สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ อนุญาตให้ใช้ 'ระเบิดไซยาไนด์' กลับมาใช้ได้อีกครั้ง เพื่อกำจัดสัตว์ที่บุกรุกพื้นที่เกษตรของประชาชน ท่ามกลางเสียงประท้วงจากกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐ (EPA) อนุญาตให้นำระเบิดกับดักประเภท M-44s ซึ่งเป็นกับดักสารเคมีผสมโซเดียมไซยาไนด์กลับมาใช้ เพื่อกำจัดสัตว์ป่าที่เข้ามาบุกรุกพื้นที่เกษตรของประชาชนอีกครั้ง
ทั้งนี้ ระเบิดไซยาไนด์เป็นอาวุธที่ทางหน่วยงานของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ นำมาใช้บ่อยที่สุด เพื่อกำจัดสัตว์ป่าจำนวนมากในแต่ละปี โดยยึดผลประโยชน์เอกชนเป็นหลัก
ทาง EPA ชี้แจงว่า กับดักระเบิดไซยาไนด์นั้นนำมาป้องกันสัตว์ป่าทั้งหมาป่า สุนัขจิ้งจอกและสุนัขที่ดุร้ายไม่ให้เข้ามาทำร้ายปศุสัตว์ที่ประชาชนเลี้ยงในพื้นที่กสิกรรม
อย่างไรก็ตาม กลุ่มนักเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมวิจารณ์ว่าระเบิดดังกล่าวสามารถทำอันตรายต่อคนและสัตว์เลี้ยงอื่นๆ ได้เช่นกัน เช่น เมื่อปี 2560 กับดักระเบิดไซยาไนด์ระเบิดในไอดาโอ เป็นผลให้สุนัขเลี้ยงของประชาชนวัย 14 ปีถูกระเบิดตาย
ในปี 2561 รายงานของหน่วยงานด้านสัตว์ป่าของสหรัฐฯ ระบุว่า มีสัตว์ป่ากว่า 6,500 ตัวเสียชีวิตด้วยระเบิดไซยาไนด์ ซึ่งรวมไปถึงตัวบีเวอร์ถึงหมีดำ หมาป่า เป็ดและนกฮูก ขณะที่ในปี 2560 มีสัตว์ถูกฆ่าด้วยระเบิดไซยาไนด์กว่า 13,200 ตัว และมีมากกว่า 200 ตัวที่ถูกฆ่าโดยไม่เจตนา
อย่างไรก็ตาม ในบางรัฐอย่างรัฐโอเรกอนและรัฐโคโลราโดก็ประกาศห้ามใช้ระเบิดไซยาไนด์ชั่วคราว ขณะที่ในรัฐไวโอมิงจำกัดวันที่สามารถใช้ระเบิดชนิดนี้ได้เฉพาะวันพฤหัสเท่านั้น หลังจากที่ได้รับแรงกดดันจากนักเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมที่ออกมาโต้แย้งถึงความไม่จำเป็นในการฆ่าสัตว์ป่าเหล่านี้ที่เข้ามาคุกคามไร่เกษตรกรรมของประชาชน