ความคืบหน้าในการเตรียมงานโอลิมปิกฤดูร้อนของกรุงโตเกียวกัน ล่าสุด ได้เริ่มเปิดรับอาสาสมัครกว่า 1 แสนคนแล้ว และมีการออกมายืนยันด้วยว่าจะไม่ใช้แผนการปรับเวลาออมแสง หรือ Daylight Saving เพราะมีอุปสรรคหลายข้อ
'โตเกียว เกมส์ 2020' หรือ โอลิมปิกฤดูร้อนกรุงโตเกียว เริ่มเปิดตัวอาสาสมัครที่จะให้บริการในงานแล้ว เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีตำแหน่งงานตั้งแต่ผู้เชิญเหรียญรางวัล ไปจนถึงไกด์แนะนำนักท่องเที่ยวตามสนามบิน รวมทั้งสิ้น 110,000 ตำแหน่ง ซึ่งทางการท้องถิ่นกรุงโตเกียวและคณะกรรมการจัดโอลิมปิกหวังจะสามารถรวบรวมอาสาสมัครได้ครบภายในเดือนธันวาคมนี้
แม้ว่าชาวญี่ปุ่นส่วนหนึ่งจะตื่นเต้นดีใจที่กรุงโตเกียวจะเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก และรวมถึงพาราลิมปิกด้วย แต่อีกส่วนก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ข้อกำหนดในการเป็นอาสาสมัครที่ค่อนข้างเข้มงวด เนื่องจากมีการกำหนดให้อาสาสมัครแต่ละคนต้องประจำการอย่างต่ำ 10 วัน วันละ 8 ชั่วโมง และ 5 วัน วันละ 5 ชั่วโมง ขึ้นกับตำแหน่งงาน ซึ่งผู้ที่ไม่พอใจข้อกำหนดดังกล่าวให้เหตุผลว่า การกำหนดเช่นนี้เป็นการบั่นทอนความตั้งใจดีของผู้ที่อยากช่วยเหลือ
ทั้งนี้ ตำแหน่งอาสาสมัคร 110,000 อัตรา จะแบ่งฝ่ายดูแลการแข่งขัน สถานที่ และนักกีฬา 80,000 อัตรา ที่เรียกรับโดยคณะกรรมการจัดการแข่งขัน ตำแหน่งส่วนนี้ต้องประจำการอย่างต่ำ 10 วัน วันละ 8 ชั่วโมง
ขณะที่ อีก 30,000 อัตรา จะรับหน้าที่ดูแลนักท่องเที่ยวและผู้ชม จากทั้งในและต่างประเทศ เรียกรับโดยทางการกรุงโตเกียว ส่วนนี้ประจำการอย่างต่ำ 5 วัน วันละ 5 ชั่วโมง โดยที่อาสาสมัครทุกคนต้องเป็นชาวญี่ปุ่น หรือมีใบอนุญาตพำนักในญี่ปุ่นเท่านั้น และต้องมีทักษะการสื่อสารญี่ปุ่นขั้นพื้นฐานเป็นอย่างน้อย
นอกจากนี้ ทุกตำแหน่งต้องเกิดก่อนหรือไม่ช้ากว่า 1 เมษายน 2002 หรือก็คือต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไปในช่วงที่ปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งเมื่อสมัครแล้ว จะมีการเรียกสัมภาษณ์ ปฐมนิเทศ และอบรมการทำงาน ก่อนจะจะคัดเลือกและระบุตำแหน่งต่อไป โดยจะประกาศขั้นสุดท้ายช่วงเดือนมีนาคม 2020
ผู้จัดการคาดหวังให้อาสาสมัครเหล่านี้มาเข้าร่วมระหว่างช่วงเก็บตัวนักกีฬา เพื่อความเคยชินกับสถานที่และระบบ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2020 ก่อนจะเริ่มงานจริงในเดือนกรกฎาคม โดยจะมีเครื่องแบบและมื้ออาหารให้ทั้งหมด และหลังจากที่ถูกประชาชนวิจารณ์อย่างหนักมาแล้ว คณะกรรมการจัดโอลิมปิกก็ยังจะเพิ่มสวัสดิการบัตรเงินสด 1,000 เยน หรือคิดเป็น 285 บาท ต่ออาสาสมัคร 1 คนต่อวัน เพื่อใช้เป็นค่าเดินทางด้วย ซึ่งส่วนนี้ไม่ครอบคลุมไปยังอาสาสมัครของทางการกรุงโตเกียว แต่ทางการกำลังดำเนินการให้อาสาสมัครในความดูแลได้รับสวัสดิการในระดับเทียบเท่ากันต่อไป
ขณะที่อีกประเด็นร้อนที่เพิ่งมีการยืนยันออกมาก็คือ การประกาศไม่ใช้มาตรการปรับเวลาออมแสง หรือ Daylight Saving 2 ชั่วโมง ตามที่มีผู้เสนอแนะ เนื่องจากอากาศช่วงที่มีการแข่งขันค่อนข้างร้อนจัด และอาจเป็นอันตรายต่อนักกีฬา โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักวิ่งมาราธอน ที่ต้องออกแรงต่อเนื่องเป็นเวลานาน โดยในปีนี้ มีผู้เสียชีวิตจากคลื่นความร้อนในญี่ปุ่นอย่างน้อย 120 ราย
อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์ส ชี้ว่า 3 ใน 4 ของบริษัทญี่ปุ่นออกมาต่อต้านแนวทางดังกล่าว โดยระบุว่าเป็นเรื่องยากที่จะปรับระบบคอมพิวเตอร์และการปรับเวลาจะเป็นการรบกวนการใช้ชีวิตของประชาชนอย่างยิ่ง ซึ่งญี่ปุ่นถือเป็นหนึ่งในประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ไม่กี่ประเทศที่ไม่ใช้ Daylight Saving ในช่วงฤดูร้อน ซึ่งนอกจากนี้ ประเทศที่ไม่ปรับเวลายังมีเกาหลีใต้ ไอซ์แลนด์ และตุรกี
ทั้งนี้ ทางการญี่ปุ่นยังไม่ได้ล้มเลิกแผนปรับเวลาเสียทีเดียว และจะมีการหารือเชิงลึกถึงความเป็นไปได้กันอีกครั้ง แต่เบื้องต้น นายโทชิอากิ เอ็นโดะ อดีตรัฐมนตรีและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอาวุโส และปัจจุบันรับหน้าที่รองประธานคณะกรรมการจัดโอลิมปิก ให้ความเห็นว่า แม้ตัวเขาจะอยากปรับเวลาตามมาตรฐานสากล แต่ในทางปฏิบัติมันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เนื่องจากการพึ่งพาระบบคอมพิวเตอร์ทำให้การปรับเลื่อนเวลาจากเวลาจริงเป็นเรื่องยุ่งยาก
สำหรับปัญหาเรื่องความร้อนนั้น เอ็นโดะกล่าวว่า ทีมงานจะพิจารณาปรับเวลาการแข่งขันกีฬาบางชนิดอีกครั้ง เพื่อให้เหมาะสมต่อร่างกายนักกีฬามากที่สุด ขณะที่ นายฮิโรฟุมิ นากาโซเนะ ส.ส. ที่สนับสนุน Daylight Saving ให้ความเห็นว่า การปรับเวลาจะทำให้ญี่ปุ่นมีมาตรฐานเป็นสากล และน่าจะช่วยประหยัดไฟฟ้าได้ในระยะยาว ตลอดจนลดอุบัติเหตุ และอัตราการเกิดอาชญากรรมบนท้องถนนลงได้ด้วย
ก่อนหน้านี้ เกาหลีใต้เคยปรับเวลาย้อนไป 1 ชั่วโมง ในปี 1987 และ 1988 เมื่อเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกมาแล้ว และหลังจากงานดังกล่าวก็ได้ปรับเวลากลับไปเป็นอย่างเดิม