ไม่พบผลการค้นหา
สธ.แจงแผนกระจายวัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดส 5 แนวทาง เล็งปรับแผนฉีด ให้บุคลากรด่านหน้า ที่ไม่เคยฉีดยี่ห้อใดๆมาก่อนด้วย

วันที่ 2 ส.ค. 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และประธานคณะทำงานด้านบริหารจัดการการให้วัคซีนโควิด 19 (Pfizer) พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดส

นพ.สุระ กล่าวว่า จากกระแสในสังคมเกี่ยวกับการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนทั่วไป ซึ่งวัคซีนไฟเซอร์ที่ประเทศไทยได้รับบริจาคจากสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2564 จำนวน 1,503,450 โดส จะจัดสรรให้กับเจ้าหน้าที่และบุคลากรที่มีความเสี่ยงครอบคลุมผู้ปฏิบัติงานด่านหน้า ผู้เกี่ยวข้องที่ต้องสัมผัสกับผู้ป่วยโควิด 19 โดยตรง และผู้ที่มีความเสี่ยง

ในส่วนการกระจายวัคซีน 1.จะมีการกระจายไปยังบุคลากรการแพทย์และสาธารณสุขที่ต้องดูแลผู้ป่วยโควิด 19 ทั่วประเทศ ทั้งในหน่วยบริการ โรงพยาบาลสนามรวม บุคลากรที่ให้บริการผู้ป่วยทั่วไปที่มีความเสี่ยงรับเชื้อ กลุ่มอาสาสมัครกู้ภัย และพนักงานเก็บศพ จำนวน 7 แสนโดส 

2.ในจังหวัดที่มีการแพร่ระบาด ซึ่งเป็นจังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 13 จังหวัด จำนวน 645,000 โดส 

3.กระทรวงการต่างประเทศ 150,000 โดส สำหรับชาวต่างชาติ และคนไทยที่มีความจำเป็นจะต้องเดินทางไปต่างประเทศ โดยจัดทำบัญชีรายชื่อเสนอมายังกระทรวงสาธารณสุขเพื่อให้หน่วยบริการดำเนินการฉีด

4.เพื่อศึกษาวิจัย 5,000 โดส

และ 5.สำหรับควบคุมการระบาดจากสายพันธุ์เบต้า จำนวน 3,450 โดส ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดลำดับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในระยะนี้ หากมีวัคซีนเพิ่มเติมจะมีการจัดสรรเพิ่ม

นพ.โอภาส กล่าวว่า วัคซีนไฟเซอร์มีความเข้มข้น การนำมาใช้จึงต้องเจือจางด้วยน้ำเกลือ การเก็บรักษาต้องอยู่ในอุณหภูมิ -90 ถึง -60 องศาเซลเซียส จะเก็บได้ 6 เดือน ส่วนการเก็บในอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียสจะเก็บได้ 1 เดือน การนำออกมาฉีดจึงต้องฉีดให้หมดในไม่กี่ชั่วโมง ต้องมีการซักซ้อมและเตรียมการ ข้อบ่งชี้คืออายุ 12 ปีขึ้นไป โดยฉีด 2 เข็มห่าง 3 สัปดาห์

นพ.โอภาส เปิดเผยว่า สำหรับการจัดสรรวัคซีนนั้น การประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคครั้งที่ 4/2564 เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญหลายสาขา ทั้งกุมารแพทย์ อายุรแพทย์ ด้านระบาดวิทยา ด้านวัคซีน และเวชศาสตร์ป้องกัน มีมติเรื่องคำแนะนำการให้วัคซีนโควิด 19 ของไฟเซอร์ในบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข 7 แสนโดส

โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมาย คือ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทุกคนที่ต้องสัมผัสผู้ป่วยโควิด-19 จากการปฏิบัติงานทั่วประเทศ รวมทั้งนักศึกษาและเจ้าหน้าที่ที่ต้องสัมผัสผู้ป่วยโควิด-19 จากการปฏิบัติงาน เช่น แผนกผู้ป่วยนอก แผนกผู้ป่วยใน คลินิกทางเดินหายใจ ห้องฉุกเฉิน แผนกผู้ป่วยวิกฤต รพ.สนาม เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ เจ้าหน้าที่สอบสวนโรค เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในสถานที่กักกัน หรือปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับภารกิจการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 อื่นๆ ตามการพิจารณาของสถานพยาบาลหรือหน่วยงานต้นสังกัด

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์.jpg

โดยมีหลักการให้วัคซีนดังนี้

1.บุคลากรที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคหรือซิโนฟาร์ม ครบ 2 เข็ม พิจารณาให้วัคซีนไฟเซอร์กระตุ้น 1 เข็ม  

2.บุคลากรที่ได้รับวัคซีนใดๆ มาแล้วเพียง 1 เข็ม พิจารณาให้วัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มที่ 2 โดยกำหนดระยะห่างระหว่างโดสตามชนิดของวัคซีนเข็มที่ 1 เป็นหลัก  

3.ผู้ที่ไม่เคยได้วัคซีนใดๆ มาก่อน พิจารณาให้วัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม ห่างกัน 3 สัปดาห์ 

4.ผู้ที่เคยติดเชื้อโควิดและไม่เคยได้วัคซีนมาก่อน พิจารณาให้วัคซีนไฟเซอร์ 1 เข็ม โดยมีระยะห่างจากวันที่พบการติดเชื้ออย่างน้อย 1 เดือน

นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการฯ มีคำแนะนำเพิ่มเติม คือ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่เคยได้รับวัคซีนดังต่อไปนี้ ยังไม่แนะนำให้วัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มกระตุ้น เนื่องจากการฉีดทั้ง 3 คือ

1.วัคซีนซิโนแวคเข็มแรกและแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 2 หรือสูตรสลับไขว้  

2.วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม

3.วัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม และได้รับเข็มกระตุ้นด้วยแอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็ม 

นพ.โอภาส กล่าวว่า 3 กลุ่มนี้เพราะยังมีภูมิคุ้มกันอยู่ในระดับที่สูงเพียงพอ และยังไม่มีข้อมูลวิชาการสนับสนุนว่าจะฉีดกระตุ้นอีกครั้งเมื่อไร แต่ให้ขึ้นทะเบียนรายชื่อไว้และติดตามพิจารณาข้อมูลวิชาการ โดยจะดำเนินการให้วัคซีนไฟเซอร์ตามข้อมูลวิชาการและจำนวนวัคซีนที่จะเข้ามาเพิ่มระยะต่อไป เพื่อให้บุคลากรด่านหน้ามีภูมิคุ้มกันเพียงพอ ปฏิบัติหน้าที่อย่างมั่นใจ ให้ประชาชนปลอดภัย ระบบดูแลรักษาผู้ป่วยไม่หย่อนลง