามาในประเทศแบบไม่มีวีซ่าที่เหมาะสม ซึ่งนำไปสู่การแสวงหาผลประโยชน์ แต่กฎหมายใหม่ที่ออกมาจะเข้ามาจัดการปัญหาดังกล่าวพร้อมกระตุ้นเศรษฐกิจไปในเวลาเดียวกัน