ไม่พบผลการค้นหา
คุยกับ ‘4 กระทิงแดง’ หลังผ่าน 6 ตุลา มา 45 ปี

“กำลังที่บุกเข้าโจมตีผู้ชุมนุมในธรรมศาสตร์ในเช้าวันที่ 6 ต.ค. 2519 ถ้าจะแบ่งแบบกว้างที่สุด ประกอบด้วย 2 พวกคือ มีเครื่องแบบกับไม่มีเครื่องแบบ พวกมีเครื่องแบบเช่นตำรวจตั้งแต่ระดับ สน. ไปจนถึงตำรวจแผนกอาวุธพิเศษ หรือสวาท, สันติบาล, กองปราบปราม ตำรวจปราบจราจล และตำรวจพลร่มตระเวนชายแดน 2 ส่วนพวกไม่มีเครื่องแบบอย่างน้อยได้แก่ลูกเสือชาวบ้าน (สังเกตจาก "ผ้าพันคอพระราชทาน") และน่าจะกระทิงแดง (สังเกตจากบุคลิกท่าทาง)... ในความเป็นจริง ทารุณกรรมต่างๆ ที่นิยาม 6 ตุลาในความทรงจำของคนทั่วไปเป็นฝีมือของพวกไม่มีเครื่องแบบที่มีอาวุธไม่มาก ไม่สามารถจะสลายการชุมนุมในวันนั้นได้ พวกมีเครื่องแบบเป็นผู้โจมตีสังหารหมู่ด้วยอาวุธหนักเบาครบเครื่องก่อน เปิดทางให้พวกไม่มีเครื่องแบบทำทารุณกรรม” 

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เขียนไว้ในหนังสือ ‘ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง’ [1]

กระทิงแดง คือหนึ่งในหลายกลุ่มที่ถูกสันนิษฐานว่ามีส่วนร่วมใช้ความรุนแรงในวันนั้น จนถูกขนานนามว่าเป็นเหตุการณ์ ‘ขวาพิฆาตซ้าย’ ในวาระครบรอบ 45 ปี 6 ตุลาฯ ‘วอยซ์’ พูดคุยกับกระทิงแดง 4 คนที่ยังมีลมหายใจอยู่ ได้แก่ จิรศักดิ์ สุรโชติ อดีตช่างกลบางซ่อน อายุ 67 ปี, สืบพงษ์ ม่วงชู อดีตช่างกลปทุมวัน อายุ 70 ปี, ชุบ บุญนุช อดีตนักเรียนเทคโนโลยีการเกษตร อายุ 66 ปี และสุวรรณ เอมรัฐ อดีตช่างกลอินทราชัย และรองเลขาศูนย์นักเรียนอาชีวะฯ อายุ 68 ปี 

พวกเขาเล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของการแยกขาดจากขบวนการนักศึกษาหลังได้ ‘ชัยชนะ’ ในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ จุดตั้งต้นของการเลือกข้าง ‘ทหาร’ ก่อตั้งกลุ่มกระทิงแดง ปฏิบัติการของกระทิงแดงช่วง 2-3 ปีต่อจากนั้น จนถึงคำให้การเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ว่าเกี่ยวข้องหรือไม่เพียงไร มองเหตุการณ์นั้นอย่างไร และปัจจุบันความคิดของพวกเขาเป็นเช่นไร

Cover กระทิงแดง  4 คน.jpg
  • จิรศักดิ์ สุรโชติ, สืบพงษ์ ม่วงชู, ชุบ บุญนุช, สุวรรณ เอมรัฐ

จุดกำเนิดกระทิงแดง: อาชีวะแยกทางกับนักศึกษา เลือกข้างทหาร

"อยู่สุขเถิดประชา กระทิงแดงกล้าจะคุ้มภัย"

คือสโกแกนของกลุ่มกระทิงแดงที่สมาชิกกลุ่มร่วมกันแต่งขึ้น ที่มีลักษณะคล้ายกับสโลแกนของกองทัพคือ “สุขเถิดปวงประชา ทหารกล้าจะคุ้มภัย”

กลุ่มกระทิงแดง หรือชื่อทางการคือ หน่วยปฏิบัติการพิเศษกระทิงแดง เป็นกลุ่มนักเรียนอาชีวะที่เคลื่อนไหวในช่วงปี 2516-2519 ก่อตั้งอย่างเป็นทางการราวปี 2517 จนถึงกลางปี 2518 อ้างว่ารวบรวมสมาชิกได้มากถึง 25,000 คน [2] ได้รับเงินจากงบประมาณลับของ กอ.รมน. และสามารถใช้อุปกรณ์ของตำรวจนครบาลในการปฏิบัติการ [3]  

สมาชิกส่วนใหญ่เป็นนักเรียนอาชีวะที่เคยมีบทบาทสำคัญร่วมกับขบวนการนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ภายหลังได้แยกตัวออกมา โดยมีพันเอก (ยศในขณะนั้น) สุตสาย หัสดิน หรือ ‘เจ้าพ่อกระทิงแดง’ เป็นผู้บัญชาการสูงสุด เขาเป็นนายทหารกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และมีสืบสาย หัสดิน (ลูกชายสุตสาย), สุชาติ ประไพหอม, เฉลิมชัย มัจฉากล่ำ (ผู้พันตึ๋ง), สมศักดิ์ ขวัญมงคล, สมศักดิ์ มาลาดี เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในกลุ่มกระทิงแดง รวมถึงยังมีนักการเมืองอย่าง พล.ต.ชาติชาย ชุณหะวัน (ยศในขณะนั้น) เป็นผู้ใกล้ชิดกับกลุ่มกระทิงแดงรวมถึงกลุ่มลูกเสือชาวบ้านด้วย [4]

อย่างไรก็ตาม ปีกอนุรักษนิยมที่เคลื่อนไหวทีช่วงปี 2516-2519 มิได้มีเพียงกลุ่มกระทิงแดงเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายกลุ่มคือ กลุ่มนวพล ชมรมอาชีวะเสรี กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน กลุ่มเพ็ชรไทย กลุ่มช้างดำ กลุ่มพิทักษ์ไทย สหพันธ์นักศึกษาครูแห่งประเทศไทย กลุ่มแนวร่วมรักชาติ กลุ่มประชาชนผู้รักชาติ กลุ่มแนวร่วมต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ ขบวนการปฏิรูปแห่งชาติ สหพันธ์ครูอาชีวะ กลุ่มกรรมกรเสรี กลุ่มค้างคาวไทย กลุ่มกล้วยไม้ไทย กลุ่มวิหคสายฟ้า กลุ่มสหภาพแรงงานเอกชน ชมรมแม่บ้าน กลุ่มกุหลาบแดง ฯลฯ [5]

หลังชัยชนะจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่ขบวนการนักศึกษาประชาชนต่อสู้กับเผด็จการทหารที่ครอบงำสังคมไทยยาวนานถึง 16 ปี ตั้งแต่ยุคสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถึงยุคจอมพลถนอม-ประภาส-ณรงค์ จนเผด็จการต้องออกนอกประเทศ ดอกไม้แห่งประชาธิปไตยก็เบ่งบาน บรรดานักเรียน นักศึกษา กรรมกร ชาวนา จัดตั้งองค์กรเคลื่อนไหวกันมากมาย สหภาพแรงงานต่างๆ ผุดขึ้นมาราวกับดอกเห็ด 

หากขบวนการนักศึกษา มีศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) กลุ่มอาชีวะเองก็มี ‘ศูนย์กลางนักเรียนอาชีวะแห่งประเทศไทย’ เช่นกัน

สืบพงษ์ ม่วงชู กระทิงแดง.jpg
  • สืบพงษ์ ม่วงชู สมาชิกกลุ่มกระทิงแดง

สืบพงษ์ ม่วงชู อดีตช่างกลปทุมวัน และอดีตรองอธิการบดี บริหารงานวิทยาเขตอุเทนถวายอุเทนถวาย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก ปัจจุบันอายุ 70 ปี ซึ่งเป็นแกนนำคนหนึ่งในการจัดตั้งศูนย์อาชีวะฯ เล่าว่า เหตุที่มีการแยกมาตั้งกลุ่มต่างหากเป็นเพราะมีความขัดแย้งกับขบวนการนักศึกษาด้วย นักเรียนอาชีวะเคยเป็น ‘แขนขา’ ให้กับศูนย์นิสิตนักศึกษาฯ ก็ว่าได้ จนกระทั่งเริ่มมีการพูดจาไม่ให้เกียรติ หรือดูถูกดูแคลนนักเรียนอาชีวะ ประกอบกับฝ่ายทหารเองเริ่มมองเห็นจุดแข็งของนักเรียนอาชีวะ จึงเริ่มเข้ามาแทรกแซง ซึ่งอาชีวะส่วนใหญ่มีความเชื่อและศรัทธาฝ่ายทหารมากกว่า เนื่องจากอุดมการณ์ของทหารกับนักเรียนอาชีวะส่วนใหญ่ตรงกันในความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ 

“พวกพี่ๆ นักศึกษา ผมในฐานะที่เป็นอาชีวะ วันนี้ภารกิจเราจบสิ้นแล้ว (หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ) ที่ผมมาร่วมกับพวกท่านเนี่ย ผมมาร่วมด้วยอุดมการณ์ ต้องการให้รู้ว่าเด็กอาชีวะก็รักชาติรักแผ่นดินเหมือนกัน ไม่ใช่มาร่วมเพราะทรัพย์สินเงินทองอะไรทั้งสิ้น และพวกเราก็ไม่ใช่คนไม่มีความรู้ ไม่ใช่คนที่ป่าเถื่อน เพียงแต่เราเป็นกลุ่มคนที่ขาดโอกาสเท่านั้นเอง เงินมันไม่มีหรือมีน้อย แต่เราไม่ใช่คนโง่ ขอให้รู้ไว้ซะด้วย เมื่อเสร็จภารกิจแล้วก็ขอจบบทบาทแค่นี้” สืบพงษ์ เล่าให้ฟังถึงวันที่สนทนากับศูนย์นิสิตฯ ครั้งสุดท้ายก่อนแยกออกจากขบวนนักศึกษา แล้วตัดสินใจเลือกอีกเส้นทาง 

ศูนย์อาชีวะแห่งประเทศไทยที่จัดตั้งขึ้น มี ดำรง คำนาคแก้ว นักเรียนอุเทนถวายเป็นเลขาธิการ สุวรรณ เอมรัฐ อดีตช่างกลอินทราชัยเป็นรองเลขาธิการ มีสถาบันอาชีวะหลายแห่งเข้าร่วม เช่น กนกอาชีวะ, ช่างกลบางซ่อน, เทคนิคกรุงเทพฯ, ช่างกลพระราม 6, กรุงเทพฯช่างกล, ก่อสร้างดุสิตฯ, วิทยาลัยครู, พาณิชย์พระนคร, ช่างหนังพระนคร, ช่างตัดเสื้อพระนคร ฯลฯ และใช้อุเทนถวายเป็นที่ศูนย์บัญชาการหลัก

สุวรรณ กระทิงแดง
  • สุวรรณ เอมรัฐ สมาชิกกลุ่มกระทิงแดง

สุวรรณ เอมรัฐ อดีตรองเลขาธิการศูนย์ฯ อธิบายเสริมว่า ศูนย์อาชีวะฯ เคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยเช่นกัน โดยในเดือนกันยายน 2517 ได้ชุมนุมกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้าเพื่อเรียกร้องให้เยาวชนอายุ 18 ปีได้มีสิทธิเลือกตั้ง แต่เอกลักษณ์ของอาชีวะที่ไม่เหมือนใครคือ ชุมนุมครั้งใดต้องมีการปาระเบิดอวดกัน  

และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่พวกเขาได้รับเทียบเชิญจาก กอ.รมน.

สุวรรณ เล่าถึงจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์กับพลตรีสุตสายว่า ระหว่างทำกิจกรรมเรียกร้องสิทธิเลือกตั้งที่พระบรมรูปทรงม้า ก็มีคนหนึ่งเดินเข้ามาพูดคุยและแจ้งว่า “มีนายทหารอยากจะพูดคุยด้วย ไปคุยไหม”  ประกอบกับช่วงเวลานั้น นักเรียนอาชีวะส่วนใหญ่รู้สึกไม่พอใจที่กลุ่มนักศึกษาปัญญาชนมักจะดูถูกดูแคลนพวกตนอยู่แล้ว จึงตัดสินใจรับคำเชิญ

“ตอนนั้นพวกกลุ่มนักศึกษาอาจจะใช้คำพูดกับนักเรียนอาชีวะไม่ค่อยดีเท่าไหร่ มาหาว่าพวกเราไม่มีสมองบ้าง ใช้แต่กำลัง อะไรต่ออะไร” สุวรรณ เล่าให้ฟัง

“ฝ่ายนักศึกษาดูเหมือนดีนะเป็นประชาธิปไตย ไม่มีชนชั้น ทุกคนเท่ากันหมด และนักการเมืองโกงกินก็ถูกพวกนี้จัดการ ทุกอย่างดีหมด เกือบเคลิ้มไปละ แต่พอมาดู อ้าว! แล้วมายุ่งอะไรกับสถาบันพระมหากษัตริย์ อันนี้ไม่ได้เลย… งั้นเราเชื่อฝ่ายที่ปกป้องรักษาพระมหากษัตริย์ดีกว่า หน่วยงานใดที่ปกป้องพระมหากษัตริย์เราอยู่ข้างนั้นดีกว่า” สืบพงษ์กล่าว

“ที่เราอยู่ในแผ่นดินไทยก็มีความสุขดี มีข้าวกิน มีที่เรียนหนังสือ องค์พระมหากษัตริย์ก็มีพระเมตตามากมาย มีคุณูปการเยอะแยะไปหมด ส่วนพวกทหารนักการเมืองก็อาจจะทำไม่ดีบ้าง เราก็ไม่ได้สนใจเพราะเราไม่มีข้อมูลในเชิงลึก พอเราไม่มีข้อมูล เราก็ไม่รู้จะไปวินิจฉัยว่าเขาดีหรือไม่ดี แต่เรารู้แน่ๆ ว่าพระมหากษัตริย์ดีแน่ เพราะมันเห็นอยู่” สืบพงษ์กล่าว

สุวรรณ กล่าวต่อว่า ในปี 2517 รัฐบาลเองก็ได้ตั้งสำนักงานส่งเสริมเยาวชน ขึ้นตรงกับสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีเดโช สวนานนท์ เป็นเลขาธิการสำนักงานส่งเสริมเยาวชน ต่อมามีการจัดสัมนาอาชีวะทั่วประเทศไทย โดยจัดขึ้นครั้งแรกที่ตำบลบางพูน จังหวัดปทุมธานี และได้ก่อตั้ง ‘ศูนย์กลางนักเรียนอาชีวะแห่งประเทศไทย’ อย่างเป็นทางการขึ้นมา โดยมีสุชาติ ประไพหอม ศิษย์เก่าช่างกลพระนครเหนือ เป็นเลขาธิการศูนย์คนแรกผ่านการเลือกตั้งของนักเรียนอาชีวะทั่วประเทศไทย มีรองเลขาธิการฝ่ายปฏิบัติการพิเศษคือ นายบุเรศ งามแสงเนตร ซึ่งต่อมาได้เป็นหัวหน้ากระทิงแดงคนแรก 

ในปี 2519 สุชาติ ประไฟหอม ได้ประกาศตั้ง 'แนวร่วมต่อต้านจักรวรรดินิยมคอมมิวนิสต์' ขึ้นมาในวันที่ 20 มี.ค. 2519 ด้วย [6] 

“กระทิงแดงกับศูนย์กลางนักเรียนอาชีวะฯ คือกลุ่มเดียวกัน ศูนย์กลางนักเรียนอาชีวะฯ มีนักเรียนจากหลายแห่ง แต่ในกระทิงแดงเราจะเลือกโรงเรียนดังๆ ที่เป็นนักเลงมา อย่างเช่น ก่อสร้างดุสิต กนกอาชีวะ ช่างกลนนท์ เทคนิคกรุงเทพฯ กระทิงแดงมีหลายพันคน” สมศักดิ์ ขวัญมงคล อดีตหัวหน้ากระทิงแดง เคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสารสารคดีไว้เมื่อปี 2539 [7] 

กลุ่มกระทิงแดง ก็คือ ฝ่ายปฏิบัติการพิเศษ ของศูนย์กลางนักเรียนอาชีวะแห่งประเทศไทย

ประชุมเลือกตั้งกระทิงแดง.jpg
  • บรรยากาศการประชุม 'หน่วยปฏิบัติการพิเศษกระทิงแดง' ช่วงเดือนมีนาคม 2519

ความสัมพันธ์กับ ‘สุตสาย หัสดิน’ และสัญลักษณ์กระทิงแดง

สุวรรณ เล่าต่อว่า หลังจากกลุ่มอาชีวะบางส่วนเข้าพูดคุยจากการเชิญของคือ อำนวยศาสตร์ หัสดิน ลูกชายของพลตรีสุตสาย แล้วรู้สึกเห็นด้วยอย่างยิ่งกับเป้าหมายของการเคลื่อนไหว เนื่องจากเป็นการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ทางกลุ่มจึงตัดสินใจเข้าร่วมทันที และเริ่มเคลื่อนไหวตามแนวทางของกลุ่มกระทิงแดงเป็นต้นมา

“แนวทางนี้ก็ดีเหมือนกันนี่หว่า แต่ว่าแกไม่ได้ชี้นำนะ เพียงแต่แกก็พูดถึงเรื่องสถาบันฯ ให้ฟัง เราก็คล้อยตามไปด้วย เพื่อให้เรารักสถาบันฯ มากขึ้น” สุวรรณ กล่าว

เมื่อถามว่ากองทัพหรือ กอ.รมน.มีการจัดอบรมทางความคิดอย่างเป็นระบบแก่กลุ่มกระทิงแดงหรือไม่ สืบพงษ์กล่าวอย่างมีอารมณ์ว่า “การรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์มันอยู่ในสายเลือดของพวกเราอยู่แล้วโดยไม่จำเป็นต้องมีใครไปอบรม”

สัญลักษณ์กลุ่ม 2 แบบ แบบที่หนึ่งคือรูปกระทิงแดงและตรีศูลซึ่งหมายถึงสถาบันกษัตริย์อยู่ด้านหลังกระทิง ส่วนแบบที่สองคือ สัญลักษณ์กระทิงแดงในกงจักร กงจักรเป็นสัญลักษณ์ของทหาร ต่อมาทางกลุ่มเลือกใช้สัญลักษณ์แบบสองเป็นสัญลักษณ์หลักในการเคลื่อนไหวเป็นต้นมา

ส่วนที่มาของการเลือกรูปกระทิงสีแดง สุวรรณเล่าให้ฟังว่า มันเป็นสัญลักษ์ของกองพันทหารม้าที่ 8 กรมทหารม้าที่ 7 ที่ ‘พ่อสุตสาย’ มักจะเล่าประวัติของกองพันให้ฟังบ่อยๆ ทางกลุ่มจึงตัดสินใจใช้รูปกระทิงแดงเป็นสัญลักษณ์ในการเคลื่อนไหว 

รวม Logo กระทิงแดง
  • Logo กองพันทหารม้าที่ 8, Logo กระทิงแดงแบบที่ 1, Logo กระทิงแดงแบบที่ 2

4 ‘กระทิงเฒ่า’ (พวกเขานิยามตัวเอง) ให้สัมภาษณ์เป็นเสียงเดียวกันว่า ความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนอาชีวะกับ ‘พ่อสุตสาย’ เป็นลักษณะความสัมพันธ์แบบพ่อลูก เนื่องจากพลตรีสุตสายมักจะมีความเมตตา เปิดบ้านเลี้ยงข้าวและให้ที่หลับนอนกับนักเรียนอาชีวะหลายสถาบันในบ้านของตนเอง ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ที่สุตสายนำมาเลี้ยงนักเรียนอาชีวะเป็นเงินส่วนตัว โดยให้ภรรยานำของไปจำนำ [8] 

“ต้องเข้าใจอย่างหนึ่ง นักเรียนอาชีวะสมัยนั้นบางคนมีเงินบ้าง ไม่มีเงินบ้าง มีข้าวกินบ้าง อาศัยวัดบ้าง เด็กต่างจังหวัดบ้าง พอไปบ้านแกก็มีข้าวกิน ไม่มีที่นอนก็นอนชั้นล่างใต้ถุนบ้าน กินนอนกันอยู่ในนั้น ไม่รู้กี่โรงเรียนต่อกี่โรงเรียน กินนอนกันเต็มไปหมด แล้วพวกประธานก็จะอยู่รวม” สุวรรณ กล่าวถึงพ่อสุตสาย 


ทัศนะพลตรีสุดสาย ตัดแขนขา จับอาชีวะชนนักศึกษา

“นักศึกษามหาวิทยาลัยก็เหมือนหัว  นักเรียนอาชีวะก็เหมือนแขนขา จะต้องตัดแขนขาออกจากหัวเสียก่อน” พลตรีสุตสาย เคยกล่าวเปรียบเทียบไว้ [9]

ปฏิเสธไม่ได้ว่าชัยชนะในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2519 ส่วนหนึ่งมาจากบทบาทพลังของนักเรียนอาชีวะที่ร่วมขบวนอยู่กับนักศึกษาประชาชน จุดนี้เองทำให้ชนชั้นนำไทยมีความวิตกอย่างสูง จึงมีความพยายามแยกนักเรียนอาชีวะออกจากขบวนนักศึกษาโดยการเชื้อชวนมาอยู่กับ พลตรีสุตสาย หัสดิน และมีความพยายามส่งนักเรียนอาชีวะฝ่ายขวาเข้าควบคุมศูนย์กลางนักเรียนอาชีวะแห่งประเทศไทย เพื่อใช้ศูนย์ดังกล่าวเคลื่อนไหวต่อต้านขบวนการนักศึกษา โดยเริ่มต้นจากเหตุการณ์พลับพลาไชยเป็นต้นมา

สุตสาย
  • พลตรีสุตสาย หัสดิน (ภาพจาก นิตยสารสารคดี)

“ผมเองต้องการให้ศูนย์กลางนิสิตฯ กับนักเรียนอาชีวะต่อสู้กัน แต่ก็ต้องมาคิดก่อนว่าเราจะเอาชนะเขาได้ยังไง เราไม่สามารถเอาชนะศูนย์กลางนิสิตฯ เพราะ หนึ่ง ศูนย์กลางนิสิตฯ มีคนศรัทธาเต็มบ้านเต็มเมือง สอง เขามีเงินจากการบริจาค 26 ล้าน สาม เขามีความเฉลียวฉลาดกว่านักเรียนอาชีวะ สี่ เขามีนักเรียนหนุนหลัง ถ้าคุณเอานักเรียนอาชีวะไปสู้เขา คุณจะแพ้ตั้งแต่อยู่ในมุ้งเลย ทีนี้คุณสมบัติของนักเรียนอาชีวะมีอยู่สองอย่าง หนึ่งคือบ้าเลือด สอง เล่นลูกระเบิด ผมก็เอาคุณสมบัตินี้มาใช้ให้ชนะจงได้ ข้อที่ว่าบ้าเลือดนี่ผมรักษาไว้ การเล่นลูกระเบิดผมก็ต้องยอมให้เล่น แต่ต้องอยู่ในความควบคุม ถามว่าควบคุมยังไง เด็กนักเรียนอาชีวะช่วงหลังๆ เขาทำระเบิดโดยเอาเศษแก้วเหล็กแหลมต่างๆ ใส่เข้าไปด้วย วัสดุพวกนี้บวกกับแรงระเบิดจะทำให้คนตายได้ ผมก็ควบคุมให้เขาใส่แต่เชื้อปะทุ ขว้างไปก็เกิดเสียงดังเท่านั้น อย่างนี้เอาชนะศูนย์กลางนิสิตฯ ได้ เพราะศูนย์กลางนิสิตฯ ก็ต้องกลัวตาย” พลตรีสุตสาย เจ้าพ่อกระทิงแดง เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในปี 2539 [10] 

หนังสือพิมพ์ดาวสยาม
  • หนังสือพิมพ์ดาวสยาม ฉบับวันที่ 2 ตุลาคม 2519

ความหลากหลาย: อาชีวะฝ่ายขวา อาชีวะกลางๆ อาชีวะฝ่ายซ้าย

หลายฝ่ายมักกล่าวตรงกันว่า นักเรียนอาชีวะมีอุดมการณ์ราชาชาตินิยม ทว่าบางส่วนก็มีแนวคิดสังคมนิยม หรือแม้แต่ ‘คนกลางๆ’ อย่างที่สืบพงษ์นิยามตัวเองก็มี สืบพงษ์บอกว่าเขาถูก กอ.รมน.สั่งเก็บ เนื่องจาก “เป็นบุคคลที่พิสูจน์ไม่ได้ว่าเป็นซ้ายหรือขวา” แล้วชอบไปมีบทบาทนำในกลุ่มอาชีวะ จนสุดท้ายต้องยอมยุติบทบาททางการเมืองเพื่อเอาชีวิตรอด

สืบพงษ์ ม่วงชู อดีตกระทิงแดงและอดีตช่างกลปทุมวัน เท้าความหลังให้ฟังว่า เขามีเพื่อนเยอะทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา รวมถึงเป็นเพื่อนรักกับ เฉลิมชัย มัจฉากล่ำ หรือ ผู้พันตึ๋ง ด้วย และด้วยความที่มีเพื่อนทั้ง 2 ฟากความคิดจึงตัดสินใจเข้าร่วมกลุ่มกระทิงแดงแบบ ‘หลวมๆ’ เนื่องจากเกรงใจเพื่อนฝ่ายซ้าย ความหมายของ ‘หลวมๆ’ ของเขาก็คือ“ไม่ขอเข้าไปร่วมด้วยทุกรายการ จะเข้าไปในรายการที่คิดว่าจะเข้าไปได้ เช่นอาจจะไม่กระทบกระเทือนต่อเพื่อนฝ่ายซ้าย” แต่ขณะเดียวกันเขาก็เป็นกระทิงแดงคนหนึ่งที่มีบทบาทเป็นแกนนำปราศรัยปลุกระดมมวลชนอาชีวะในช่วงปี 2517-2519

“ผมก็จะเป็นคนที่หลวมๆ แต่ในหมู่เพื่อนฝูงกระทิงแดง ก็ยอมรับว่าเป็นกระทิงแดงคนหนึ่ง และทางฝ่ายพวกฝ่ายซ้ายก็ไม่ได้มีความรู้สึกรังเกียจอะไรผมมาก เพราะผมไม่ได้ไปมีบทบาททำความรุนแรงต่อเขา ไม่ทำ ทำไม่ได้หรอก เพราะฉะนั้นผมก็จะเป็นคนกลางๆ นี่คือตัวผม” สืบพงษ์ กล่าว

สืบพงษ์ เล่าต่อว่า การอยู่ตรงกลาง (ค่อนไปทางขวา) เช่นนั้นไม่ได้เป็นผลดี เพราะหน่วยงานความมั่นคงเห็นว่าเป็นบุคคลที่พิสูจน์ไม่ได้ว่าเป็นซ้ายหรือขวาและสงสัยว่าอาจรับเงินจากสหภาพโซเวียต เขาจึงถูกติดตามจาก กอ.รมน. อย่างใกล้ชิดโดยไม่รู้ตัว และทราบจากเพื่อนว่ามี ‘คำสั่งเก็บ’ แต่ก็รอดมาได้เพราะรู้จักผู้ใหญ่ที่ช่วยเจรจาพูดคุยกับทาง และตัดสินใจยุติบทบาทการเคลื่อนไหวกระทิงแดงเพื่อความอยู่รอดปลอดภัย แล้วหันมาประกอบอาชีพครูสอนหนังสือที่อุเทนถวายตั้งแต่ปี 2517 เป็นต้นมา


‘ช่างกลพระราม 6’

หากพูดถึงกลุ่มอาชีวะที่เคลื่อนไหวร่วมกับขบวนนักศึกษาหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา โดยเป็น ‘กำแพงหน้า’ คุ้มครองความปลอดภัยให้กับขบวนนักศึกษา คงไม่พูดถึง อาชีวะกลุ่ม 'รามสูร' ซึ่งเป็นกลุ่มคู่ปรับกับกลุ่มกระทิงแดง ที่มีโรงเรียนช่างกลสยาม โรงเรียนช่างกลวิทยา และ โรงเรียน ‘ช่างกลพระราม 6’ ไม่ได้ 

โรงเรียนช่างกลพระราม 6 เป็นหนึ่งในกลุ่มอาชีวะไม่กี่กลุ่มที่ยังคงต่อสู้ร่วมกับนักศึกษาหลังจากนั้น และเป็นการ์ดแนวหน้าให้ขบวนการนักศึกษาอยู่บ่อยครั้ง [11] โดยมีดิลกชัย สุนาถวณิชย์กุล เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ภายหลังถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และผู้ให้การสนับสนุนฝ่ายขบวนนักศึกษา จนมีคนไปวางระเบิดที่โรงเรียนช่างกลพระราม 6 เมื่อวันที่ 3 มี.ค.2519 คนร้ายระบุว่า “การวางระเบิดมีขึ้นเพื่อสั่งสอนฝ่ายซ้ายให้รู้สำนึก” [12] เหตุการณ์นี้มีผู้เสียชีวิต 3 คน บาดเจ็บ 6 คน ส่วนดิลกชัยก็เคยถูกมือปืนวัยรุ่นขับรถมอเตอร์ไซค์ปาดหน้ากระหน่ำยิงขณะจอดรถรอสัญญาณไฟที่แยกราชวิถี จนบาดเจ็บสาหัสเมื่อ 19 ต.ค.2518 โดยไม่สามารถจับกุมคนร้ายได้ [13] 

สุวรรณ เล่าให้ฟังว่า แม้โรงเรียนช่างกลพระราม 6 จะมี ผอ.และนักเรียนส่วนหนึ่งมีแนวคิดไปทางขบวนนักศึกษา แต่ยังมีนักเรียนบางส่วนมาร่วมกับกลุ่มกระทิงแดง อย่าง ‘ซานคามิลโล เพียรพบ’ ประธานนักเรียนช่างกลพระราม 6 ต่อเนื่อง 3 สมัย ซึ่งต่อมาได้มาเป็นสมาชิกกระทิงแดงร่วมกับกลุ่มอาชีวะฝ่ายขวาด้วย

พระราม 6.jpeg
  • หนังสือพิมพ์ประชาชาติ ฉบับ 4 มี.ค. 19

ระเบิดเพื่อประชาธิปไตย

“จำเป็นต้องใช้ระเบิด เป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตยให้คงอยู่ในประเทศต่อไป” เผด็จ ดวงดี ที่ปรึกษากระทิงแดง เคยกล่าวเมื่อ 16 ก.พ.2519 [14] 

สุวรรณเล่าว่า ทันทีที่เข้าร่วมกลุ่มกระทิงแดง ทุกคนจะได้รับบัตรประจำตัว อาวุธ และบัตรพกอาวุธอย่างถูกกฎหมายทุกคน กลุ่มกระทิงแดงมีเป้าหมายสำคัญคือ การปกป้องรักษา ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ 

บัตรประจำตัวกระทิงแดง.jpg
  • บัตรประจำตัวสมาชิกกระทิงแดง (ภาพจากเฟซบุ๊กเพจ ตำนานช่างกลบางซ่อน)

“สมัยก่อนเราก็ใช้พวกลูกเขียดบ้าง แล้วก็เอาไปใส่ในอุจจาระแล้วก็ให้มันกระโดด ปุ้ง ปุ้ง ม็อบมันก็จะแตกฮือ หรือเอางูไปปล่อย งูที่มันไม่มีพิษน่ะ เห็นงูปุ๊บมันก็แตกฮือไป เอาตัวเงินตัวทองไปปล่อยบ้างอะไรบ้าง” 

4 ‘กระทิงเฒ่า’ ช่วยกันเล่าถึงรูปแบบการเคลื่อนไหวของกลุ่มกระทิงแดงด้วยความขบขัน ทันทีที่กลุ่มนิสิตนักศึกษาเคลื่อนไหวรวมตัวชุมนุมกันขึ้นมา พวกเขาก็จะได้รับคำสั่งจาก ‘ทางหน่วยเหนือ’ ‘ทางผู้ใหญ่’ ให้ไปก่อกวน โดยใช้วิธีตั้งแต่ปล่อยสัตย์เลื้อยคลานในม็อบไปจนถึงขว้างระเบิดพลาสติกให้เกิดเสียงดังเพื่อให้เกิดความวุ่นวาย หวาดกลัว ไม่กล้าชุมนุมยืดเยื้อและยุติการชุมนุมในที่สุด ที่เป็นเช่นนี้เพราะหากใช้กำลังทหารหรือตำรวจเข้าสลายการชุมนุมจะดูไม่ดี เหมือนเจ้าหน้าที่รัฐรังแกประชาชน “ฉะนั้น ทางกลุ่มกระทิงแดงจึงมาทดแทนเติมเต็มในบทบาทตรงนี้”

“เราเป็นพวกอาชีวะเป็นส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้นแน่นอนว่าในการเข้าไประงับเหตุ เราก็ต้องใช้วิธีของอาชีวะ เช่น อาจจะมีระเบิดขว้างไปบ้าง แต่ว่าไม่มีคนตายหรอก เพราะระเบิดเป็นพลาสติกมีเสียงหนวกหูเท่านั้นเอง หรืออาจจะมีการปะทะกันบ้าง อย่างน้อยๆ ก็ระงับเหตุไปได้เยอะ และคนมาว่าก็ไม่ได้ จะมาบอกทหารตำรวจรังแกประชาชน ไม่ใช่ อาชีวะนักศึกษาปะทะกัน” สืบพงษ์ เล่าถึงช่วงที่เคลื่อนไหว

4 ‘กระทิงเฒ่า’ ยืนยันว่ากลุ่มของเขาไม่ได้ประสงค์ให้เกิดความเสียหายถึงแก่ชีวิต เพียงแค่ต้องการ ห้ามปราบการชุมนุมเท่านั้น และจะก่อกวนกลุ่มนักศึกษาเฉพาะเมื่อมีเนื้อหาการชุมนุมที่กระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่หากเป็นเนื้อหาอื่นๆ เช่นวิจารณ์รัฐบาล หรือนักการเมืองก็จะปล่อยไป

“นักศึกษาส่วนหนึ่งที่ฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ได้หลบหนีเข้าไปอยู่ในป่า และส่วนหนึ่งจะอยู่ในเมือง พวกนี้พอเขาเคลื่อนไหวอะไรที่เป็นภัยต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ พวกเราจะมีหน้าที่ที่จะปกป้องสถาบันฯ ไปด้วยตัวเองบ้าง หรือได้รับคำสั่งมาจากผู้บังคับบัญชาบ้าง ให้เข้าไปจัดการห้ามปรามหรือป้องปรามกลุ่มคนเหล่านี้ อย่าให้เป็นภัยต่อประเทศชาติอีกเลย นี่คือหน้าที่เราที่ได้รับมา เรายินดีทำไม่ต้องมีใครมาสอน เชื่อว่าคนไทยทุกคนที่ยังมีจิตสำนึก ทุกคนก็รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เว้นแต่ว่าจะถูกชักจูงด้วยสื่ออย่างอื่น” สืบพงษ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวของกลุ่มกระทิงแดงในระยะสองปีเศษแทบจะไม่เคยถูกตำรวจจับกุม หรือหากถูกจับก็จะได้รับการปล่อยตัวในเวลาต่อมา [15] 

พลตรีสุตสาย หัสดิน เองก็เคยเล่าไว้เมื่อปี 2544 ว่า กระทิงแดงได้เปรียบศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย เพราะแม้ว่าศูนย์นิสิตจะมีมวลชน แต่กระทิงแดงมีระเบิด และเขามีส่วนในการทำระเบิดเองและเก็บสะสมไว้ที่บ้านด้วย [16] 


ชนวนก่อนเกิด 6 ตุลาฯ เช้าวันนั้นกระทิงแดงอยู่ตรงไหน?

กระทิงแดงทั้ง 4 คนช่วยกันเล่าให้ฟังสรุปความได้ว่า 2 จุดสำคัญที่ทำให้กลุ่มกระทิงแดงคับแค้นใจต่อนักศึกษาคือ

1.กรณีมีข่าวลือจากวิทยุยานเกราะในเดือนสิงหาคม 2518 ว่ามีนักเรียนวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นอาชีวะฝ่ายขวา ถูกนักศึกษาซ้อมในธรรมศาสตร์ จึงจำเป็นต้อง ไปทวงความเป็นธรรม’ โดยการ ‘ขอความกรุณา’ จากคนขับรถเมล์ 10 คันบุกไปธรรมศาสตร์เพื่อเจรจากับนักศึกษาธรรมศาสตร์ แต่ปรากฏว่านักศึกษาธรรมศาตร์ปฏิเสธว่าไม่มีเหตุการณ์ดังกล่าว กลุ่มกระทิงแดงจึงเดินทางกลับไปชุมนุมกันต่อที่ช่างกลปทุมวัน ในเวลาต่อมาพบข่าวการเผาตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ 20 ส.ค. 2518 ซึ่งมีวิทยุยานเกราะยุยงให้เผา [17] 

2.กรณีการแสดงละครกรณีฆ่าแขวนคอพนักงานการไฟฟ้านครปฐม ในบ่ายวันที่ 4 ตุลาคม 2519 ของศูนย์นิสิตฯ ซึ่งใบหน้าของ อภินันท์ บัวหภักดี หนึ่งในผู้แสดงละคร คล้ายมกุฏราชกุมารมาก จึงทำให้กลุ่มกระทิงแดงคับแค้นและโกรธเป็นอย่างมาก

เมื่อถามว่า กระทิงแดง มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงในวันที่ 6 ตุลาฯ หรือไม่ เพียงไร พวกเขาตอบว่า 

“ช่วงนั้นต้องยอมรับว่าส่วนที่อยู่ตรงข้ามกับศูนย์นิสิตฯ ได้รับการปลุกเร้าทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นลูกเสือชาวบ้าน แม้กระทั่งสถานีวิทยุยานเกราะ พันเอกอุทาร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา, ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์, ทมยันตี ที่พยายามปลุกเร้าขึ้นมา และก็จะมีกลุ่มนวพลของกิตติวุฑโฒ หลายสิ่งหลายอย่าง บ้านเมืองตอนนั้นมีกลุ่มเยอะไปหมด ทุกคนก็พยายามทำทั้งหมด กระทิงแดงก็เป็นส่วนหนึ่งเท่านั้นเอง แต่กระทิงแดงไม่ใช่ทั้งหมด” ชุบ บุญนุช กระทิงแดงอีกคนหนึ่ง กล่าวด้วยสีหน้าจริงจัง

ชุบ บุญนุช กระทิงแดง.jpg
  • ชุบ บุญนุช สมาชิกกลุ่มกระทิงแดง

“วันที่ 6 ตุลา ผมในฐานะอาชีวะ เรายังประชุมกันอยู่ที่โรงแรมรอยัล (โรงแรมรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน) สาเหตุที่ประชุมกันเพราะเรารู้แล้วว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราต้องการที่จะสกัดกลุ่มลูกเสือชาวบ้าน ที่มารวมกันอยู่ที่บรมรูปทรงม้า กับขบวนการนักศึกษา ไม่ให้มาปะทะกันที่ท้องสนามหลวง เราพยายาม เพราะเรารู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ผมนี่เสียใจมากที่สุด หลังจาก 6 ตุลา คุณรู้อะไรเกิดขึ้นหรือเปล่า เขายุบสำนักงานส่งเสริมเยาวชนเรา ยุบเลย” ชุบ พยายามอธิบาย

“อย่างที่คุณชุบพูด มันก็จะตรงกับกลุ่มพวกผมที่ตั้งกองกำลังอยู่สนามหลวงที่ไปกันเยอะแยะหลายร้อยคน เราก็ได้รับข่าวมาว่าทางบ้านเมือง (ตำรวจ) เขาแจ้งมาว่า เขาจะเข้าไปสลายในธรรมศาสตร์ เราต้องเลือกละ ว่าเราจะเข้าไปร่วมกับทางบ้านเมืองหรือจะไม่ร่วม ถ้าไม่ร่วมเราอาจจะถูกสลายด้วย พวกเราก็บอก หนึ่ง เราไม่ร่วม เพราะธรรมศาสตร์เขาไม่ได้ทำอะไรผิด เรายังไม่มีหลักฐานเลย เราพูดกับเขาดีๆ เขาบอกไม่มีๆ (กรณีทำร้ายนักเรียนอาชีวะภายในธรรมศาสตร์) เราก็ต้องเชื่อเขา เราไม่ใช้คนป่าเถื่อนจะบุกเข้าไป ดังนั้น ไม่ใช่อยู่ๆ เราจะไปร่วมกับบ้านเมือง เข้าไปทำร้ายคนซึ่งก็เป็นนักเรียนนักศึกษาเหมือนกับพวกเรา พวกเราทำไม่ลง ทำไม่ได้เด็ดขาด แต่ถ้าขืนอยู่ต่อไป เราก็ซวยโดนสลายด้วย เพราะฉะนั้น พวกผมพอประชุมกันเสร็จแล้วก็กลับ เราก็เอารถเมล์ที่ขอร้องเขาไว้ให้บรรทุกพวกเรากลับมาส่งที่ปทุมวัน” สืบพงษ์ กล่าวเสริมชุบ


ลูกเสือชาวบ้านปกป้องวัดบวรฯ

ย้อนกลับมาช่วงปลายเดือนกันยายน 2519 หรือราวสองอาทิตย์ก่อนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา สถานการณ์เผชิญหน้ากันเกิดขึ้นเมื่อขบวนนักศึกษาที่ประท้วงการกลับมาของจอมพลถนอมในรูปสามเณร และเรียกร้องความยุติธรรมให้ช่างไฟฟ้าที่ถูกฆ่าแขวนคอที่นครปฐม ชุมนุมกันอยู่ในธรรมศาสตร์ ขณะที่องค์กรจัดตั้งฝ่ายขวาของรัฐอย่างลูกเสือชาวบ้านก็ระดมกำลังปกป้อง ‘วัดบวร’ ซึ่งสามเณรถนอมบวชอยู่ ท่ามกลางการปล่อยข่าวลือว่าจะมีการบุกเผาวัด [18] 

ในหลวง บวร ไทยรัฐ 24 กันยาฯ 2519.jpg
  • หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 24 ก.ย. 2519 (อ่านต่อหน้า 16)

ประกอบกับวิทยุยานเกราะก็ปลุกระดมให้ฝ่ายขวาประท้วงรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ที่ตั้งรัฐบาลใหม่โดยไม่ให้นักการเมืองขวาจัดอย่างสมัคร สุนทรเวช และ นายสมบุญ ศิริธร เข้าร่วมในคณะรัฐมนตรี พร้อมเรียกร้องให้ขับไล่ 3 รัฐมนตรีฝ่ายซ้าย 3 คนออกด้วย  

ไม่กี่วันหลังมีการปลุกระดม โดยเฉพาะกรณีการแสดงละครแขวนคนช่างไฟฟ้า ที่นักศึกษาธรรมศาสตร์จัดขึ้นในวันที่ 4 ต.ค. ทำให้เกิดกระแสไม่พอใจในกลุ่มผู้รักสถาบันฯ อย่างสูง พ.ท. อุทาร สนิทสงศ์ ณ อยุธยา จึงนัดรวมตัว ‘ผู้รักชาติ’ ชุมนุมด่วนที่พระบรมรูปทรงม้าในเช้าวันที่ 6 ต.ค. เพื่อจะยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการกับศูนย์กลางนักศึกษาฯ 

“ให้ประธานลูกเสือชาวบ้านทราบว่า ขอให้ลูกเสือชาวบ้านพร้อมอยู่ และรอฟังคำสั่งจากศูนย์ปฏิบัติการฯ… ส่วนผู้ที่ไปร่วมชุมนุมต่อต้านใดๆ จงอย่าใส่เครื่องหมายลูกเสือชาวบ้านเป็นอัดขาด ถ้าไปอย่างประชาชนกระทำได้” มติในที่ประชุมของกลุ่มลูกเสือชาวบ้าน สถานีวิทยุยานเกราะ และชมรมวิทยุเสรี ที่นัดประชุมด่วนในคืนวันที่ 5 ต.ค. ณ ศูนย์ปฏิบัติการ ลูกเสือชาวบ้าน กองกำกับการตำรวจ ตชด. ข้อความจากหนังสือพิมพ์ดาวสยาม ฉบับที่ 6 ตุลาคม 2519 หน้า 16 [19]


ยืนยันไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ 6 ตุลาฯ 

กระทิงหนุ่มวัย 20 ต้นๆ ในขณะนั้น (2519) กล่าวยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อใดๆ ต่อโศกนาฏกรรมในเช้า 6 ตุลาฯ 19

“ไม่มีๆๆ อันนั้นเกินไปครับ พวกผมไม่ทำ” สืบพงษ์ ตอบ

“ในฐานะเป็นคนไทย ผมก็ยืนอยู่ตรงนั้นวันที่ 6 ตุลาฯ ที่มีการแขวนคอที่ต้นไม้ แล้วลากศพมาเผาที่พระแม่ธรณีบีบมวยผม ผมก็เห็นเหตุการณ์วันนั้น เรายังมีความรู้สึกเศร้าสลดใจเลยว่า นี่หรือเมืองไทย มึงทำกันได้ขนาดนี้ ซึ่งเราดูแล้วมันไม่ใช่ฝีมือพวกเราแน่ ไม่ใช่แน่ๆ ซึ่งก็อาจจะมีกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง คณะใดคณะหนึ่งได้เตรียมการไว้แล้วที่จะต้องทำในลักษณะนี้ แต่ไม่ใช่พวกเรา ผมยืนยัน” ชุบ กล่าวยืนยันด้วยน้ำเสียงจริงจัง

“คือพยายามจะสร้างสถานการณ์ ไม่ใช่(พวกเรา)แน่นอน ” จิรศักดิ์ สุรโชติ กระทิงแดงอีกคนหนึ่งกล่าวเสริม

“เพราะว่าพวกเราประชุมกันอยู่ที่โรงแรมรอยัล” สุวรรณ กล่าวเพิ่มเติม

“เราทำไม่ลงหรอก” สืบพงษ์ กล่าว

“เราเป็นจำเลยสังคม” สุวรรณ กล่าว

3 กระทิงแดง.jpg
  • จิรศักดิ์, สืบพงษ์, ชุบ

บรรยากาศ อารมณ์คน ในเช้าวันนั้น

ชุบและสุวรรณ ช่วยกันเล่าบรรยากาศในเช้าวันนั้นว่ายิ่งกว่าสงครามเพราะมีความชุลมุนวุ่นวาย มีทั้งตำรวจทหารทั้งในและนอกเครื่องแบบ และมีประชาชนจากทั่วสารทิศมารวมตัวกันที่สนามหลวง ส่วนพวกตนและกลุ่มอาชีวะก็ยังประชุมกันอยู่ที่อยู่โรงแรมรอยัลตั้งแต่เช้าถึงเที่ยง (10.00-12.00 น.) แต่ประชุมยังไม่ทันเสร็จ ก็เกิดเหตุรัฐประหารเสียก่อน

“ยังประชุมกันไม่จบเลย เกิดเหตุการณ์ยึดอำนาจ (เกิดเหตุความรุนแรง) ซะก่อน เราก็โดยปริยายแล้ว คนโน่นก็วิ่งออก คนโน่นก็วิ่งเข้า มันก็เลยไม่มีมติ” วรรณ เล่าเหตุการณ์ขณะที่อยู่โรงแรมรัตนโกสินทร์

สุวรรณ กระทิงแดง.jpg
  • สุวรรณ เอมรัฐ สมาชิกกระทิงแดง

“มันไม่สามารถคอนโทรลอะไรได้แล้ว คอนโทรลอะไรไม่ได้ ผู้คนมากันบนท้องสนามหลวงกันเต็มหมดแล้ว บรรยากาศยิ่งกว่าสงครามอีก เพราะว่าข้างนอกมันมีทั้งตำรวจทหารนอกเครื่องแบบเยอะแยะ มันไม่มีใครช่วยได้ คือไอ้คนที่อยู่ข้างนอกมันเป็นฝ่ายตรงข้ามกับนักศึกษาทั้งหมดแล้ว ที่อยู่บนท้องสนามหลวง… ผมไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร แต่เขาเป็นคนไทยล่ะ คนไทยหน้าแบบเราๆ นี่ล่ะ มันหลากหลายมาก” ชุบ เล่าเหตุการณ์

“มันมีคนตะโกนว่า เฮ้ย พวกนี้พวกญวน ก็ไม่มีใครช่วยได้” วรรณ กล่าว

“มันจะห้ามได้ยังไง มันกลุ่มเขา เขาลาก(ศพ)ใครเขาไปคนหนึ่งแล้วไปทำปู้ยี้ปู้ยำ แต่พอพูด เฮ้ย ไอ้นี่มันญวน ใครจะไปห้าม ก็พวกเขาทั้งนั้น มีแต่ โฮ่ โฮ่ โฮ่ คือหมายถึงว่าไปตามกระแสตามเหตุการณ์” จิรศักดิ์ กล่าว

“ใครจะไปห้ามละ ห้ามเขาก็ไม่ฟัง” สืบพงษ์ เสริม

“เหตุการณ์พาไป” สุวรรณ กล่าว

“โดนทั้งตี โดนทั้งตีน พูดไม่ออก แม่งบอกญวน เห็นไหมพูดไทยไม่ได้เลย แม่งเป็นญวน” สุวรรณเล่าไปขำไป

“ส่วนใหญ่พวกนักศึกษาก็จะเป็นคนใต้ซะเยอะ เพราะผู้นำนักศึกษาช่วงนั้น คุณสุธรรม แสงประทุม ก็คนใต้ คนเราพอตกใจก็ไม่รู้จะพูดภาษาอะไรก็พูดภาษาท้องถิ่นของตัวเอง ไอ้ทางนี้ก็หาว่า เฮ้ย พวกนี้แม่งญวน แม่งพูดไม่รู้เรื่อง ซึ่งไม่ใช่ มีแต่คนไทยทั้งนั้น” ชุบ กล่าว


ผ่านมา 45 ปี 4 กระทิงแดงมองเหตุการณ์นั้นอย่างไร

“ผมคิดว่ามันเป็นการวางแผนอยู่แล้ว มันไม่ใช่อุบัติเหตุนะ ทุกคนก็อาจจะบอกว่าเป็นอุบัติเหตุ แต่ไม่ใช่ ผมเชื่อว่ามันมีการวางแผนจากกลุ่มคณะใดคณะหนึ่งที่ต้องการแสวงหาอำนาจ” ชุบ นิ่งสักพักหนึ่งก่อนตอบคำถาม

“นั่นแหละ แล้วเขาก็พยายามสร้างสถานการณ์ขึ้นมาโดยอาศัยพวกเราเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้เหตุการณ์รุนแรงขึ้นเพื่อเป็นเงื่อนไขในการที่เขาจะเข้าสู่อำนาจ”  สืบพงษ์กล่าว

“เพราะช่วงนั้นกลุ่มกระทิงแดงมีการเคลื่อนไหวรุนแรงไง ก็เลยเป็นภาพลักษณ์​ที่รุนแรงมาโดยตลอด แต่ข้อเท็จจริงไม่ใช่ แต่เราจะไปพูดให้ใครฟังได้ล่ะ ถูกไหม” ชุบ กล่าว

“ไม่ดีเลยครับ เป็นความรุนแรงที่เกินกว่าเหตุ ทำเกินไป คนไทยด้วยกันไม่น่าทำกันถึงขนาดนั้น พวกผมเศร้าใจมาก มันไม่ควรทำกันขนาดนั้น เอาคนไปแขวนคออย่างนี้ ไปเผาอย่างนี้ คนไทยทำกันได้ขนาดนี้เชียวหรือ มันไม่ใช่หรอกครับ คือจะเป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่เป็น มันก็ไม่จำเป็นต้องทำกันขนาดนั้นหรอก ทำอย่างอื่นได้เยอะแยะ จับไปขัง ไปดำเนินการทางกฎหมายไป” สืบพงษ์ กล่าว

ชุบเล่าต่อว่า ในช่วงความเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่ 2516-2517 นอกจากกลุ่มกระทิงแดง ยังคงมีอีกหลายกลุ่มที่เคลื่อนไหวเช่นเดียวกัน แต่พอมีเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อไรกลุ่มต่างๆ มักโยนความผิดมาให้กลุ่มกระทิงแดงเสมอ รวมถึงสื่อมวลชนในขณะนั้นก็มักจะพาดหัวข่าวว่ากระทิงแดงเป็นคนทำตลอด และด้วยความที่ภาพลักษณ์ของกลุ่มไปทางนั้นแล้วจึงไม่ได้ออกมาปฏิเสธใดๆ เพราะปฏิเสธไปก็ไม่มีใครเชื่อ

“เราก็พิจารณาอยู่ว่าเราก็เป็นส่วนหนึ่งเหมือนกัน แต่ในขณะเดียวกันเราก็มีความรู้สึกว่า ไอ้ห่า ศูนย์นิสิตฯ มันก็ฝักใฝ่คอมมิวนิสต์เหมือนกันนี่หว่า ความรู้สึกผมนะ เพราะมันมีความเชื่อมโยงกัน วันนั้นจากเหตุการณ์ที่เขาโดนปราบปราม 6 ตุลาฯ  เขาก็ไปร่วมกับ พคท. ทำให้ พคท.ขยายฐานไปใหญ่โต ซึ่งเราก็มองดูว่าเข้าป่ากันไปเยอะ” สุวรรณ กล่าว

หลังเกิดเหตุการณ์โศกนาฏกรรมในวันที่ 6 ต.ค.2519 นักศึกษา ปัญญาชน จำนวนมากที่รอดชีวิตได้หนีการปราบปรามของคณะรัฐประหารเข้าเขตป่าเขาไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ทำให้ขบวนการติดอาวุธที่มุ่งยึดอำนาจรัฐไทยขยายใหญ่โตอย่างรวดเร็ว สงครามปราบปรามคอมมิวนิสต์ดำเนินต่อเนื่องไปอีกหลายปี 

จิรศักดิ์เล่าว่า กลุ่มกระทิงแดงบางส่วนที่ยังอยู่กับพลตรีสุดสาย ถูกส่งไปคุ้มกันบริษัทเอกชนที่รับสัปทานก่อสร้างเส้นทางสายเศรษฐกิจที่ตัดผ่านพื้นที่ป่าเขาเขตสีแดง อันเป็นยุทธศาสตร์ตัดกำลัง พคท.ของรัฐไทยในขณะนั้น โดยมีกำลังทหารตามฐานที่มั่นต่างๆ คอยเป็นกำลังรบหลัก เหล่าชายฉกรรจ์กลุ่มกระทิงแดงต้องเสี่ยงชีวิตจากการถูกซุ่มโจมตี เพื่อนบางคนของเขาเสียชีวิตในภารกิจนี้ แต่พวกเขาก็ได้รับค่าตอบแทนสูงมากนับหมื่นบาทต่อเดือน  

จิระศักดิ์ กระทิงแดง.jpg
  •  จิรศักดิ์ สุรโชติ สมาชิกกลุ่มกระทิงแดง

“เราก็เป็นหมากตัวหนึ่ง”

“เราเองก็เป็นหมากตัวหนึ่งเท่านั้น หมากของคนที่เราเรียกว่า ไอ้โม่ง มือที่มองไม่เห็น ที่แสวงหาอำนาจ ก็เป็นคนที่เดินหมากรุก เราก็เป็นเบี้ยตัวหนึ่งในนั้น ทุกคนเป็นเบี้ยกันหมด พอเกมชนะเสร็จก็คือ เป็นการแย่งชิงอำนาจกันระหว่างสองกลุ่ม คนเล่นสองฝ่ายมันแย่งชิงอำนาจกัน ใครชนะก็ชนะ ไอ้พวกเราเป็นหมากเท่านั้นเอง” สืบพงษ์ กล่าว

“สองฝ่ายอยากมีอำนาจ ทำยังไง ก็ต้องมีการวางแผนว่าจะต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ ในการดำเนินการอย่างนี้ จำเป็นจะต้องใช้กองกำลังอย่างนี้ กองกำลังพวกนี้จะต้องมีหน้าที่ทำอย่างนี้ๆ ทุกอย่างมีการวางแผนเป็นขั้นเป็นตอนโดยผู้ที่ต้องการมีอำนาจทั้งสิ้น และพวกเรารวมถึงพวกเขาด้วย (ฝ่ายนักศึกษา) ก็ล้วนแล้วแต่ถูกใช้ให้ไปมีส่วน มีบทบาท เพื่อให้ความต้องการของผู้ที่อยากมีอำนาจประสบความสำเร็จ” สืบพงษ์ กล่าว


การปรากฏตัวอีกครั้งในปี 2556

กลุ่มกระทิงแดง หายไปจากสังคมยาวนาน หากแต่บรรดาแกนนำยังรวมกลุ่มพบเจอกันอยู่ กระทั่งมีการปรากฏตัวอย่างเป็นทางการอีกครั้งในปี 2556 ด้วยการออกแถลงการณ์ ‘แถลงจุดยืนกลุ่มอาชีวะและอดีตผู้นำ’ [20] และเปิดตัว 'กลุ่มแนวร่วมกอบกู้วิกฤติชาติ' เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2556 ที่ห้องประชุม 14 ตุลาฯ ถนนราชดำเนินกลาง โดยมีนายบวร ยสินทร ประธานเครือข่ายราษฎรอาสาปกป้องสถาบัน, นายทอง ทัศนมณเฑียร ตัวแทนหน่วยปฎิบัติการพิเศษกระทิงแดง และนายอัณคามิลโล เพียรพบ อดีตผู้นักเรียนอาชีวะ เป็นแกนนำ

แถลงการณ์กระทิงแดง 2556.jpg
  • แถลงการณ์กลุ่มกระทิงแดง และ กลุ่มแนวร่วมกอบกู้วิกฤตชาติ ช่วงปี 2556

“วิกฤติชาติในครั้งนี้ขอให้ผู้ที่เคยร่วมต่อสู้กันมา จงมารายงานตัวที่กองบัญชาการ 103 เดิม ทั้งกลุ่มนวพล ลูกเสือชาวบ้าน ประชาชน และนักเรียนอาชีวะเก่าและใหม่ทุกสถาบัน เพื่อร่วมต่อสู้กอบกู้ชาติ จะมีการอบรมให้ความรู้กับอาชีวะรุ่นเก่าขยายสู่อาชีวะรุ่นปัจจุบัน และขยายไปสู่ทุกสถาบันอาชีวะ 500 กว่าแห่งทั่วประเทศ เพื่อออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านบุคคลที่ไม่หวังดีต่อประเทศ หวังเปลี่ยนแปลงรัฐใหม่ และส่งเครือข่ายแทรกซึมในหมู่บ้านคนเสื้อแดง สังเกตการณ์ความเคลื่อนไหวต่างๆ ด้วย” บวรกล่าวในงานแถลงจุดยืน

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่กลุ่มกระทิงแดง หรือ กลุ่มแนวร่วมกอบกู้วิกฤติชาติ ออกแถลงจุดยืนในช่วงปลายเดือน ก.พ. 56 ก็ไม่พบการออกมาเคลื่อนไหวในหน้าข่าวอีกเลย


จากรุ่นสู่รุ่น : กระทิงแดง 19 สู่อาชีวะปกป้องสถาบันฯ 63

“จริงๆ อาชีวะสนใจการเมืองมานานแล้ว อยู่คู่ขนานกันมาตั้งแต่รุ่นกระทิงแดง เป็นการ์ด เป็นกำแพงด่านหน้าให้กับนักศึกษา แต่พอมาวันนี้ นักศึกษาเขาไปฝั่งโน้นกันเยอะ เขาซึมซับเรื่องที่บางครั้งมันก็จริง บางครั้งก็ไม่จริง เราไม่รู้ แต่ผมเชื่อว่าเรื่องที่เขารู้มันไม่จริง”  คำกล่าวของอาชีวะรุ่นใหม่ อัครวุธ ไกรศรีสมบัติ หรือ ‘เต้ อาชีวะ’ เมื่อ 6 มี.ค. 2564 ในกิจกรรมแสดงเจตนารมณ์ปกป้องสถาบันฯ ที่หน้าเซ็นทรัลเวิลด์

เต้ อาชีวะปกป้องสถาบันดกลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบัน_๒๐๑๐๒๓_0.jpgอาชีวะปกป้องสถาบัน 2564

ในช่วงปี 2563-2564 กลุ่มการเมืองภาคประชาชนฝ่ายขวา อย่าง ‘อาชีวะปกป้องสถาบันฯ’ ออกมาเคลื่อนไหวแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่กลุ่มราษฎร 63 กำลังเคลื่อนไหวโดยมีเรียกร้องหนึ่งคือ การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ นอกจากนี้กลุ่มอาชีวะรุ่นใหม่ยังเคยให้สัมภาษณ์ถึงความสัมพันธ์กับกลุ่มกระทิงแดงในอดีตด้วย และสืบพงษ์ ม่วงชู และ สุวรรณ เอมรัฐ อดีตกลุ่มกระทิงแดงเมื่อ 45 ปีก่อนก็ยังเป็นผู้มีบทบาทต่อกลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบันฯ ในปัจจุบัน

กลุ่มปกป้องแถลงจุดยืน ภาพจากอัมริน
  • งานแถลงจุดยืนกลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบันฯ เมื่อ 30 ต.ค. 63 ที่เตาปูนแมนชั่น (ภาพโดยอัมรินทร์)

“ใครกลุ่มใดจะทำอย่างไร เราไม่ยุ่ง เราเคารพในความคิดของพวกท่านเหล่านั้น เราขออย่างเดียวอย่าได้จาบจ้วง ดูหมิ่น แตะต้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นที่รักยิ่งของพวกเราประชาชนชาวไทย เราขอแค่นั้น แต่ถ้าท่านยังไม่เชื่อฟัง เราก็คงจะต้องมีปฏิกิริยาในการต่อต้านอย่างใดก็แล้วแต่เราจะพิจารณา แต่ขอยืนยันว่าทางอาชีวะเราจะไม่ไปใช้กำลังอย่างรุนแรงก่อนเป็นอันขาด” สืบพงษ์ กล่าวในงานแถลงจุดยืนกลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบันฯ เมื่อ 30 ต.ค. 2563 ที่เตาปูนแมนชั่น [21]

 สืบพงษ์บอกถึงสาเหตุที่ต้องออกมาแสดงเจตนารมณ์อีกครั้ง แม้เข้าสู่วัยบั้นปลายชีวิตแล้วว่า 

“เรารู้สึกว่ามันเกินไป เรารู้สึกว่าชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์มีภัย เราเคยปกป้องมา ตอนนี้ถึงจะปกป้องไม่ค่อยไหว ก็ขอให้ออกมาแสดงเจตนารมณ์หน่อย ให้พวกเด็กๆ น้องๆ รุ่นหลังดูว่า เฮ้ย พวกผู้เฒ่าอย่างเราก็ยังไม่ได้เพิกเฉยนะ ยุติซะดีกว่า เขาเรียกว่ามาปราม ส่วนจะฟังไม่ฟังก็เรื่องของเขาไป...แต่จะให้นอนอยู่บ้านเฉยๆ ไม่ออกมาทำอะไรเลยมันก็ไม่ใช่วิสัยของพวกเรา เราก็ได้แต่ออกมาแสดงเจตนารมณ์จุดยืนของเราว่า เราไม่เห็นด้วย เราปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ พวกคุณไม่เห็นด้วยก็เรื่องของคุณไป ทำไรคุณไม่ได้หรอก แต่ให่รู้ไว้ว่าอย่างน้อยๆ ก็มีคนกลุ่มหนึ่งยังยึดมั่นในสถาบันฯ เหล่านี้อยู่” สืบพงษ์ กล่าว

สืบพงษ์ ม่วงชู ภาพจาก อัมรินทร์


มองคนรุ่นใหม่-ราษฎร 63 ผ่านสายตา ‘กระทิงเฒ่า’

กาลเวลาผ่านไปเกือบครึ่งศตวรรษ กระทิงเฒ่าอย่างสืบพงษ์มองการเคลื่อนไหวของหนุ่นสาวคนรุ่นใหม่ที่ต้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในปัจจุบันว่า 

“ผมบอกตรงๆ ว่า เราต้องยอมรับว่าโลกเปลี่ยนเราต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลง พวกผมก็เคยคุยกันนะว่า ที่เด็กๆ ที่ออกมาด้วยจิตใจของเขา เราต้องยอมรับสำหรับคนกลุ่มนี้ว่า เขามีความคิดอย่างนี้จริงๆ เพราะฉะนั้น สักวันหนึ่งพวกเราก็ต้องแก่ตายไป และสักวันหนึ่งไอ้คนหนุ่มพวกนี้ที่อายุ 10-20 กว่า อีกสัก 10-20 ปีข้างหน้า คนพวกนี้ก็จะขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ แล้วคนพวกนี้ก็จะขึ้นมาปกครองดูแลบ้านเมือง เพราะฉะนั้นถึงตอนนั้นประเทศไทยอาจจะต้องเปลี่ยนไปตามความคิดของพวกเขาก็ได้ เพราะคนที่จงรักภักดีอย่างพวกเราหมดแล้ว แต่พวกเขาก็ไม่ใช่ว่าเขาคิดผิด ความคิดเขาอาจจะถูกก็ได้ พอถึงตรงนั้นเขาแข็งแรงขึ้นมา”

  “วิธีที่จะให้อะไรก็แล้วแต่อยู่ยงคงกระพัน สิ่งนั้นต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เช่น สถานการณ์ขณะนี้เป็นอย่างนี้ ดีไม่ดี ถูกไม่ถูก ผมคิดว่าองค์กรนั้นน่าจะรู้ ถ้าเขาปรับให้ดีขึ้น อะไรต่ออะไรมันก็คงดีขึ้น...ถึงเวลานั้นผมอาจจะไม่อยู่เห็นแล้วก็ได้ แต่สรุปว่า ณ บัดนี้ พวกผมยังปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่อย่างมั่นคงแข็งแรงมาก” สืบพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย

สืบพงษ์ กระทิงแดง.jpg

_____________________________________________________________________________

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

1. สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. (2544). ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง. น.182

2.shorturl.asia/ZMegV

3. สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. 2544. อาชญากรรมรัฐในวิกฤตการเปลี่ยนแปลง. น.174

4. สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. 2544. อาชญากรรมรัฐในวิกฤตการเปลี่ยนแปลง. น.174,140 

5. สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. 2544. อาชญากรรมรัฐในวิกฤตการเปลี่ยนแปลง. น.136

6. สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. 2544. อาชญากรรมรัฐในวิกฤตการเปลี่ยนแปลง. น.135-136

7. สัมภาษณ์สมศักดิ์ ขวัญมงคล อดีตหัวหน้ากระทิงแดง. (2539). นิตยสารสารคดี เล่ม 20 ปี 6 ตุลา 19 ประวัติศาสตร์ที่หลายคนอยากลืม. น.160

8. สัมภาษณ์พลตรีสุตสาย หัสดิน เจ้าพ่อกระทิงแดง. (2539). นิตยสารสารคดี เล่ม 20 ปี 6 ตุลา 19 ประวัติศาสตร์ที่หลายคนอยากลืม. น.168

9. สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. 2544. อาชญากรรมรัฐในวิกฤตการเปลี่ยนแปลง. น.134-135

10. สัมภาษณ์พลตรีสุตสาย หัสดิน เจ้าพ่อกระทิงแดง. (2539). นิตยสารสารคดี เล่ม 20 ปี 6 ตุลา 19 ประวัติศาสตร์ที่หลายคนอยากลืม. น.166

11. สัมภาษณ์สมศักดิ์ ขวัญมงคล อดีตหัวหน้ากระทิงแดง. (2539). นิตยสารสารคดี เล่ม 20 ปี 6 ตุลา 19 ประวัติศาสตร์ที่หลายคนอยากลืม. น.160

12. สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. 2544. อาชญากรรมรัฐในวิกฤตการเปลี่ยนแปลง. น.148

13. https://prachatai.com/journal/2019/03/81314

14. สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. 2544. อาชญากรรมรัฐในวิกฤตการเปลี่ยนแปลง. น.135

15. สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. 2544. อาชญากรรมรัฐในวิกฤตการเปลี่ยนแปลง. น.136

16. เนชั่นสุดสัปดาห์ 4-10. มิ.ย. 2544 หน้า 11

17. สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. 2544. อาชญากรรมรัฐในวิกฤตการเปลี่ยนแปลง. น.141

18. https://waymagazine.org/6-october-in-newspaper/

19. ในหนังสือพิมพ์ดาวสยาม ฉบับวันที่ 6 ต.ค. 2519 หน้า 16 

20. https://prachatai.com/journal/2013/02/45401

21. https://www.youtube.com/watch?v=UvXXOqGhU7I


อ่านงานที่เกี่ยวข้อง

กิตติ พันธภาค
Journalism is not a Crime.
12Article
11Video
0Blog