งานวิจัยชี้ กลุ่มตัวอย่างเต่าทะเลที่นำมาศึกษาทุกตัวมีขยะพลาสติกขนาดเล็กอยู่ในท้อง
งานวิจัยล่าสุดจากมหาวิทยาลัยเอ็กซเตอร์ ร่วมกับห้องทดลองทางทะเล พลีมัท มารีน ในอังกฤษ และศูนย์วิจัยขององค์กรกรีนพีซ ซึ่งเพิ่งตีพิมพ์ในวารสารชีววิทยา 'โกลบอล เชนจ์ ไบโอโลจี' ระบุว่า จากการตรวจร่างกายเต่าทะลทั้ง 7 สายพันธุ์ รวมกว่า 100 ตัว จากมหาสมุทรแอตแลนติก แฟซิฟิก และทะเลเมดิเตอร์เรเนียน พบว่าทุกตัวมีไมโครพลาสติก หรือ เม็ดพลาสติกขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร อยู่ภายในท้อง
ทั้งนี้ นักวิจัยพบว่ามีสารสังเคราะห์และสิ่งแปลกปลอมในเต่าทะเลกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดรวมกว่า 800 ชิ้น ซึ่งเต่าทะเลในธรรมชาติอาจมีสัดส่วนสิ่งแปลกปลอมมากกว่านี้ราว 20 เท่า เนื่องจากการเก็บข้อมูลครั้งนี้ตรวจดูในช่องท้องเพียงบางส่วนเท่านั้น โดยเต่าทะเลทั้งหมดที่นำมาตรวจ มาจากซากริมทะเลหรือที่ตายเพราะติดอวนชาวประมง
เมื่อพิจารณาสิ่งแปลกปลอมในตัวเต่าทะเลที่พบ สามารถแบ่งได้เป็น ยางรถยนต์ บุหรี่ เสื้อผ้า และอุปกรณ์ดำน้ำ ซึ่งรวมถึงเชือกและตาข่ายจับปลาด้วย ซึ่งน่านน้ำที่มีการปนเปื้อนหรือมีสิ่งแปลกปลอมมากที่สุดจากทั้งหมดที่เก็บข้อมูล คือ ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน แม้จะไม่มีตัวเลขเชิงเปรียบเทียบที่ชี้ชัดได้ก็ตาม ขณะที่ มีประมาณการขยะพลาสติกในทะเลทั่วโลก ว่าอยู่ในช่วง 4.8 ถึง 12.7 ล้านตัน