ไม่พบผลการค้นหา
กระทรวงสาธารณสุข สั่งห้าม 8 ประเทศจากทวีปแอฟริกาเข้าไทย ตั้งแต่ 1 ธ.ค.64 สกัดโควิดสายพันธุ์ 'โอไมครอน'

ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงมาตรการเฝ้าระวังเชื้อไวรัสโควิด 19 กลายพันธุ์ โดย นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกประชุมและสรุปเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ว่าควรจะยกระดับสายพันธุ์ B.1.1.529 เป็นสายพันธุ์น่ากังวล และตั้งชื่อว่า "โอไมครอน" ซึ่งพบเมื่อช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน เริ่มที่ประเทศบอตสวานา และระบาด 5-6 ประเทศใกล้กันบริเวณแอฟริกาใต้ และตรวจเจอคนเดินทางจากแอฟริกาใต้ไปยังฮ่องกง เบลเยียม และอิสราเอล บางคนได้รับวัคซีนครบแล้ว ส่วนประเทศไทยมีระบบเฝ้าระวังตรวจรหัสพันธุกรรมยังไม่มีสายพันธุ์นี้ โดยยังเฝ้าระวังต่อเนื่อง

"สายพันธุ์โอไมครอนมีการกลายพันธุ์ 50 กว่าตำแหน่ง โดย 32 ตำแหน่งอยู่บนโปรตีนหนามที่จับกับเซลล์มนุษย์ ต้องจับตาว่าตำแหน่งที่กลายพันธุ์จะมีปัญหาหรือไม่ ซึ่งมีการสันนิษฐานจากตำแหน่งการกลายพันธุ์ว่า อาจเพิ่มอำนาจการแพร่เชื้อมากขึ้น หรือหลบภูมิคุ้มกันได้ ส่วนพื้นที่ที่ตรวจพบสายพันธุ์นี้มีข้อมูลว่า ตรวจเจอเชื้อค่อนข้างมาก สะท้อนว่าอาจแพร่ติดเชื้อง่ายหรือเร็วขึ้น แต่ข้อมูลในสนามจริงยังมีไม่มากพอ ต้องติดตามข้อมูลต่อไป ซึ่งองค์การอนามัยโลกขอความร่วมมือทุกประเทศช่วยกันตรวจสายพันธุ์นี้ เพื่อรายงานว่ามีการแพร่กระจายไปที่ไหน" นพ.ศุภกิจ กล่าว 

นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ส่วนผู้เดินทาง 63 ประเทศเข้าระบบ Test&Go ไม่มีประเทศในทวีปแอฟริกา แต่จะประสานโรงพยาบาลที่ตรวจพบเชื้อผู้เดินทางเข้าประเทศจากทุกระบบ ส่งตัวอย่างผลบวกทั้งหมดมาถอดรหัสพันธุกรรมที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อดูว่ามีสายพันธุ์นี้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม มาตรการป้องกันโรคยังใช้ได้ผล ทั้งเว้นระยะห่าง ลดแออัด หน้ากาก ล้างมือ และไวรัสตัวนี้ตรวจด้วย RT-PCR ได้ตามปกติ อย่างไรก็ตาม การเดินทางเข้ามาทางอากาศไม่ค่อยเป็นปัญหา เพราะมีมาตรการดูแลได้ครบถ้วน สิ่งที่กังวลคือช่องทางบก ที่ต้องเฝ้าระวังและขอให้ เจ้าหน้าทีเข้มงวดและประชาชนงดการลักลอบเดินทางเข้าออกประเทศ

นพ.โอภาส กล่าวว่า ข้อมูลในเชิงของระบาดวิทยา ลักษณะการระบาด ความรุนแรงของโรค ความสามารถในการแพร่กระจาย ความสามารถในการหลบเลี่ยงต่อวัคซีน หรือแม้กระทั่งยารักษาโรค ยังไม่มีข้อมูลชัดเจน เนื่องจากเป็นสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งขณะนี้ทั่วโลกร่วมกันจับตาอยู่

สำหรับประเทศไทย จากการติดตามอย่างใกล้ชิด มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล ร่วมกับประเทศต่างๆ ทำให้ประเทศไทยดำเนินการวางมาตรการควบคุมป้องกันโรค โดยแบ่งเป็นคือ

  • 1. ประเทศที่มีการพบสายพันธุ์ 'Omicron' และประเทศที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ดังกล่าว 8 ประเทศ ได้แก่ บอตสวานา, เอสวาตินี, เลโซโท, มาลาวี, โมซัมบิก, นามิเบีย, แอฟริกาใต้ และ ซิมบับเว จะไม่อนุญาตให้เข้าราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 64 และไม่อนุญาตให้ลงทะเบียน ตั้งแต่วันที่ 27 พ.ย. 64 ส่วนผู้ที่ได้รับอนุญาตแล้ว จะดำเนินการสั่งกักตัว เป็นเวลา 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 28 พ.ย. 64
  • 2.ประเทศอื่นในแอฟริกา นอกเหนือจาก 8 ประเทศ จะมีการกำหนดตามรูปแบบการเข้าราชอาณาจักร โดยไม่อนุญาตให้เข้าในรูปแบบ Test and Go และไม่อนุญาตให้เข้าในรูปแบบ Sand Box แต่สามารถเข้าราชอาณาจักรได้โดยการกักตัวในสถานกักกันที่ทางราชการกำหนดเท่านั้น และไม่อนุญาตให้ทำกิจกรรมนอกห้องพักเป็นเวลา 14 วัน ซึ่งจะต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 3 ครั้ง วันที่ 0-1, 5-6 และ 12-13 ทั้งนี้ จะไม่อนุญาตให้ลงทะเบียน ตั้งแต่วันที่ 27 พ.ย. 64 สำหรับผู้ที่ได้รับ อนุญาตทุกประเภท ให้ดำเนินการตามที่ได้รับอนุญาต จนถึง 15 ธ.ค. 64 หลังจากนั้นจะต้องกักตัวเป็นเวลา 14 วัน

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาพบข้อมูลผู้ที่เดินทางมาจากประเทศแถบแอฟริกาตอนใต้เข้าประเทศไทย จำนวนทั้งสิ้น 1,007 คน จาก 12 ประเทศ แบ่งเป็น บอตสวานา 3 คน นามิเบีย 16 คน แองโกลา 22 คน มาดากัสการ์ 7 คน เมอร์ริเซียส 27 คน แซมเบีย 5 คน เอสวาตินี 39 คน เอธิโอเปีย 45 คน โมซัมยิก 12 คน มาลาวี 2 คน แอฟริกาใต้ 826 คน และซิมบับเวย์ 3 คน เป็นการเข้ามาในรูปแบบแซนด์บ็อกซ์ ยังไม่พบว่ามีนักท่องเที่ยวติดเชื้อโควิด