พรรคใต้เตียง มธ. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ คณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ จัดเสวนาเนื่องในวันรัฐธรรมนูญ "ฝ่าวิกฤตรัฐธรรมนูญ 2560" ว่าด้วยความจำเป็นที่จะต้องแก้ไข และความเป็นไปได้ที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้
รองศาสตราจารย์ ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ระบุว่า รัฐธรรมนูญปัจจุบันไม่ชอบธรรมทั้งที่มาและเนื้อหา เป็นการเอาระบบรัฐประหารฝังไว้ในรัฐธรรมนูญ และแก้ไขไม่ได้ในทางปฏิบัติ โดยมองว่า หัวใจรัฐธรรมนูญปี 2560 คือการสร้างระบบรัฐธรรมนูญคู่ขนาน ผ่านมาตรา 44 กับทำให้การรัฐประหารชอบธรรม ทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคต ผ่านมาตรา 279 ที่ให้อำนาจหัวหน้าคณะรัฐประหารเหนือรัฐธรรมนูญ
พร้อมเสนอว่า ในอนาคตจะต้องยกเลิกมาตรา 279 เพื่อทำให้คำสั่งของหัวหน้า คสช.ไม่มีเกราะคุ้มกัน ให้นำสู่การตรวจสอบคำสั่งต่างๆ เพื่อทบทวนยกเลิกหรือเปลี่ยนรูปให้เป็นกฎหมายในระบบปกติ กระทั่งเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากคำสั่ง คสช. นอกจากนี้ยังต้องลบล้างผลพวงรัฐประหาร ด้วยการประกาศให้การรัฐประหารเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2557 เป็นโมฆะไป ดังเช่นหลายประเทศที่ดำเนินการลงโทษคณะรัฐประหารมาแล้ว
จากนั้นนำสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร.ผ่านการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญปี 2560 เปิดทางให้มี ส.ส.ร.ได้ เพื่อสร้างรัฐธรรมนูญที่ได้รับฉันทามติจากประชาชนทั่วทั้งประเทศ ไม่ใช่ออกแบบมาเพื่อแก้แค้นเอาคืนฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองอย่าง หลายฉบับที่ผ่านมา
รองศาสตราจารย์ โภคิน พลกุล แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ปัญหาในสังคมไทยจะไม่จบสิ้น ถ้าไม่แก้วงจรอุบาทว์หรือการรัฐประหาร ที่นิรโทษกรรมให้ตัวเองแล้วศาลก็รับรองความชอบธรรม โดยมองว่า สังคมไทยรวมถึงสถาบันศาล ถูกครอบงำจากวัฒนธรรมอำนาจนิยมที่เป็นต้นตอปัญหาทุกอย่าง ขณะที่การจะแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ตามช่องทางที่รัฐธรรมนูญกำหนด ไม่สามารถทำได้โดยง่าย หากยังมี ส.ว.แต่งตั้งอยู่การแต่งตั้ง อย่างไรก็ตามทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องแก้ไขมาตรา 279 ที่คณะรัฐประหารนิรโทษกรรมให้ตัวเองก่อนเป็นอันดับเเรก แต่ที่สำคัญที่สุด คือ ศาลต้องยืนข้างประชาชนและประชาธิปไตย อย่ายอมรับความชอบธรรมของการรัฐประหารอีกต่อไป
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่ารัฐธรรมนูญตามหลักสากล ต้องอยู่บนพื้นฐาน 3 ประการคือหลักประชาธิปไตย หลักสัญญาประชาคมและหลักการควบคุมหรือจำกัดการใช้อำนาจรัฐ ซึ่งจะทำให้รัฐธรรมนูญมีประสิทธิภาพและยังส่งผลต่ออายุการบังคับใช้ด้วย ขณะที่รัฐธรรมนูญไทยหลายฉบับบังคับใช้ไม่ได้ยาวนาน เฉลี่ยฉบับละ 4 ปีเท่านั้น เนื่องจากไม่เคยอยู่บนแนวคิดพื้นฐาน 3 ประการข้างต้น