นักลงทุนจีน 500 รายเดินทางเข้าไทยเยี่ยมชมเขตเศรษฐกิจอีอีซี โดยรัฐบาลไทย-จีนได้ทำบันทึกความเข้าใจ 17 ฉบับพร้อมชี้ว่า อีอีซีจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ผลิตสินค้าของจีนใน 5 ประเทศ โดยจะเชื่อมเข้ากับโครงการเส้นทางสายไหมใหม่ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาที่จีนถูกกีดกันทางการค้าจากสหรัฐฯ
นิกเกอิ เอเชียน รีวิว รายงานว่า การต้อนรับนักลงทุนจากจีนร่วม 500 รายครั้งนี้ ไทยมีเป้าหมายใหญ่เพื่อดึงการลงทุนจากจีน เพราะมุ่งหวังจะเชื่อมโยงเข้ากับโครงการเส้นทางสายไหมใหม่ของจีน หรือ One Belt, One Road เพื่อเข้าสู่ตลาดใหญ่ทางภาคใต้อีกด้าน โดยจีนคาดว่าจะอาศัยไทยเป็นฐานการผลิตมุ่งสู่ตลาดที่กำลังปกป้องตัวเองมากขึ้นอย่างสหรัฐฯ
ในช่วงของการเยือนดังกล่าว ไทยและจีนลงนามกันในข้อตกลงที่จะส่งผลให้มีการเชื่อมโยงการลงทุนในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี เข้ากับโครงการเส้นทางสายไหมใหม่ของจีน
ข่าวของนิกเกอิ เอเชียน รีวิว ระบุว่า การจับมือกันครั้งนี้ถือว่าให้ประโยชน์กับจีนอย่างมาก เพราะท่ามกลางบรรยากาศที่จีนกำลังมีปัญหาทางการค้ากับสหรัฐฯ การลงทุนนี้จะทำให้จีนสามารถส่งออกสินค้าที่ผลิตในไทยเข้าสู่สหรัฐฯ ได้ โดยไม่ต้องติดขัดในเรื่องมาตรการกำแพงภาษีการค้าที่รัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ นำมาใช้กับสินค้าของจีน
สแตนลีย์ กัง ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) แสดงความเห็นในประเด็นนี้ว่า สิ่งที่นักลงทุนของจีนกำลังแสวงหาในเวลานี้คือสถานที่ลงทุนนอกประเทศ และต้องเป็นสถานที่ที่มีความสามารถในการแข่งขันสูง เพื่อจะเลี่ยงผลกระทบจากสงครามการค้า ในขณะที่อีกด้านก็เพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับจีนในตลาดโลกไปด้วย
ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมของไทย นายอุตตม สาวนายน บอกว่า การทำบันทึกความเข้าใจร่วมไทย-จีนจะครอบคลุมโครงการที่จะทำให้เขตอีอีซีของไทยเป็นศูนย์กลางของการลงทุนทางอุตสาหกรรมในอนาคต พร้อมที่จะเชื่อมต่อเข้ากับเขตเศรษฐกิจพิเศษในประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม ซึ่งเรียกกันโดยรวมว่า CLMV ผ่านโครงสร้างพื้นฐานที่ได้จากการลงทุนในโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน และนายอุตตมยังได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า สินค้าที่ผลิตในเขตอุตสาหกรรมเหล่านี้จะถูกนำไปสู่พื้นที่ภาคใต้ของจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่มีผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก
นักลงทุนจีนและไทยจะลงนามในบันทึกความเข้าใจทั้งหมด 17 ฉบับด้วยกัน ครอบคลุมความร่วมมือตั้งแต่ในเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล การถ่ายโอนเทคโนโลยี การพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เรียกว่าเทคโนโลยีรุ่น 5 และในอุตสาหกรรมยานยนต์รุ่นถัดไป นอกจากนั้น นักลงทุนทั้งไทยและจีนยังจะเข้าร่วมในการเสวนามองอนาคตของเขตอีอีซีไทยที่ต้องการจะดึงนักลงทุนจีนเพิ่มเติมโดยเฉพาะ เพื่อให้เข้าร่วมลงทุนในโครงการต่อเนื่องในการเชื่อมเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจากกรุงเทพฯ ไปคุนหมิง ซึ่งขั้นตอนแรกของโครงการนี้เป็นการเชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพฯ กับนครราชสีมา ที่จะเริ่มก่อสร้างในเดือนธันวาคมนี้ โดยโครงการทั้งหมดคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2023 ซึ่งเส้นทางนี้จะช่วยย่นระยะเวลาในการเดินทางระหว่างกรุงเทพฯ ถึงคุนหมิงลงเหลือ 13-14 ชั่วโมง
อย่างไรก็ตาม นายอุตตมมองว่า การดึงดูดการลงทุนจากจีนมากขึ้นไม่ได้หมายความว่าไทยจะถูกครอบงำโดยจีน เพราะว่าการลงทุนของจีนจะต้องดำเนินการตามกฎหมายการลงทุนของไทยที่ควบคุมการลงทุนในเขตอีอีซี โดยเขาย้ำว่าประเด็นสำคัญไม่ใช่เรื่องของการครอบงำ แต่เป็นเรื่องของการเติบโตไปด้วยกัน และไม่ใช่แต่เพียงไทยกับจีนเท่านั้น แต่เป็นการเติบโตของทั้งภูมิภาค
รายงานของนิกเกอิ เอเชียน รีวิว ระบุว่า สำหรับจีนแล้ว การลงทุนในไทยเป็นการลดผลกระทบจากปัญหาการค้าที่มีกับสหรัฐฯ ในเวลานี้ และอ้างแหล่งข่าวในกระทรวงพาณิชย์ว่า เนื้อหาในบันทึกความเข้าใจที่จะลงนามกันนั้นจะเอื้อให้มีการร่วมมือกัน รวมถึงช่วยให้มีการลงทุนใหม่ ๆ ที่จะทำให้กิจการของจีนสามารถส่งออกสินค้าจากไทยไปยังตลาดสหรัฐฯ ได้สะดวกมากขึ้นกว่าสินค้าที่ผลิตในจีนเอง
โดยก่อนหน้าที่จะมีการต้อนรับกลุ่มนักลงทุนขนาดใหญ่จากต่างประเทศกลุ่มนี้ ไทยก็เคยรับนักลงทุนจากญี่ปุ่นจำนวน 600 รายมาแล้วเมื่อเดือน กันยายนปี 2550 ซึ่งข่าวระบุว่า จีนนั้นยกให้ไทยเป็นพื้นที่ลงทุนในต่างประเทศที่สำคัญเป็นอันดับสาม รองลงมาจากญี่ปุ่นและสิงคโปร์ โดยในปี 2550 การลงทุนจีนในไทยมีมูลค่ารวม 27,500 ล้านบาท