สมาชิกรัฐสภานิวยอร์กผ่านร่างกฎหมายห้ามถอดเล็บแมว หากผู้ว่าฯ ลงนาม นิวยอร์กจะกลายเป็นรัฐแรกในสหรัฐฯ ที่แบนการถอดเล็บแมว
สมาคมมนุษยธรรมสหรัฐฯ หรือ Humane Society ชี้ว่า กระบวนการถอดเล็บแมวเพื่อป้องกันการข่วนนั้น ไม่ใช่เพียงการถอดเล็บของแมวออกเท่านั้น แต่ในกระบวนการจำเป็นจะต้องถอดกระดูกข้อสุดท้ายในแต่ละนิ้วของแมว เส้นเอ็น และกล้ามเนื้อบางส่วนออกด้วย ซึ่งทำให้ล่าสุดสมาชิกรัฐสภานิวยอร์ก ได้ทำการผ่านร่างกฎหมายห้ามถอดเล็บแมว และหากผู้ว่าการรัฐนิวยอร์กลงนาม นิวยอร์กจะกลายเป็นรัฐแรกในสหรัฐฯ ที่มีกฎหมายแบนการถอดเล็บแมวอย่างเป็นทางการ
เมื่อกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ การถอดเล็บแมวจะมีโทษปรับเป็นเงิน 1,000 ดอลลาร์ หรือราว 31,000 บาท โดยมีข้อยกเว้นให้ถอดเล็บแมวได้หากมีเหตุผลทางการแพทย์ เช่น เกิดการบาดเจ็บ ติดเชื้อ หรือมีเล็บเท้าผิดปกติซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพของแมวเท่านั้น ไม่รวมถึงการถอดเล็บเพื่อความสวยงาม หรือเพื่อป้องกันการข่วนจากแมว โดย ลินดา โรเซนธัล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรัฐนิวยอร์ก กล่าวกับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นว่า การถอดเล็บแมวส่งผลให้แมวรู้สึกไม่สบายตัว และเป็นอาการเจ็บปวดที่คงอยู่ไปตลอดชีวิต โดยก่อนหน้านี้เคยมีการเสนอกฎหมายลักษณะเดียวกันมาแล้วหลายวาระตั้งแต่ปี 2015
แอนดรูว์ โกวโม ตัวแทนผู้ว่าการนิวยอร์ก กล่าวกับสำนักข่าว AP ว่า ผู้ว่าการฯ จะทบทวนร่างกฎหมายอีกครั้งหนึ่งก่อนจะตัดสินใจว่าจะลงนามให้บังคับใช้หรือไม่ แม้ว่าบางเมืองในสหรัฐฯ เช่น เดนเวอร์ และซานฟรานซิสโก มีกฎการแบนการถอดเล็บแมวมาก่อนแล้ว แต่หากร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่าน นิวยอร์กจะกลายเป็นมลรัฐแรกในสหรัฐฯ ที่มีการแบนการถอนเล็บแมวในระดับมลรัฐ อย่างไรก็ตาม สมาคมสัตวแพทย์นิวยอร์กซึ่งมีสมาชิกสัตวแพทย์กว่า 2,000 ราย ก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า มีอีกหลายกรณีที่การถอดเล็บแมวนั้นจำเป็น เช่น ในกรณีที่เจ้าของแมวมีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ จึงไม่สามารถเสี่ยงที่จะติดเชื้อจากการถูกข่วนได้แม้แต่ครั้งเดียว และผู้สูงวัยที่ย้ายเข้าบ้านพักคนชราก็จำต้องถอดเล็บแมวเพื่อความปลอดภัยของผู้อาศัยคนอื่น ๆ ด้วย การแบนเช่นนี้ จะบีบให้เจ้าของแมวจำเป็นต้องทิ้งสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้น