ไม่พบผลการค้นหา
ไม่ใช่แต่ยอดผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากโควิดเท่านั้น ที่ทำให้สังคมไทยอยู่ในภาวะท้อถอย แต่ความไว้วางใจต่ออรัฐที่หายไปอาจกำลังนำไปสู่วิกฤต

1. แทนที่จะร่วมใจสู้ไปด้วยกัน ทำไมภาพการชูสองนิ้วที่แสดงออกว่า “ยังไหว” และคำว่า “นะจ๊ะ” รวมถึงเสียงหัวเราะของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และทีมงานใกล้ตัว ก่อนจะมีประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 25) เมื่อกลางดึกวันที่ 27 มิ.ย. ที่ผ่านมา เสมือนกึ่งล็อกดาวน์กรุงเทพฯ-ปริมณฑล (นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร) และ 4 จังหวัดภาคใต้ (นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา) ถึงยิ่งเพิ่มความเครียดให้สังคมไทย

2. ตัวเลขผู้ติดเชื้อ 3 - 5 พันคน ผู้เสียชีวิต 30 - 50 คน ติดต่อกันนานร่วมเดือน เป็นเพียงฉากหน้าปรากฏการณ์ แต่ภูเขาไฟของความเครียดคือรายงานข่าวที่ไม่เป็นข่าว อาทิ หลายโรงพยาบาลกำลังวิกฤต เตียงไม่พอ ห้องไอซียูเต็ม 

วิกฤตดังกล่าว ถูกเล่าผ่านเฟซบุ๊ก นพ.ศุภโชค เกิดลาภ อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์ รามาฯ ถึงภาวะเตียงเต็ม ผู้ป่วยล้น ว่า “...บางโรงพยาบาลเริ่มบอกว่า “เราไม่รับตรวจแล้ว ให้ท่านไปตรวจที่อื่นเอง” เกิดปรากฏการณ์ผึ้งแตกรัง คนต้องดิ้นรนกระจายตัวไปหาตรวจเอง แล้วพอเกิดการเดินทางไป ๆ มา ๆ การแพร่กระจายเชื้อโรคก็ยิ่งไปกันใหญ่สิ คุมไม่ได้แน่ๆ

“ทีนี้พอเตียงเต็ม/ล้น/ไม่พอ (แต่ก็งงที่รัฐชอบบอกว่ามีเตียงทิพย์ตลอดเวลา) คนไข้จากที่เป็นสีเขียว ก็กลายเป็นสีเหลือง จากสีเหลือง ก็กลายเป็นสีส้ม แดง พอส้ม หรือแดง (อาการหนัก) …ก็ต้องใช้ ICU/intermediate ward ต้องใช้ รพ.ศักยภาพสูงมากอีก แต่เตียง ICU มันเต็มๆๆๆๆๆ จริงๆ เพราะ ICU 1 case นอนทีกินเตียง 2-4 weeks กันอย่างน้อย บางคนนอน 2 เดือน บางคนเอาท่อช่วยหายใจออกไม่ได้ ต้องเจาะคอ

“จะเพิ่มศักยภาพอย่างไร ก็ไม่มีทางทำได้แล้ว พยาบาล หมอก็มีเท่าเดิม (และมีแต่จะลดลงเรื่อย ๆ เพราะบางส่วนก็ติดเชื้อด้วย) จะเปิด รพ. สนามเพิ่มอีกกี่ที่ ก็ไม่ไหว ไม่มีคนแล้ว”

โดยทิ้งท้ายอย่างแหลมคมว่า “ทีมบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้ากำลังต่อสู้สงครามประหนึ่งชาวบ้านบางระจัน ที่ใส่ชุดตะเบงมานและเอาจอบ ขวาน มีด มาสู้ศึก ขอปืนใหญ่ไปแต่ไม่ได้มา ได้แต่ปืนแก๊ป และตอนนี้พยายามหล่อปืน ตีดาบใช้ตามมีตามเกิด”

3. อย่างน้อยบรรดาแพทย์อาวุโสที่รายล้อมรอบตัว พล.อ.ประยุทธ์ โดยไม่ค้านการสั่งซื้อซิโนแวคเพิ่มอีก 28 ล้านโดส ก็ไม่อาจปฏิเสธข่าวบุคลากรทางการแพทย์ รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ ติดโควิดถึง 41 คน ซึ่งมีภาวะปอดอักเสบถึง 7 คน โดยส่วนใหญ่ฉีดซิโนแวคไปแล้ว 2 เข็ม ส่วน รมว.สาธารณสุข ตอบคำถามสื่อถึงความจำเป็นในการสั่งซื้อซิโนแวคต่อ แม้จะแพงกว่าแอสตร้าฯ เพียงว่า เพราะความสัมพันธ์เป็นลูกค้าที่ดี

4. ความเครียดดังกล่าวไม่ได้อยู่แค่ในเฉพาะโรงพยาบาล แต่ลามออกมาข้างนอกเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจทรุด ปรากฏเป็นความตายของคนหนุ่มสาว อย่างกรณี ‘ประกายฟ้า พูลด้วง หรือ ฟ้า’ อายุ 30 ปี นักดนตรีอิสระและยูทูบเบอร์ช่อง Prakaifa Channel กระโดดตึกห้างฯ ย่านบางเขน กทม. เสียชีวิตเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ที่ผ่านมา ก่อนหน้าเสียงหัวเราะของผู้นำรัฐบาลไม่กี่ชั่วโมง 

โดยตั้งแต่ 20 พ.ค. 2020 ฟ้าเคยโพสต์ข้อความให้กำลังใจคนตกงานผ่านเฟซบุ๊กว่า “ใครตกงาน ช่วงโควิด ยกมือขึ้น เราเป็นนักร้องอาชีพ ที่ตกงานมาแล้ว 2 เดือน ทุกงานแคนเซิลหมด รายได้ = 0 แต่เราคิดว่า ทุกอาชีพ มันสามารถต่อยอดได้ “ดนตรี” ก็ยังสามารถเยียวยาหัวใจหลายๆคน และพอเราได้ลองทำอะไรใหม่ๆ บ้าง ทำในสิ่งที่ไม่ถนัดบ้าง ก็เลยค้นพบสิ่งที่ทำได้ดี นอกเหนือจากการร้องเพลงหรือเล่นดนตรี เราเชื่อว่า ทุกวิกฤต มีโอกาสซ่อนอยู่เสมอ แค่เรา เปิดใจ และมองความเป็นจริงมากขึ้น ขอเป็นอีกหนึ่งกำลังใจให้ทุกคนนะคะ”

5. ไม่เพียงภาวะเศรษฐกิจทรุดที่ทำลายชีวิตประชาชนเท่านั้น ในแวดวงการศึกษาที่รูปแบบการเรียนการสอนเปลี่ยนไปก็ส่งผลให้ “น้องฟลุค” นักเรียนชายวัย 15 ปี ชั้นมัธยมปีที่ 4 โรงเรียนที่ชัยภูมิ ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองด้วยการผูกคอตาย เนื่องจากเกิดความเครียดในการเรียนออนไลน์ และครอบครัวเข้าใจไปว่าเขามัวเล่นแต่โทรศัพท์

6. ช่วงเวลาที่วัคซีนยังไม่ทั่วถึงประชาชนส่วนใหญ่ และมาตรการเยียวยาเป็นไปอย่างกระท่อนกระแท่น ท่ามกลางเสียงหัวเราะของผู้นำฯ ผศ.ดร.พญ.มยุรี หอมสนิท อาจารย์ดีเด่นจากสภาอาจารย์ศิริราช โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กว่า 

“...การหัวเราะ ทำท่าทาง gestures ต่างๆ ในเวลาที่คนทุกข์ยากแสนสาหัส ธุรกิจล่ม คนไม่มีจะกิน คนไข้ไม่มีที่ให้รักษา หมอต้องเลือกคนไข้ที่พอมีทางรอดให้ได้รับการรักษาก่อน คนไข้มะเร็ง คนไข้ที่ต้องผ่าตัดต้องถูกเลื่อนนัด คนไข้ที่ต้องใช้ยาประจำขาดยา คนตายไม่ใช่แค่จากโรคเท่านั้น แต่ยังตายจากการทำร้ายตนเองเพราะหมดหนทางในชีวิต เด็กวัยอนุบาลถูกปล้นเวลาที่เขาจะได้เรียนรู้สังคม นักเรียนนักศึกษาถูกปล้นชีวิตวัยรุ่น นักศึกษาแพทย์ถูกปล้นเวลาที่จะได้ฝึกทักษะฝึกความชำนาญกับอาจารย์และพี่ ๆ ในโรงเรียนแพทย์ - คนที่หัวเราะได้นี่ยังมีหัวใจของความเป็นมนุษย์อยู่หรือเปล่า

แพทย์อาวุโสที่บอกว่าบุคลากรทางการแพทย์ฉีด Sinovac แล้วไม่ติด COVID คนที่บอกว่ามีเตียงว่างรับคนไข้ มาช่วยน้อง ๆ หน้างานดูแลคนไข้หน่อยดีไหม อย่าเอาแต่พูดแก้ตัวไปวัน ๆ ไม่มี evidence-based ออกมาจากโลกใบเดิมของคุณเสียที คนรุ่นหลังเขาเข้าถึงข้อมูลได้ คุณโกหกเขาไม่ได้หรอก”

7. หลังความเครียด ปรากฏเป็นความตาย ส่วนคนที่ยังมีชีวิตอยู่แสดงออกต่อรัฐบาลด้วยความโกรธแค้นไปต่างๆ นาานา ในโลกโซเชียลเกิดปรากฏการณ์อารยะขัดขืน (Civil disobedience) โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร กาแฟ ผับ บาร์ ถูกสั่งห้ามให้ลูกค้าบริโภคในร้าน 

แคมเปญดังกล่าว มีสาระสำคัญตรงที่ #กูจะเปิดมึงจะทำไม โดยมีการชักชวนลงชื่อกันที่ https://forms.gle/H7yDGtJFuNG3PNmL6 

“เท่าที่ศึกษามา ถ้าฝ่าฝืนพรก. แล้วโดนจับ อาจจะโดนค่าปรับ 40,000 บาท (เจ้าหน้าที่ปรับเองไม่ได้ ต้องขึ้นศาล) หรือให้ตำรวจช่วยก็จ่ายน้อยกว่า ร้ายแรงสุดคืออาจโดนสั่งปิดได้ อย่างไรก็ตาม เรามีทนายคอยช่วย มีทีมเจรจาเจ้าหน้าที่ มีคนรอสนับสนุนร้านที่จะเปิด และมีคนรอร่วมด่ามากมาย เพราะฉะนั้น อย่ากลัวเลย

“ทั้งหมดนี้เป็นไอเดียเบื้องต้นจากการปรึกษาหลายๆ คนนะคะ ซึ่งเราเข้าใจค่ะว่ามันมีความเสี่ยงหลายอย่าง แต่จุดนี้ถ้าจะสร้างเครือข่ายและเกราะป้องกันช่วยเหลือกัน คุณต้องแสดงความกล้าหาญและประกาศตัวแล้วล่ะ นั่นแหละ เริ่มจากการกรอกฟอร์ม หรือไปชวนร้านโปรดของคุณให้มาลงชื่อกัน” เจ้าของแคมเปญระบุ

8. โควิดระลอกแรกผ่านไป สองผ่านไป สามผ่านไป ประชาชนถูกเรียกร้องให้การ์ดอย่าตก แต่ทุกครั้งที่พบเชื้อขึ้นมาใหม่ กลับเป็นเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปมีส่วนร่วมทุกครั้ง ทั้งสนามมวย บ่อน บาร์ และชายแดน รวมถึงรัฐมนตรีที่เคยติดเชื้อด้วย 

“ความเชื่อใจเป็นทุนอย่างเดียวที่เรามีมากที่สุด” 

ความไม่เชื่อมั่นในอำนาจรัฐ กลายเป็นปรากฏการณ์อารยะขัดขืนได้อย่างไร คำถามนี้เคยถูกอธิบายโดย นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผอ.ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ว่า "...ในสถานการณ์ที่ต้องการความเป็นผู้นำสูง มันต้องมี คนที่ต้องมาจัดการแบบเด็ดขาด แล้วก็กล้าตัดสินใจ แล้วก็สร้างความเชื่อมั่นกับประชาชนว่าภายใต้การนำของนายคนนี้ เราจะไปรอด ต่อมาคือเรื่องความโปร่งใส แปลว่าอย่าทำอะไรให้มันน่ากำกวมและน่าสงสัยว่ามีผลประโยชน์อื่นแอบแฝง หรือว่ามีการหมกเม็ด หลบซ่อน ไม่กล้าเปิดเผย

“ความโปร่งใสทำไมถึงสำคัญ เพราะมันสร้างความไว้วางใจ เมื่อคุณไม่กล้าเปิดเผยสัญญาการซื้อวัคซีน จะทำให้คนไม่สงสัยได้ยังไง เมื่อยิ่งมีสถานการณ์มากขึ้นๆ ก็ยิ่งสะสม เมื่อความไว้วางใจไม่มี ไม่ต้องพูดถึงสถานการณ์วิกฤตแบบนี้”

9. นอกจากนี้ ในมาตรการเยียวยาที่กระท่อนกระท่อน นพ.โกมาตร สรุปว่า "หลายมาตรการการเยียวยาของภาครัฐเราจะเห็นว่า นโยบายเหล่านั้นได้เปลี่ยนพลเมืองให้กลายเป็นผู้รับการสงเคราะห์ หรือพูดง่าย ๆ ว่าเป็นนโยบายรัฐให้ทาน ผมคิดว่าหากเรามีนโยบายการเยียวยาที่ดี เราจะไม่มี นโยบายเวทนานิยมแบบนี้ แต่จะเป็นนโยบายที่เชิญชวนให้หน่วยงาน องค์กร และผู้คน เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคน"

สรุป นิทานเรื่องเด็กเลี้ยงแกะที่คนไทยจดจำกันมา ได้ให้บทเรียนแก่ผู้มีอำนาจอย่างไรบ้างหรือยัง

ธิติ มีแต้ม
สื่อมวลชน
27Article
0Video
0Blog