แม้จะยังอยู่ในขั้นทดสอบ แต่บริษัทผู้ผลิตโดรนรับส่งเชิงพาณิชย์ในลักษณะของแท็กซี่ทางอากาศนั้นก็มีความพร้อมให้บริการขึ้นเรื่อยๆ
เร็วๆ นี้ โวโลคอปเตอร์ (Volocopter) บริษัทผู้ผลิตอากาศยานสัญชาติเยอรมัน ได้เปิดตัวโวโลซิตี (VoloCity) อากาศยานเชิงพาณิชย์ที่ออกแบบมาเพื่อบินรับส่งภายในเมืองแบบแท็กซี่ บินด้วย 18 ใบพัด โดยมี 2 ที่ นั่งและพื้นที่เก็บสัมภาระ โดยบินได้ราว 35 กิโลเมตร ด้วยความเร็ว 110 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
โวโลซิตี เป็นอากาศยานไฟฟ้าที่บินขึ้นและลงจอดในแนวดิ่ง (electric vertical takeoff and landing: eVTOL) รุ่นที่ 4 ของบริษัทนี้
ในวันที่ 9 กันยายน จีลี่ (Geely) บริษัทผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีน ซึ่งเข้าซื้อหุ้นของเดมเลอร์ (Daimler) บริษัทแม่ของเมอร์เซเดส-เบนซ์ (Mercedes-benz) เมื่อปีที่แล้ว ก็ได้ร่วมลงทุน 50 ล้านยูโร (ราว 1,700 ล้านบาท) กับโวโลคอปเตอร์ โดยหวังว่าโวโลซิตีนั้นจะพร้อมส่งผู้โดยสารได้ภายใน 3 ข้างหน้าปี และตั้งใจจะร่วมมือกับโวโลคอปเตอร์ในการปล่อยแท็กซี่ลอยฟ้าในจีน เป็นอีกหนึ่งในผลิตภัณฑ์ของบริษัท
อย่างไรก็ตาม ทางโวโลคอปเตอร์ ยืนยันว่าจีลี่ยังไม่ได้มีการซื้อหรือโอนถ่ายเทคโนโลยีของโวโลคอปเตอร์แต่อย่างใด
การให้บริการแท็กซี่ลอยฟ้าเริ่มใกล้ความจริงขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน แม้แต่ละบริษัทจะยังคงอยู่ในช่วงทดสอบก็ตามเอ็นอีซี คอร์ปอเรชั่น(NEC Corporation) บริษัทผู้ผลิตและผู้ให้บริการด้านสารสนเทศและการสื่อสารของญี่ปุ่น ก็เพิ่งทดสอบรถเหาะรูปร่างคล้ายโดรนของตัวเองเมื่อต้นเดือนก่อน โดยมีเป้าจะให้บริการได้ภายในปีช่วง 2030
เมื่อเดือนพฤษภาคม ลิเลียม (Lilium) บริษัทสัญชาติเยอรมันอีกเจ้าหนึ่งก็ทดสอบลิเลียมเจ็ต (Lilium Jet) แท็กซี่ลอยฟ้ารุ่นใหม่สำเร็จ โดยลิเลียมเจ็ตเป็นแท็กซี่ลอยฟ้า 5 ที่นั่ง ซึ่งทางผู้ผลิตระบุว่าบินได้ด้วยความเร็วสูงสุด 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในระยะ 300 กิโลมเตร เหนือชั้นกว่าคู่แข่งรายอื่นๆ ในตลาดแท็กซี่ลอยฟ้า แม้แต่อูเบอร์เองก็ให้ความสนใจตลาดนี้ด้วยเช่นกัน โดยมีแผนจะทดสอบให้บริการเฮลิคอปเตอร์อูเบอร์แอร์(Uber Air) ณ เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ในปีหน้า โดยเป็นการทดสอบครั้งที่สามของบริการนี้ และมีแผนจะให้บริการเชิงพาณิชย์ภายในปี 2023
ทางเว็บไซต์เอ็นแก็ดเจ็ต(Engadget) รายงานว่าปัจจุบันมีบริษัทกว่า 70 แห่งที่กำลังพัฒนายานพาหนะลอยฟ้าของตัวเอง
อย่างไรก็ตาม ก่อนแท็กซี่ลอยฟ้าเหล่านี้จะให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ ทางบริษัทจะต้องวางโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการบินขึ้นและลงจอด รวมถึงประสานเข้ากับระบบการจัดการจราจรทางอากาศให้ได้เสียก่อน โดยล่าสุดในวันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา อากาศยานรุ่น โวโลคอปเตอร์ 2X (Volocopter 2X) ของโวโลคอปเตอร์ ได้ทดสอบการบินที่ท่าอากาศยานนานาชาติเฮลซิงกิ (Helsinki international airport) ประเทศฟินแลนด์ ส่งผลให้โวโลคอปเตอร์เป็นบริษัทแท็กซี่ลอยฟ้ารายแรกที่ประสานกับระบบการจัดการจราจรทางอากาศได้