30 เม.ย. 61 ดิเรกเสวนา และ สำนักพิมพ์ bookscape เปิดตัวหนังสือ ประชานิยม: ความรู้ฉบับพกพา (Populism: A Very Short Introduction) ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์)
ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการ ผู้แปล “ประชานิยม: ความรู้ฉบับพกพา” กล่าวว่า ชนชั้นกลางล่างไทยกลายเป็นเสียงข้างมากสุดของประชากรในเมืองไทยคือ 36 เปอร์เซ็นต์ โดยกลุ่มคนจนไม่ใช่คนส่วนใหญ่เพราะมีประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ ส่วนคนชั้นกลางระดับบนในกรุงเทพก็ 15 เปอร์เซ็นต์เช่นกัน สำหรับคนรวย 3.3 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น ถ้าแยกประชากรตามฐานชนชั้นก็เข้าใจได้ว่าทำไมพรรคไทยรักไทย หรือพรรคของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร จึงชนะการเลือกตั้ง เพราะสร้างแนวนโยบายเอื้อเฟื้อคนชั้นกลางระดับล่าง เช่น กองทุนหมู่บ้านละล้าน เป็นการให้โอกาส โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นการให้ความมั่นคง ขณะที่คนชั้นกลางระดับบนไม่ต้องการความมั่นคง เช่น ข้าราชการรักษาโรงพยาบาลรัฐ
ยุคพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และ พล.อ.ชาติชาย ชุณหวัณ ชนชั้นกลางระดับบนร่ำรวยมาก ทิ้งห่างชนชั้นกลางระดับล่าง แต่พอสมัยต้มยำกุ้ง(วิกฤตเศรษฐกิจ 2540) ชนชั้นกลางระดับล่างเกือบตามทันชนชั้นกลางระดับบน โดยยังไม่รวมคนรวยในเมืองไทยที่อยู่อีกพิภพหนึ่งซึ่งทำให้ชนชั้นกลางระดับบนรู้สึกว้าเหว่ ไม่เห็นเงาคนรวย แถมชนชั้นกลางบ้านนอกวิ่งตามมาติดๆ และเข้ามาชุมนุมในกรุงเทพฯ
ภาวะแบบนี้ทำให้เกิดความขัดแย้งหมองหมางระหว่างชนชั้นกลางระดับบนกับระดับล่าง แล้วเป็นปมสำคัญของปรากฏการณ์ประชานิยมในโลกที่ไร้ประชาธิปไตยอย่างเมืองไทย
คนชั้นกลางล่าง เห็นแบบแผนการบริโภคที่ชนชั้นกลางบนสาธิตให้ดูทุกวัน แล้วอยากทำบ้าง นำไปสู่ความเกลียดชังกันเพิ่มขึ้น ต่างรังเกียจเคียดชังการดำรงอยู่ของคนอื่นซึ่งเกิดจากทั้งริษยา รู้สึกถูกหยามหมิ่น และไร้อำนาจ นี่คือข้อวิเคราะห์ในระดับโลก แต่สิ่งคล้ายๆ กันนี้ เกิดขึ้นก่อนพฤษภามหาโหด
คนชั้นกลางระดับบนกับอีลีตที่เคยได้ประโยชน์จากนโยบายการพัฒนาแบบเติบโตไม่สมดุลยุค ‘ก่อนทักษิณ’ แต่บาดเจ็บบอบช้ำทางเศรษฐกิจจากโลกาภิวัฒน์เสรีนิยมใหม่ของอเมริกา จึงเผชิญหน้ากับคนชั้นกลางระดับล่าง ที่ได้ประโยชน์ จากนโยบายประชานิยมของทักษิณ และเห็นโลกาภิวัฒน์ทางเศรษฐกิจเป็นโอกาสมากกว่าภัยคุกคาม ผมคิดว่าตอนนี้เรามาถึงตรงนี้
ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ประชานิยมที่พูดกันในเมืองไทยมีความหมายที่จำกัดคับแคบและล้าสมัยไปแล้ว ขณะที่ในหนังสือเล่มนี้มีองค์ความรู้ที่รอบด้าน นอกจากนั้น ยังมีเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างนิยมและประชาธิปไตยในขั้นตอนต่างๆ ซึ่งไม่ค่อยมีใครพูดถึง เพราะโดยทั่วไปจะบอกว่าประชานิยมทำร้ายประชาธิปไตย แต่ผู้เขียนเล่มนี้บอกว่าต้องดูว่า พูดถึงประชาธิปไตยในขั้นตอนพัฒนาจังหวะไหน เพราะประชานิยมจะส่งผลแตกต่างกันไปอีก
น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด กล่าวว่า หากผู้นำประชานิยมไม่สนใจกลไกคุ้มครองเสียงข้างน้อย ก็มีแนวโน้มที่จะคิดไปเองว่ามวลชนต้องการอะไรและพยายามบรรลุสิ่งที่ตัวเองอยากทำโดยไม่ฟังเสียงคัดค้าน ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่าเมื่อฐานผู้นำมาจากประชาชน ก็มองได้ว่าการขึ้นมามีอำนาจของผู้นำก็เป็นการเพิ่มการมีส่วนร่วมทางการเมือง โดยเฉพาะคนที่รู้สึกว่าถูกกีดกันหรือชนชั้นนำไม่สนใจ ประชานิยม จึงมีทั้งด้านบวกและด้านลบ