ไม่พบผลการค้นหา
การอุ้มหายของ 'วันเฉลิม' นักกิจกรรมทางการเมืองไทย จุดประกายให้ 'ชัยยะ' ผู้ใช้งานทวิตเตอร์ชาวเกาหลี เคลื่อนไหวหนุนการเรียกร้องประชาธิปไตยในไทย

ชื่อของสมาชิกผู้ใช้งานทวิตเตอร์บัญชี 'ชัยยะ | 창시 @call119now'ได้ถูกพูดถึงบนโลกโซเชียลมีเดียในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา หลังผู้ใช้ทวิตเตอร์รายนี้ ได้ทวีตข้อความว่า ฝ่ายกฎหมายของทวิตเตอร์ได้รับหมายศาลไทยที่ระบุว่าบัญชีทวิตเตอร์ของเขามีเนื้อหาละเมิดต่อกฎหมายไทย

"ผมโดนรัฐบาลไทยฟ้อง อยากจะบอกว่าคุณอาจจะปิดปากคนต่างชาติอย่างผมได้ แต่คุณหยุดประชาชนไทยออกไปประท้วงไม่ได้หรอก" ข้อความที่สมาชิกทวิตเตอร์บัญชี @call119now ระบุ

บัญชีสมาชิกทวิตเตอร์ที่ใช้ชื่อว่า 'ชัยยะ' ซึ่งเคลื่อนไหวผ่านโลกโซเชียลสนับสนุนขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในไทย ได้สัมภาษณ์เปิดเผยเรื่องราวของตนกับ ‘วอยซ์ออนไลน์’ ว่า เขาเป็นพลเมืองเกาหลีใต้ เกิดและใช้ชีวิตที่เกาหลีใต้มาโดยตลอด แต่มีความสนใจเรื่องราวต่างๆ ของประเทศไทยมานานแล้ว รวมถึงเรียน 'ภาษาไทย' เป็นสาขาวิชาเอกในระดับมหาวิทยาลัยระหว่างที่มาแลกเปลี่ยนในไทย

ยิ่งเมื่อได้มาเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนระดับมหาวิทยาลัยในไทยหนึ่งภาคเรียน ทำให้มีโอกาสเรียนรู้ทักษะภาษาไทย จึงทำให้เข้าถึงข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับไทยเป็นอย่างดี

“ผมมีครูภาษาไทยสองคน หนึ่งคืออาจารย์ภาควิชาภาษาไทยของมหาวิทยาลัยที่เคยมาแลกเปลี่ยน กับสองคือวง BNK48” ชัยยะเผย  

วันเฉลิม wwww2008.jpg

‘วันเฉลิม’ ชะตากรรมเดียวกับอดีตนักเคลื่อนไหวเกาหลี

'ชัยยะ' ซึ่งเป็นสมาชิกทั่วไปของพรรค Justice Party ของเกาหลีใต้ เผยว่า อยากเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคการเมืองมานานแล้ว แต่ด้วยข้้้้้้อห้ามช่วงที่ต้องเข้าประจำการเป็นทหาร กองทัพเกาหลีใต้มีกฎเข้มงวด ห้ามทหารมีส่วนร่วมทางการเมือง เพื่อป้องกันการก่อรัฐประหาร จึงเพิ่งเข้าเป็นสมาชิกพรรคในภายหลัง

แม้ตลอดเวลา 3 ปีที่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง เขาไม่ได้มีส่วนร่วมใดๆ กับพรรคมากนัก กระทั่งเกิดกรณีการหายตัวไปของ 'วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์' ทำให้เขานึกถึงกรณี 'คิมแดจุง' อดีตประธานาธิบดีคนที่ 8 เจ้าของรางวับโนเบลสันติภาพ ผู้ซึ่งสมัยเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย เคยถูกลักพาและเกือบถูกลอบสังหารตัวโดยฝีมือรัฐบาล 'พัคจองฮี' อดีตผู้นำเผด็จการเกาหลีใต้ จึงตัดสินใจเผยแพร่เรื่องราวของวันเฉลิมไปยังสื่อมวลชนแขนงต่างๆ และในฐานะที่เกาหลีใต้ประกาศตัวเองว่าเป็นสาธารณรัฐที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย จึงควรที่จะแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับคนในประเทศอื่นๆ ที่เรียกร้องประชาธิปไตย

"ช่วงนั้นแทบไม่มีสื่อใดในเกาหลีที่รายงานกรณีวันเฉลิมเลย ผมพยายามส่งเรื่องราวนี้ให้กับสื่อแม้ตัวเองจะไม่ใช่คนมีชื่อเสียง ทำข้อมูลลงวิกิพีเดียเป็นภาษาเกาหลี ใช้เวลากว่า 3 เดือน เรื่องราวนี้จึงเริ่มถูกรายงานผ่านสื่อโซเชียล จนถึงทีวีช่องหลัก .. ตอนนี้เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่เกาะติดสถานการณ์ในไทยมากที่สุด"

"คนเกาหลีส่วนใหญ่ที่ทราบถึงสถานการณ์ในไทย .. หลายคนสนับสนุนขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในไทย เพราะเกาหลีใต้เคยมีประวัติศาสตร์การต่อสู้ที่คล้ายกัน"

"สิ่งที่คนเกาหลีไม่สามารถยอมรับได้คือ ความไม่เท่าเทียมทางการเมือง ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วในการขับไล่อดีตประธานาธิบดีพัคกึนเฮ"

ชัยยะกล่าวโดยยกกรณีอื้อฉาวสมัยอดีตผู้นำหญิงเกาหลีใต้ นอกจากนี้ ชัยยะยังได้ยกกรณีเรื่องอื้อฉาวของโชกุก อดีตรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมที่กำลังเป็นประเด็นในขณะนี้

ชัยยะได้ยกบางส่วนของรัฐธรรมนูญเกาหลี ซึ่งสะท้อนถึงบรรทัดฐานของความเท่่่่่่่่่่าเทียมในสังคมเกาหลีด้วยว่า

แม้แต่บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ยังระบุว่า “จะไม่มีการยอมรับชนชั้นวรรณะพิเศษใดๆ และจะสถาปนาระบอบชนชั้นวรรณะพิเศษในรูปแบบใดๆ มิได้”


เนื้อหาทวิตเตอร์ผิด ก.ม.ไทย

'ชัยยะ' เผยว่า เขาได้รับแจ้งจากฝ่ายกฎหมายของทวิตเตอร์เมื่อวันที่ 21 ต.ค. เกี่ยวกับทวีตข้อความหนึ่ง ที่อาจเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายอาณาของไทย เรื่องนี้ชัยยะเผยว่า เขาไม่อยากให้ผู้คนมุ่งความสนใจที่ตัวเขา แต่อยากให้ผู้คนสนใจถึงความ 'คลุมเครือ' ของการใช้กฎหมายดังกล่าวมากกว่า

เมื่อถามว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ชัยยะระบุว่า "ผมได้พูดคุยกับสมาชิกพรรค Justice Party ถึงเรื่องที่เกิดขึ้น รวมถึงได้รับการติดต่อจากสื่อเกาหลี แต่ตอนนี้ตัดสินใจที่ยังไม่ดำเนินการใดๆ ต่อ และตามผมที่ระบุในทวิตเตอร์ว่าเรื่องนี้กำลังอยู่ในความสนใจของสื่อเกาหลีอย่างมาก และเผยแพร่เรื่องราวสู่สาธารณะเกาหลีต่อไป"

สนับสนุน ‘ราษฎร’

เมื่อถามถึงกลุ่มราษฎร ชัยยะ บอกว่า เขาสนับสนุนต่อท่าทีและข้อเรียกร้องของกลุ่มราษฎรอย่างเต็มที่ "ถึงเวลาต้องยุติประวัติศาสตร์แห่งการปราบปรามเสียที เป็นเรื่องธรรมดาที่จะคาดหวังการแก้ปัญหาแบบประชาธิปไตย ไม่ใช่การรัฐประหาร” 

“ผมอยากพูดให้ชัดเจนว่า สำหรับประเทศไทย ประชาธิปไตยไม่ใช่สิ่งที่ควรเกิดขึ้นในภายหลัง แต่ควรเกิดขึ้น เดี๋ยวนี้ ตอนนี้”

ตัวเขาก็จะเดินหน้าพยายามทุกอย่างเท่าที่ทำได้ สนับสนุนจนกว่าไทยจะมีประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์

ชัยยะ ทิ้งท้ายด้วยการ ฝากถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ศึกษาประวัติศาสตร์สมัยอดีตประธานาธิบดี พักจองฮี นายพลอดีตผู้นำเผด็จการเกาหลีใต้ ว่ามีจุดจบอย่างไร 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: