ปัจจุบัน แพทย์แผนจีน เช่น การฝังเข็มรักษาโรค ยังไม่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในซีกโลกตะวันตก เพราะไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มายืนยันว่ารักษาได้ผลจริง แต่ล่าสุด นักวิทยาศาสตร์จีนได้ค้นพบกลไกการออกฤทธิ์ของการฝังเข็ม ซึ่งอาจจะช่วยให้มีผู้สนใจหันมารักษาแนวทางนี้มากขึ้น
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฟู่ตั้น (Fudan) และถงจี่ (Tongji) ตีพิมพ์ผลการค้นคว้าครั้งสำคัญที่ระบุกลไกการออกฤทธิ์ของการฝังเข็ม และการแพทย์แผนจีนได้สำเร็จ โดยใช้วิธีการศึกษาหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นทางทฤษฏี เทคโนโลยี กลศาสตร์ทางสรีรวิทยา และไบโอเคมี
โดยผลการวิจัยดังกล่าวชี้ว่า จุดฝังเข็มเป็นศูนย์รวมของแมสต์เซลล์ (mast cells) ซึ่งเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่ง ที่มีหน้าที่ป้องกันเชื้อโรค และเมื่อถูกกระตุ้นด้วยเข็ม เซลล์เหล่านี้ก็จะผลิตสารคัดหลั่งและกระจายความร้อน ซึ่งไปช่วยกระตุ้นเส้นเลือดฝอยและเส้นประสาทในบริเวณจุดที่ฝังเข็มได้เช่นกัน
ผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่า การแพทย์แผนจีนไม่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก เนื่องจากไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มารองรับว่าการรักษาแขนงนี้ได้ผลจริง แต่การศึกษาถึงหลักการและกลไกการรักษาในแบบแผนจีนช่วยทำให้การแพทย์แผนจีนได้มาตรฐานมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เกิดการพัฒนาการฝังเข็มในแนวทางวิทยาศาสตร์ เพื่อรักษาโรคให้หลากหลายต่อไปในอนาคต
โดยผู้ร่วมวิจัยมองว่า การรักษาในแนวทางตะวันตกให้ความสำคัญกับการยับยั้งโรคเท่านั้น ขณะที่แพทย์แผนจีนจะให้ความสำคัญกับการไหลเวียนและการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย