ช่วงหลังมานี้ กระแสปั่นจักรยานเริ่มซาลงแล้ว ธุรกิจนำเข้าจักรยานมือสองก็ไม่คึกคักเท่าแต่ก่อนแล้ว ช่วง CEO Insight วันนี้เราจะไปดูกันว่า คลังจักรยานมือสองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยอย่าง คลัง 9 ต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง
คลัง 9 ท่าเฮียกวงถือเป็นธุรกิจที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายปี และต้องปรับตัวหลายครั้ง เพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ คุณธนวัฒน์ วีระสมเกียรติ กรรมการผู้จัดการคลัง 9 เล่าว่า เดิมทีพื้นที่ตรงนี้เป็นเพียงไร่ข้าวโพด แต่เกิดแนวคิดว่า อยากจะมีท่าเรือและคลังสินค้าเป็นของตัวเองจึงได้เกิดคลัง 9 ขึ้นมา
จักรยานที่นำเข้ามาจำนวนมหาศาลนี้ จะถูกอัดมาในตู้คอนเทนเนอร์ แต่เมื่อจักรยานมาถึง จะยังไม่สามารถขี่ได้เลย ต้องซ่อมแซมสับเปลี่ยนอะไหล่ก่อนจะนำมาขาย หากเป็นตู้ที่จะนำมาขายในไทย ร้านที่ตั้งอยู่นับสิบร้านในบริเวณคลัง 9 ก็จะเป็นผู้ซ่อมแซมเอง แต่หากเป็นตู้ที่จะส่งไปที่เมียนมาต่อก็จะส่งเหมาไปทั้งตู้ แล้วร้านฝั่งนั้นก็จะจัดการซ่อมแซมแล้วขายต่อ
ในช่วงปี 2010 - 2015 เป็นช่วงที่ยอดขายจักรยานมือสองเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากกระแสรักสุขภาพและการออกกำลังกายมาแรง รวมถึงกระแสรักษ์โลกลดมลภาวะ มีความกะตือรือร้นจากภาครัฐในการสร้างทางจักรยาน ทำให้มีการนำเข้าจักรยานมือสองนับล้านคัน มูลค่าหลายร้อยล้านบาท
ช่วง ปี 2015 ที่มีกิจกรรม Bike For Mom และ Bike For Dad ปั่นจักรยานเฉลิมพระเกียรติ ทำให้คนทั่วไปและหน่วยงานราชการมาเหมาจักรยานมือสองไปเป็นจำนวนมาก จากปกติขายจักรยานได้ประมาณวันละ 300 - 400 คัน เพิ่มขึ้นเป็นวันละประมาณ 1,000 คัน
นอกจากเทรนด์ที่เปลี่ยนไปแล้ว ธุรกิจคลังสินค้าบริเวณท่าข้ามก็จำเป็นต้องปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย อยู่ตลอดเวลา ล่าสุด ก็เพิ่งจะมีการออกพระราชบัญญัติศุลกากรฉบับใหม่เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่าน มา ที่ระบุว่า สินค้าผ่านแดนที่นำออกไปภายใน 30 วัน ผู้ประกอบการจะไม่ต้องเสียภาษีอากร ทำให้ช่วงที่ผ่านมา คลังค่อนข้างเงียบเหงา จะเห็นได้ว่า ความเปลี่ยนแปลงที่จะกระทบกับธุรกิจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นกระแสความนิยมในหมู่ผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หรือกฎหมายที่ปรับเปลี่ยนไปมา หากธุรกิจไม่สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ก็อาจทำให้ธุรกิจอาจล้มไปพร้อมกับกระแสที่ซาลงไป ไม่เหมือนกับคลัง 9 ท่าเฮียกวง ที่สามารถปรับตัวเพื่อให้ผ่านพ้นอุปสรรคต่างๆมาได้จนถึงปัจจุบัน