เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ และนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน บุก กกต. ขอทราบผลลงมติรับรองสถานะพลเอกประยุทธ์ ถาม กกต.กำลังเอื้อกับการสืบทอดอำนาจหรือไม่
นายวิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ พร้อมด้วยนางสาวณัฏฐา มหัทธนา นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน ยื่นหนังสือถึง กกต. ขอทราบผลการลงมติของที่ประชุมคณะกรรมการ กกต. เมื่อวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา เกี่ยวกับกรณีการรับรองการประกาศรายชื่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ
นายวิญญัติ ระบุว่า เพื่อเป็นการยืนยันถึงการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต. ที่มีหน้าที่รับผิดชอบให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย สุจริตและเที่ยงธรรม และเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงขอรับทราบรายละเอียดเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในกรณีนี้ คือ
1.คณะกรรมการ กกต.แต่งตั้งผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน หรือเป็นคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน มีหน้าที่และอำนาจตามระเบียบของ กกต.ว่าด้วยการสืบสวน ไต่สวนและวินิจฉัยชี้ขาดปี 2561 ข้อ 6 หรือไม่
2.หากมีการแต่งตั้ง ได้มีการตรวจมูลกรณีการสืบสวน ไต่สวน และการสอบสวนอย่างไร รวมถึงมีการดำเนินการประชุมคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน รายงานการประชุมอย่างไร ทั้งก่อนการประกาศรายชื่อพลเอกประยุทธ์ และหลังการยื่นหนังสือคัดค้านการประกาศรายชื่อของพลเอกประยุทธ์ที่ยื่นไปก่อนหน้านี้
3 คณะกรรมการ กกต. เจ้าพนักงาน หรือคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน มีความเห็นวินิจฉัยชี้ขาดปัญหา หรือข้อโต้แย้งทและคณะกรรมการลงมติมีรายละเอียดเป็นอย่างไร
นางสาวณัฏฐา กล่าวว่า กกต.ไม่ควรดูถูกประชาชน โดยเฉพาะคำตอบของ กกต. 8 บรรทัดที่เกิดขึ้น ซึ่งขัดแย้งกับมาตรฐานที่ทำไว้กับพรรคไทยรักษาชาติในกรณียุบพรรคการเมือง ทั้งที่คำร้องยื่นยุบพรรคพลังประชารัฐนั้น เป็นข้อหาเดียวกันกับที่ยื่นยุบพรรคไทยรักษาชาติ ในข้อหาการเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยฯ เหตุใดพรรคการเมืองหนึ่งจึงใช้เวลาวินิจฉัยเพียงสั้นๆ รวบรัดตัดตอน แต่อีกพรรคการเมืองหนึ่งกลับใช้เวลาในการพิจารณา 1 เดือนแล้วกว่ายังไม่มีคำตอบ