พนักงานบริษัทกูเกิลมีอำนาจต่อรองมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปีนี้ ทั้งกรณีล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงาน และการล้มเลิกโครงการดรากอนฟลาย คาดการประท้วงอาจเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต
เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา พนักงานบริษัทกูเกิลกว่า 20,000 คนทั่วโลก ร่วมกันประท้วงบริษัทอย่างสันติด้วยการหยุดทำงานระหว่างวัน แล้วออกมารวมตัวกันหน้าสำนักงานกูเกิลกว่า 50 แห่งทั่วโลก ในการประท้วงที่เรียกว่า #GoogleWalkout เพื่อเรียกร้องให้บริษัทใช้วิธีจัดการกับการล่วงละเมิดทางเพศในสถานที่ทำงานอย่างถูกต้องและเป็นธรรม โดยสำนักงานใหญ่ที่เมาน์เทนวิวในแคลิฟอร์เนีย บริเวณห้องทำงานนายซันดา พิชัย ซีอีโอของกูเกิลนั้น มีพนักงานหยุดทำงานแล้วออกมารวมตัวกันด้านหน้าราว 4,000 คน
เหตุการณ์ดังกล่าวนับเป็นการประท้วงที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในวงการเทคโนโลยี สำหรับกูเกิลแล้ว นี่คือปรากฏการณ์ที่เสียงของพนักงานมีต่อความไม่ชอบธรรมในองค์กร ที่เริ่มดังขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หลังจากต้องทนเห็นพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของผู้บริหารระดับสูงต่อพนักงานชั้นผู้น้อย หรือแม้แต่ระหว่างพนักงานด้วยกันเอง ซึ่งนอกจากกรณีการล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงานแล้ว ล่าสุด พนักงานกูเกิลยังมีอำนาจต่อรองถึงขั้นที่สามารถล้มแผนของโครงการดรากอนฟลาย เทคโนโลยีกรองข้อมูลข่าวสารที่จำกัดการเข้าถึงของชาวจีนที่ทางกูเกิลแอบพัฒนาอย่างลับ ๆ ในจีนได้สำเร็จอีกด้วย
ความเคลื่อนไหวเช่นนี้ทำให้หลายฝ่าย หรือแม้กระทั่งตัวของพนักงานบริษัทผู้ร่วมประท้วงเอง ก็เกิดความประหลาดใจเช่นกัน ที่การรวมตัวของพวกเขามีน้ำหนักมากพอจะสร้างความเปลี่ยนแปลงในองค์กร เพราะแน่นอนว่า หลังการประท้วง ฝ่ายบริหารของกูเกิลก็มีการเปลี่ยนแปลงกฎภายในว่าด้วยการรับมือกับกรณีละเมิดทางเพศทันที ส่วนภารกิจดรากอนฟลายก็ถูกยุติลงในที่สุดเช่นกัน หลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลในการเข้าถึงข้อมูล ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ในกูเกิลอาจจะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะเสียงของพนักงานจะดังขึ้นอีกทีอย่างแน่นอนเมื่อเกิดความไม่เป็นธรรมขึ้น ไม่เพียงแต่กับกูเกิล แต่กับทั้งวงการเทคโนโลยี