เกิดกระแสฮือฮาในโลกตะวันออกกลางครั้งใหญ่ เมื่อมหาอำนาจโลกอาหรับอย่างซาอุดีอาระเบีย ประกาศเปลี่ยนมกุฏราชกุมาร การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้แม้จะดูน่าวิตกว่าจะเกิดเหตุวุ่นวายตามมาหรือไม่ แต่เรื่องนี้กลับจะส่งผลดีต่ออนาคตทางเศรษฐกิจการเงินของซาอุดีอาระเบีย
สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมานแห่งซาอุดีอาระเบีย ทรงถอดเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน นาเยฟ ผู้ทรงเป็นพระราชภาติยะ (หลานอา) ออกจากตำแหน่งมกุฏราชกุมาร รวมถึงตำแหน่งสำคัญที่กุมอำนาจทางการเมืองอย่างรองนายกรัฐมนตรีลำดับที่ 1 และรัฐมนตรีมหาดไทย แล้วทรงแต่งตั้งพระราชโอรสองค์โต เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอาซิส ขึ้นเป็นมกุฎราชกุมารแทนอย่างเป็นทางการ
ความวุ่นวายทางการเมืองที่มีเค้าว่าจะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนถ่ายสลับขั้วอำนาจแบบฉับพลันครั้งนี้ สงบลงด้วยข่าวที่ยืนยันว่าเจ้าชายบิน นาเยฟ อดีตองค์รัชทายาท ได้ทรงประกาศสวามิภักดิ์ต่อมกุฎราชกุมารพระองค์ใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
แม้เรื่องเปลี่ยนตัวรัชทายาทจะมีผู้คาดการณ์ล่วงหน้ามาก่อนแล้ว แต่นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งยังรู้สึกแปลกใจที่มีการเปลี่ยนมกุฎราชกุมารในช่วงนี้ เพราะเป็นช่วงที่ซาอุดีอาระเบียกำลังเผชิญสถานการณ์ตึงเครียดต่อเนื่อง ทั้งจากการประกาศตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับกาตาร์ และการทำสงครามต่อต้านกลุ่มกบฏในเยเมน
แต่นักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งมองว่า การปรับเปลี่ยนมกุฎราชกุมารส่งผลดีต่อซาอุดีอาระเบียมากกว่า เพราะทำให้เกิดความชัดเจนเรื่องการสืบทอดพระราชอำนาจ เนื่องจากเจ้าฟ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ยังทรงพระเยาว์ และทรงได้รับการยอมรับในหมู่คนรุ่นใหม่ว่าทรงมีวิสัยทัศน์ค่อนข้างก้าวหน้า ซึ่งจะช่วยให้อนาคตของราชวงศ์ซาอุดีอาระเบียมีความมั่นคงขึ้นลดความอึมครึมจากปัญหาการแบ่งอำนาจของรัชทายาทอันดับ 1 และ 2 นอกจากนี้ยังจะส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเช่นกัน
ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ซึ่งทรงมีพระชนมายุเพียง 31 พรรษา และดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีควบคู่ไปกับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ทรงเป็นผู้ที่กุมอำนาจส่วนใหญ่ในประเทศอยู่แล้ว และยังได้รับความเชื่อถือจากทั้งในและต่างประเทศ
พระองค์ทรงเป็นที่รู้จักในฐานะผู้บัญชาการกองทัพซาอุดีอาระเบียในการต่อสู้กับกองกำลังกลุ่มกบฎฮูธิในประเทศเยเมน ซึ่งรัฐบาลซาอุดี เป็นแกนนำในการปราบปรามร่วมกับประเทศพันธมิตรอื่นๆ รวมถึงทรงมีสายสัมพันธ์อันดีกับสหรัฐฯ พันธมิตรหลักของซาอุดีอาระเบีย
เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เจ้าฟ้าชายบิน ซัลมาน เสด็จเยือนสหรัฐฯ และพบกับนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยืนยันการสานสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ และยังทรงให้สัมภาษณ์กับสื่ออเมริกันด้วยว่า หากปราศจากพันธมิตรอย่างสหรัฐฯ ซาอุดีอาระเบียคงมีชะตากรรมไม่ต่างจากเกาหลีเหนือ
ที่สำคัญ เจ้าฟ้าชายทรงเป็นผู้ดูแลโครงการ Vision 2030 ซึ่งเป็นแผนการปฏิรูปประเทศครั้งมโหฬาร เพื่อยุติการพึ่ง
พาน้ำมันในฐานะแหล่งรายได้หลักเพียงหนึ่งเดียว รวมถึงแผนการนำ Aramco (อารามโก) บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของราชวงศ์อัล-ซาอุด เข้าตลาดหุ้น หมายความว่าเมื่อพระองค์ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระราชบิดา แผนการปฏิรูปประเทศทั้งหลายจะยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้นักลงทุนวางใจที่จะเข้าไปลงทุนในซาอุดีอาระเบียเพิ่มมากขึ้น โดยไม่ต้องกังวลการสะดุดหยุดชะงักจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากังวลเกี่ยวกับอนาคตของซาอุดีอาระเบียภายใต้กษัตริย์องค์ใหม่ ก็คือปัญหาสิทธิมนุษยชนที่ดูจะไม่ได้รับการพัฒนาและปฏิรูปตามเศรษฐกิจ เพราะแม้เจ้าฟ้าชายบิน ซัลมาน จะทรงเคยยืนยันเรื่องการเคารพสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นและการเคารพสิทธิมนุษยชน รวมถึงเคยให้สัมภาษณ์กับ The Economist นิตยสารเศรษฐกิจการเมืองชื่อดัง ว่าทรงต้องการสร้างประเทศที่พลเมืองทุกคนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจนโยบายต่างๆ แต่ก็ไม่เคยทรงกล่าวถึงการปฏิรูปประเทศไปสู่ประชาธิปไตยอย่างจริงจัง และปัจจุบัน ซาอุดีฯยังคงเป็นประเทศที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนสูงสุดอันดับ 9 ของโลก จากการจัดอันดับของฟรีดอม เฮาส์ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระดับโลก