รายการ Talking Thailand ประจำวันที่ 5 พฤศจิกายน 2563
“อ.วิโรจน์” ต้องพูด! หลัง “ชวน” จ่อพบ “สุรยุทธ์” นายกฯ ที่มาจากรัฐประหารและจ่อเดินสายพบอดีตประธานสภา จี้! ต้องหยุด! รวมพล “แก๊งคนแก่ตกยุค” แถมยังไม่จริงจัง จริงใจ ในการหาทางออกประเทศ เพราะแสดงท่าทีชัดเจนว่า “ไม่คุยกับม็อบ” ทั้งที่ควรต้องทำ! ...เลิกเดินเกมแบบเล่นปาหี่ ตามสไตล์แมลงสาบเสียที
นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มราษฎรประกาศไม่ร่วมสังฆกรรมกับคณะกรรมการสมานฉันท์ว่า คณะกรรมการฯ ยังไม่ได้ตั้งขึ้นมาเลย ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการติดต่อผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเพื่อขอความคิดเห็น เพราะเป็นผู้มีประสบการณ์ ไม่ได้หมายความว่าจะไปเชิญเป็นกรรมการ แต่ในอนาคตไม่แน่ เนื่องจากทุกคนล้วนแล้วแต่มีประสบการณ์ ตั้งใจจะเดินสายไปพูดคุยกับอดีตนายกฯทุกคน รวมถึง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี ในฐานะอดีตนายกฯ ส่วนนายธานินทร์ กรัยวิเชียร อดีตนายกฯ ทราบว่าสุขภาพไม่ค่อยดี แต่ก็จะโทรศัพท์ไปสอบถามว่าไหวหรือไม่
แต่การเดินสายหารือขอความคิดเห็น ไม่ได้เจาะจงเฉพาะอดีตนายกฯ แต่ตั้งใจจะคุยกับอดีตประธานสภาหลายคนด้วย ขณะเดียวกันหากมีคู่ขัดแย้งมาเป็นคณะกรรมการชุดนี้หรือไม่นั้นไม่ได้เป็นเงื่อนไขของเรา จึงเป็นที่มาของการกำหนดรูปแบบของคณะกรรมการไว้หลายลักษณะ ซึ่งตอนนี้พยายามประสานงานกับบุคคลหลายฝ่าย
"เราตั้งใจจะเอาคนที่มีความประสงค์ร่วมมองการแก้ไขในวันข้างหน้าร่วมกัน ไม่ใช่เอามาทะเลาะกัน" พร้อมปฏิเสธว่า การเดินทางไปหารือกับประธานองคมนตรีไม่ได้ไปเพื่อหารือเรื่องสถาบัน
การตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ไม่ได้เป็นแนวคิดของรัฐสภา แต่เป็นเรื่องที่รับมาจากฝ่ายต่างๆ หากไม่รับมาก็จะกลายเป็นการมองข้ามการแก้ไขปัญหา ดังนั้น จึงต้องทำเพื่อให้การเมืองภายใต้ระบอบรัฐสภามีความเข้มแข็ง ลดความขัดแย้งในหมู่ประชาชน
"การเชิญใครมาเป็นกรรมการเป็นเรื่องยาก ผู้ใหญ่ที่ผมโทรศัพท์หาก็ยังไม่ได้เป็นกรรมการ แต่ท่านเห็นด้วยกับการหาทางลดความรุนแรงในบ้านเมือง และการจะเชิญใครมาเป็นคณะกรรมการต้องขึ้นอยู่กับความสมัครใจ และผมเองก็ไม่เคยคิดจะเข้าไปนั่งเป็นประธานเองหรือเข้าไปเป็นตัวกลางในการพูดคุยกับผู้ชุมนุม"
กรณีที่กลุ่มผู้ชุมนุมยืนยันจะไม่เข้าร่วมเป็นกรรมการนั้น นายชวน กล่าวว่า เราตั้งใจนำผู้ที่ต้องการเห็นความปรองดอง ใครที่ยื่นคำขาดจะไม่ร่วมก็เป็นเรื่องของเขา เราก็ทำงานในส่วนของเรา โดยได้แจ้งกับเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าไปแล้วว่าการวางโครงสร้างคณะกรรมการสมานฉันท์ ต้องแยกเรื่องผู้ชุมนุมที่เป็นเรื่องเฉพาะหน้าออกจากการแก้ไขในอนาคต อาจจะมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปติดตาม แต่การตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เป็นการมองไปในอนาคต
การที่ผู้ขัดแย้งไม่มาร่วมเป็นกรรมการจะเป็นปัญหาหรือไม่นั้น นายชวน กล่าวว่า ไม่ได้เป็นเงื่อนไขของเรา เพราะข้อเสนอของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จึงคิดรูปแบบมา 2 รูปแบบ ถ้าแบบที่มีผู้ชุมนุมอยู่ในคณะกรรมการทำไม่ได้ ก็เลือกรูปแบบที่ 2 ขณะนี้ขอให้รอการประสานบุคคลเพื่อขอความคิดเห็น ยังไม่สามารถตั้งคณะกรรมการได้ทันทีทันใด และเป้าหมายของเราต้องการให้คนที่เข้ามาร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาในประเทศ ไม่ใช่มาทะเลาะกัน
นายชวน กล่าวถึงความเป็นไปได้ที่จะไปพบกลุ่มเยาวชนเพื่อเชิญชวนให้เข้ามาร่วมกระบวนการสมานฉันท์ว่า แล้วแต่ใครที่เต็มใจก็จะไปคุยด้วย
ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอเอาใจช่วยเรื่องการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อหาทางออกของประเทศ ส่วนกรณีที่กลุ่มผู้ชุมนุมประกาศไม่เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า อย่าเพิ่งพูดอะไรในตอนนี้ เพราะอยู่ในขั้นตอนดำเนินการที่ต้องใช้ความพยายาม อาจได้ผลก็เป็นได้ และถ้าได้ผลในขั้นต้นก็คือมีตัวบุคคลมาพูดคุยกัน ได้ผลขั้นที่สอง คือสิ่งที่เป็นข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการชุดนี้ จึงต้องปล่อยให้ทุกคนทำงาน "อย่าเพิ่งติเรือทั้งโกลน ตีปี๊บ หรือเรือล่มเมื่อจอด ตาบอดเมื่อแก่ ซึ่งยังไม่ถึงขั้นนั้น เพราะฉะนั้นให้ทำไปก่อน" นายวิษณุ กล่าว
สำหรับโครงสร้างของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ จะต้องมีตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุมเข้าร่วมหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ควรรอให้สถาบันพระปกเกล้าออกแบบรูปแบบเสร็จก่อน เนื่องจากมีหลายส่วน ส่วนข้อเสนอของนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี อดีตรองนายกฯ ก็เป็นอีกสูตรหนึ่ง และทุกอย่างนั้นมีวิธีดำเนินการ
ในโลกนี้คนที่เป็นคู่ขัดแย้งมักจะมีการคิดและเสนอทางออกในลักษณะนี้มาหลายสูตรแล้ว แต่บังเอิญปัญหาของบ้านเราไม่เหมือนของต่างประเทศที่หากคนสองกลุ่มขัดแย้งกัน วิธีการแก้ปัญหาก็จะต่างกัน ซึ่งควรเริ่มต้นว่าใครขัดแย้งกับใคร และนายกฯ ก็เคยพูดมาตลอดว่า อยากจะเชิญมาพูดคุย แต่ไม่รู้จะเชิญใคร เพราะไม่รู้ว่าใครคืออีกฝ่ายหนึ่ง เพราะฉะนั้นเราจะพูดกับบุคคลที่อยู่เบื้องหน้าหรือที่อยู่เบื้องหลัง