รายการ คิดเล่นเห็นต่าง กับ คำผกา ประจำวันที่ 22 ธันวาคม 2556
"แม้ชนบทจะดี แต่ก็ต้องพัฒนา ชนบทให้ทันกับโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งชนชั้นที่มีปัญญาจะทำหน้าที่เลือกสรรว่าสังคมไทย ควรจะเปลี่ยนแปลงในเรื่องใด เพียงใด และอย่างไร และจะเปลี่ยนโดยนำเอาสิ่งใหม่มาเชื่อมต่อกับสิ่งเก่าให้สอดคล้องและเข้ากันได้ดีกับชีวิต จิตใจแบบไทยได้อย่างไร " คำพูดนี้ฟังดูคุ้นๆในเวทีปราศรัยแถวราชดำเนิน แท้ที่จริงเป็นแนวความคิดของพระยาอนุมานราชธน อดีตอธิบดีกรมศิลปากรและนักเขียน ที่มีมุมมองว่า การสังคมและวัฒนธรรมไทยมี "ชั้น" เป็นเรื่องปรกติธรรมดา ดังนั้นชนชั้นนำควรกำหนดขอบเขตและทิศทางการเปลี่ยนแปลงของสังคมและวัฒนธรรมไทย ให้มีความสืบเนื่องกับอดีตอยู่เสมอ มิให้ " เดินเร็วเกินไป" ดังนั้น ความเป็นไทย ต้องมีความสอดคล้องกับความคิดเช่นนี้
จากผลงานการวิจัยของ สายชล สัตยานุรักษ์ เรื่อง "ประวัติศาสตร์การสร้างความเป็นไทย"กระแสหลัก ได้ให้ความหมายของ"ความเป็นไทย"ที่ดำรงอยู่ในความสำนึกคิดของคนไทย ส่วนใหญ่ในปัจจุบัน เป็นผลมาจากการนิยามของปัญญาชนตั้งแต่รัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา โดยมีการใช้สื่อนานาชาติในการปลูกฝังความหมายของ "ความเป็นไทย"อย่างจริงจัง และฝังลึก มีอิทธิพลอย่างสูงต่อวิธีคิดเกี่ยวกับ "สังคมและวัฒนธรรมไทย" สืบมาจนถึงปัจจุบัน
การสร้างความเป็นไทยนั้น สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้สร้างมโนทัศน์ขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อปัญหาที่มีการเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงการปกครองไปเป็นระบอบที่มีรัฐธรรมนูญ ก็คือ เมืองไทยมีการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชมานานจนกลายเป็น "ประเพณีการปกครองแบบไทย" ซึ่งควรจะรักษาไว้สืบไป เพราะพระมหากษัตริย์ของไทยมิได้ทรงใช้พระราชอำนาจจแบบเทวสิทธิ์ ตรงกันข้าม "การปกครองแบบไทย" เป็นการปกครองแบบ "พ่อปกครองลูก" กอปรไปด้วยความเมตตากรุณา และพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นผู้นำแห่งคุณธรรมของชนชาติไทย ทั้งสามประการ ซึ่งช่วยให้ "เมืองไทย"สามารถรักษาเอกราช มีความสงบสุข และความเจริญก้าวหน้า "เมืองไทย"จึงควรปกครองโดยพระบรมราชจักรีวงศ์สืบไป
นอกจากนี้การสร้างความเป็นไทย ขึ้นมาได้นั้นได้มีบุคคลที่ได้ชื่อเป็นสถาปนิกความเป็นไทย ทางเฟซบุ๊ก New Culture ได้เอ่ยถึงบุคคลสำคัญ 7 ท่านด้วยกันคือ
1. หลวงวิจิตรวาทการ (กิมเหลียง วัฒนปฤดา) สถาปนิกมือ 1 ในการสร้างความเป็นไทย รังสรรค์ผลงานเพลง บทละคร และนวนิยายแนวชาตินิยมในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ไว้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเพลงปลุกใจ เช่น ต้นตระกูลไทย รักเมืองไทย ตื่นเถิดชาวไทย ละครอิงประวัติศาสตร์ เช่น เลือดสุพรรณ น่านเจ้า รวมถึงการแต่งประวัติศาสตร์วีรบุรุษและวีรสตรีของหัวเมืองต่างๆ เช่น ท้าวสุรนาริ(ย่าโม) ท้าวเทพกษัตรีย์-ท้าวศรีสุนทรและศึกถลาง
2. จอมพล ป. พิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ) นายกรัฐมนตรีผู้เปลี่ยนชื่อ "สยาม" เป็น "ไทย" สร้างความเป็นชาตินิยมซึ่งมีรัฐเป็นผู้นำชี้แนวทาง ใช้การโฆษณารณรงค์ ก่อร่างความเป็นชาติแบบรัฐสมัยใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในสยามยุคก่อนหน้า ในสมัยของจอมพล ป. นี้เอง ที่ระบบการศึกษาได้เริ่มต้นมีการวาดแผนที่อาณาจักรไทยสมัยโบราณที่กว้างใหญ่ เพื่อปลูกฝังความคิดที่ว่าประเทศไทย "เสียดินแดน" ให้แก่ต่างชาติและต้องทวงคืนกลับมา
3 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นผู้ร่วมการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางในสมัยรัชกาลที่ 5
4. คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ (นามปากกา "ทมยันตี") นักเขียนนิยายรักโรแมน ผลงานนิยายเด่นด้านความเป็นไทยที่เป็นที่จดจำ เช่น คู่กรรม ทวิภพ ร่มฉัตร โดยเฉพาะทวิภพที่มีโครงเรื่องย้อนกลับไปในยุคสมัยที่สยามต้องต่อสู้กับการล่าอาณานิคม ทำให้ประวัติศาสตร์ไทยมุมมองแบบทมยันตีเอง"ฮิต"แพร่ขยายไกลยิ่งกว่าตำราประวัติศาสตร์หรือการรณรงค์ใดเสียอีก
5. จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีภายหลังจากการรัฐประหาร พ.ศ. 2500 ผู้สร้าง "ความเป็นไทย" ทำการเปลี่ยนวันชาติ และลดทอนความสำคัญของยุคสมัยคณะราษฎร์ รื้อฟื้นพิธีกรรมโบราณที่ถูกยกเลิกไปก่อนหน้า เช่น พิธีแรกนาขวัญ
6. ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2518 ในฐานะนักหนังสือพิมพ์ นักเขียน ที่โดดเด่น ใน "สี่แผ่นดิน" "ถกเขมร" "พม่าเสียเมือง" "ยิว" "ฝรั่งศักดินา" เป็นสถาปนิกมือหนึ่งในการกำหนดสร้างความเป็นไทยที่ไม่อาจหาใครเทียบ
7. เป็นตัวแจกคะแนน อาจนึกให้เป็นใครก็ได้ที่แทนความเป็นนักรบไทย แต่ถามคนวาด คนวาดบอกว่าวาดชาวบ้านบางระจัน เช่น นายจันหนวดเขี้ยว นายทอง เป็นต้น