Trending Now 19 กุมภาพันธ์ 2561
Microsoft เปิดตัวแอปฯ ถ่ายโอนรูปภาพคล้าย Airdrop
หลายคนที่ใช้งานคอมพิวเตอร์พีซีระบบปฏิบัติการวินโดวส์คงเคยเจอปัญหาเวลาจะถ่ายโอนข้อมูลรูปภาพจากสมาร์ตโฟนมายังคอมพิวเตอร์ จะต้องใช้สายเชื่อมต่อ หรือใช้แฟรชไดรฟ์ก๊อบปี้กันให้วุ่นวาย ล่าสุดไมโครซอฟต์ออกมาแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการ เปิดตัวแอปพลิเคชัน 'Photos Companion' ที่จะเข้ามาช่วยถ่ายโอนข้อมูลรูปภาพระหว่างพีซีและสมาร์ตโฟนผ่านการเชื่อมต่อแบบไวเลส คล้ายกับการทำงานของ 'AirDrop' ระบบถ่ายโอนไฟล์ระหว่างอุปกรณ์ต่าง ๆ ของแอปเปิล
ผู้ใช้สามารถเริ่มต้นการใช้งานได้โดยการสแกนคิวอาร์โค้ดจากแอปพลิเคชันบนวินโดวส์ 10 แล้วระบบจะเชื่อมต่อมือถือเข้ากับพีซีให้ผู้ใช้ถ่ายโอนไฟล์รูปภาพได้ทันที ทั้งนี้อุปกรณ์ทั้งคู่จะต้องเชื่อมต่อระบบไวไฟเครือข่ายเดียวกันด้วย ไมโครซอฟต์บอกว่าแอปพลิเคชันดังกล่าว เข้ามาช่วยแก้ปัญหาการแชร์ไฟล์ภาพที่ยุ่งยาก ซึ่งเป็นปัญหาที่ผู้ใช้งานระบบปฏิบัติการวินโดวส์เผชิญเรื่อยมา ซึ่งความแตกต่างของแอปพลิเคชัน Photos Companion ที่โดดเด่นกว่า Airdrop คือ สามารถใช้งานได้ทั้งสมาร์ตโฟนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์และไอโอเอสนั่นเอง
Hacker ขุดเหมืองสกุลเงินดิจิทัลผ่านแอปฯ ใน Google Play Store
'Sophos' บริษัทรักษาความปลอดภัยทางคอมพิวเตอร์ รายงานว่าพบ 19 แอปพลิเคชันในกูเกิลเพลย์สโตร์ของระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ เข้าข่ายเป็นแอปพลิเคชันที่คอยขุดเหมืองสกุลเงินดิจิทัล 'โมเนโร' แบบที่เราไม่รู้ตัว โดยรายงานระบุว่าค้นพบ 'คอยน์ไฮฟ์-เบส' ตัวขุดเหมืองสกุลเงินดิจิทัลที่ฝังอยู่ในกูเกิลเพลย์สโตร์ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งแอปพลิเคชันที่มี 'คอยน์ไฮฟ์' แฝงอยู่ จะฝังคำสั่งเพื่อลักลอบขุดเหมืองสกุลเงินดิจิทัลผ่านอุปกรณ์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต และเป็นสาเหตุทำให้เครื่องช้าลงและร้อนขึ้น เนื่องจาก CPU ทำงานสูงขึ้นผิดปกติ
นอกจากนี้ ยังมีรายงานจาก 'มัลแวร์ไบต์' โปรแกรมแอนตีไวรัส ที่ค้นพบว่ามีมัลแวร์ที่สามารถขุดเหมืองสกุลเงินดิจิทัลบนอุปกรณ์แอนดรอยด์ได้โดยไม่ต้องผ่านแอปพลิเคชันใด ดังนั้นทาง Sophos จึงแนะนำให้ผู้ใช้งานระวังการติดตั้งแอปพลิเคชันที่ไม่ใช่มาตรฐานจากทางสโตร์ เพื่อลดโอกาสเสี่ยงที่จะทำให้สมาร์ตโฟนของผู้ใช้งานติดมัลแวร์และกลายเป็นเครื่องขุดเหมืองแบบไม่รู้ตัว
Electronic Skin แสดงการเต้นของหัวใจผ่านมือได้
ก่อนหน้านี้มีข่าวการคิดค้นผิวหนังเทียมหรือ อี-สกิน ที่เตรียมจะนำมาใช้งานกับหุ่นยนต์ไปแล้ว ล่าสุดนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโตเกียว กำลังซุ่มพัฒนาอี-สกิน อิเล็กทรอนิกส์ ที่ไม่ใช่แค่ตรวจสุขภาพเพียงอย่างเดียว แต่ยังสามารถตรวจวัดสัญญาณชีพจรของหัวใจและแสดงผลแบบเรียลไทม์บนหลังมือได้ด้วย โดยเทคโนโลยีอี-สกินนี้เป็นการผสมผสานของการถักทออิเล็กโทรด หรือขั้วไฟฟ้า ระดับนาโน และความยืดหยุ่นของไมโครแอลอีดีที่จะช่วยให้แสดงรูปภาพอย่างง่ายบริเวณหลังมือหรือจุดที่เซนเซอร์สามารถตรวจจับได้ อีกทั้งยังเชื่อมต่อกับสมาร์ตโฟนและส่งข้อมูลขึ้นคลาวน์ได้อีกด้วย
Dai Nippon Printing บริษัทผู้พัฒนาอี-สกิน คาดว่าจะผลิตอี-สกินนี้ให้ใช้งานได้จริงภายใน 3 ปี และอาจจะเป็นประโยชน์สำหรับการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน ทำให้คนในบ้านสามารถทราบสถานะสุขภาพของสมาชิกในครอบครัวและช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที โดยไม่ต้องสวมใส่อุปกรณ์ขนาดใหญ่ที่ต้องมีการตรวจสอบอย่างใกล้ชิด