รายการ Talking Thailand ประจำวันที่ 14 สิงหาคม 2563
“คณะจุฬา – Spring Movement” ไม่หวั่นอำนาจมืดในมหาวิทยาลัย ที่จู่ๆ ก็ห้ามใช้พื้นที่ตามที่ขอจัดชุมนุม #เสาหลักจะไม่หักอีกต่อไป แถมงานนี้ยังมีอาจารย์นิติศาสตร์ ยืนเคียงข้าง ชี้! มหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่สาธารณะ ต้องเปิดให้นักศึกษาชุมนุม กลุ่มอาจารย์นิติฯ ย้อนเจ็บ! ก็เหมือนตอนเปิดรับ กปปส. ปี 57 ไง
สุดท้ายคณะนิสิตฯ ยึดพื้นที่ใต้ตึกคณะอักษรฯ มา “ไล่ประยุทธ์” กันเพียบ!
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการหารือระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนางซาราห์ เทย์เลอร์ (H.E. Mrs.Sarah Taylor) เอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย มีทั้งประเด็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับทวิภาค ระดับภูมิภาค ความร่วมมือในการรับมือโควิด โดยทูตฯ แคนาดา ชื่นชมนายกฯ ในการออกแถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจฯ เมื่อ 13 ส.ค. 63 ทำให้เข้าใจแนวทางการทำงานของรัฐบาลในอนาคต และชื่นชมจุดยืน พล.อ.ประยุทธ์ ที่ประกาศรับฟังความคิดเห็นคนรุ่นใหม่ มองเยาวชนเป็นศูนย์กลาง เช่นเดียวกับนายจัสติน ทรูโด ที่ให้ความสำคัญกับบทบาทของคนรุ่นใหม่ อันเป็นอนาคตและกำลังสำคัญของประเทศ
แต่ในขณะที่สำนักบริหารกิจการนิสิตจุฬาลงกรณ์ฯ ออกประกาศ ไม่อนุมัติให้จัดกิจกรรมภายในพื้นที่มหาวิทยาลัย ตามที่กลุ่มคณะจุฬาฯ และสปริงมูฟเมนต์ ขออนุญาต อ้างว่าผู้ขออนุญาตจัดส่งหนังสือขออนุญาตจัดกิจกรรมในระยะเวลาที่กระชั้นชิดมาก ทำให้ไม่สามารถประสานงานหน่วยงานภายในและภายนอกที่เกี่ยวข้องตามที่แจ้งขอได้ทันกำหนดเวลา ด้วยความห่วงใยสวัสดิภาพและความปลอดภัยของนิสิตตลอดจนประชาคมจุฬาฯ จึงยังไม่อาจอนุญาตให้จัดกิจกรรมได้
แต่ขอแสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่า สนับสนุนการทำกิจกรรมเพื่อพัฒนานิสิตภายในพื้นที่มหาวิทยาลัยเสมอ โดยกิจกรรมต้องอยู่ภายใต้กรอบแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย รวมทั้งรักษาไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน และได้รับอนุญาตจากมหาวิทยาลัย
ทำให้คณาจารย์ คณะนิติศาสตร์ 14 คน ลงชื่อพร้อม ออกแถลงการณ์ว่านิสิตจุฬาฯ มีสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ รวมทั้งเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองและการชุมนุมโดยสงบตามที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 34 และมาตรา 44
จุฬาฯ ในฐานะหน่วยงานของรัฐ มีหน้าที่เคารพสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ต้องส่งเสริมมิใช่ปิดกั้นหรือจำกัดการแสดงออก ร้อมกับเลือกใช้มาตรการที่เหมาะสมเพื่อรักษาความปลอดภัยแก่ผู้ชุมนุม และพื้นที่จุฬาฯ ถือเป็นพื้นที่หน่วยงานรัฐ ที่เคยเปิดให้มีการชุมนุมสาธารณะบ่อยครั้ง อาทิ การชุมนุมของกลุ่มจุฬาฯ รักชาติ เมื่อเดือนมีนาคม 2557
“มหาวิทยาลัยควรเป็นพื้นที่เสรี สนับสนุนการแสดงออกทางความคิดและการถกแถลง อันเป็นรากฐานแห่งความก้าวหน้าของศาสตร์วิทยาการต่างๆ ด้วยเหตุนี้ กลุ่มข้าพเจ้าจึงคัดค้านการไม่อนุมัติให้จัดกิจกรรมดังกล่าว”
ต่อมา กลุ่ม ‘Spring Movement’ นัดหมายจัดกิจกรรม ‘เสาหลักจะหักเผด็จการ‘ เวลา 16.00 น. บริเวณลานพระบรมรูป 2 รัชกาล ย้ายจากจุดนัดหมายเดิม คือ สนามจุ๊บ หรือ สนามกีฬาจุฬาฯ หลังเกิดปัญหาการใช้สถานที่ โดยผู้จัดยืนยันเดินหน้ากิจกรรมแม้ทางมหาวิทยาลัยไม่อนุญาต
ต่อมา 15.30 น. มีฝนตกหนัก ผู้จัดกิจกรรมแจ้งเลื่อนการชุมนุมเป็น 17.00 น. ที่ใต้อาคารมหาจักรีสิรินธร คณะอัษรศาสตร์ โดยประกาศขอใช้สถานที่ต่อนิสิตที่กำลังนั่งอ่านหนังสือและทำกิจกรรม ทุกคนให้ความร่วมมือ ช่วยกันย้ายโต๊ะเก้าอี้ จากนั้นผู้จัดเริ่มตั้งเวทีบริเวณโถงดังกล่าวอย่างรวดเร็ว ท่ามกลางนิสิต และกลุ่มนักเรียนมัธยมที่รอเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก