ไม่พบผลการค้นหา
ทักษิณ ชินวัตร ให้สัมภาษณ์กับสื่อ 'ไทยเอ็นไควเออร์' ยอมรับก่อนรัฐประหาร 49 ยังเดียงสาทางการเมือง ไม่รู้ว่าไทยเป็น 'รัฐซ้อนรัฐ' ชี้การลุกขึ้นประท้วงของนักศึกษา คือภาพสะท้อนความต้องการประชาธิปไตย ไม่เอาทหาร และไม่เอาการรับรองรัฐประหารจากสถาบันฯ

ในการให้สัมภาษณ์พิเศษ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ของเว็บไซต์ไทยเอ็นไควเออร์ เผยแพร่เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2564 ในภาพรวมเป็นการสัมภาษณ์ถึงเส้นทางการเมืองของตัวเอง ในช่วงที่ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี จนกระทั่งถูกรัฐประหารยึดอำนาจทางการเมืองในเดือน ก.ย. 2549 รวมถึงแสดงความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองไทยในปัจจุบัน

ทักษิณ กล่าวถึงการเริ่มต้นทำงานของ 'รัฐพันลึก' ในช่วงที่ตนเองเป็นนายกรัฐมนตรี หลังผู้สัมภาษณ์ถามถึงเรื่องการกำหนดทิศทางการบริหารประเทศ ซึ่งโดยปกติแล้วในการเข้ามามีอำนาจมักจะถูกล้อมรอบด้วยพันธมิตรทางการเมือง อย่างเช่น กลุ่มชนชั้นนำ ไปจนถึงนักการเมืองท้องถิ่น แต่ที่ผ่านมาดูเหมือนว่าพันธมิตรทางการเมืองของเขาไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวัง

เขาตอบว่า สำหรับประเทศไทย พันธมิตรที่รายล้อมมักจะเลือกอยู่ข้างคนชนะเสมอ เหมือนสุภาษิตที่ว่า ก่อนหมาจะตายเห็บก็กระโดดหนีก่อน นี่คือสไตล์ของไทย

และประเด็นหนึ่งที่เขาเผยออกมาคือ รัฐไทยเป็นรัฐพันลึก

“เราคือรัฐซ้อนรัฐที่มีบางอย่างอยู่ด้านหลัง เวลาที่คุณแข็งแกร่ง คุณจะไม่มีปัญหากับพันธมิตร พวกเขาจะซื่อสัตย์ตั้งใจทำงาน แต่พอรัฐซ้อนรัฐเริ่มทำงาน นั่นคือเวลาที่คุณต้องระมัดระวัง” ทักษิณ กล่าว

เขาเล่าต่อว่า ก่อนนี้เขาไม่รู้ว่าไทยคือรัฐซ้อนรัฐ เพราะเติบโตที่เชียงใหม่ เข้ามาเรียนในกรุงเทพ จากนั้นก็ไปต่างประเทศ และกลับมาทำธุจกิจ จึงเดียงสาและไม่เข้าใจสภาวะรัฐซ้อนรัฐของไทยมากนัก จนกระทั่งโดนขับไล่ ก็แทบจะไม่เชื่อว่าเรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นได้

อดีตนายกฯ คนที่ 23 ของไทย ระบุว่า กว่าที่เขาจะรู้ว่ารัฐซ้อนรัฐเริ่มทำงานและเริ่มไม่ชอบเขา ก็เป็นช่วงปีสุดท้ายของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีวาระแรก เนื่องจากเวลานั้นเริ่มมีการประท้วงที่ผิดปกติเกิดขึ้น แต่หลังจากนั้นเขาได้รับการเลือกตั้งกลับมาใหม่โดยมีที่นั่ง ส.ส. ในสภา 377 ที่นั่ง แต่ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เขากลายเป็นเหยื่อของความสำเร็จของตัวเอง

ทักษิณมองว่า ข้อครหาที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินนโยบายต่อต้านยาเสพติด ซึ่งถูกวิจารณ์อย่างหนักจากนักการเมือง และกลุ่มนักสิทธิมนุษยชนนั้น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ถูกหยิบขึ้นมาต่อต้านรัฐบาลของเขา เป็นการพูดเกินจริงของนักการเมืองและผู้สื่อข่าวฝั่งตรงข้าม ที่รวมเอาการสังหารที่กระทำโดยตำรวจภายใต้เขตอำนาจศาล และกรณีการฆาตกรรมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดเข้าไว้ด้วยกัน หลังจากการรัฐประหารปีแรกก็ได้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ แต่คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นก็ไม่มีหลักฐานที่ใช้เอาผิดเขาได้

อย่างไรก็ตาม ทักษิณยอมรับว่า เขาควรจะคิดถึงความบกพร่องในการจัดการนโยบายให้ละเอียดกว่านี้ และควรเป็นนโยบายที่เขาควรจะเข้าไปดูแลใกล้ชิดกว่านี้ เพื่อควบคุมพฤติกรรมของตำรวจที่ทุจริต

ส่วนปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ทวีความรุนแรงขึ้นภายใต้การบริหารของรัฐบาลของเขานั้น ทักษิณ ยอมรับว่า เขาควรดำเนินการทางการเมืองมากกว่านโยบายที่ได้ทำไป

อย่างไรก็ตามในช่วงที่ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมตรี เขาเองก็ได้เดินทางไปมาเลเซียเพื่อพบกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ เพื่อหาทางประนีประนอม แต่ก็ไม่เป็นผล

“ภายใต้รัฐบาลของน้องสาวผม คนของเราได้ดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ คือ คุณทวี สอดส่อง ซึ่งนำไปสู่การทำข้อตกลงในหลายด้านซึ่งกำลังเป็นไปด้วยดี แต่บางครั้งทหารบก โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ไม่เห็นด้วยกับการทำข้อตกลงและการพูดคุย”

ทักษิณ มองว่า ถ้าโครงสร้างของกองทัพอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือนอย่างแท้จริง ทุกสิ่งทุกอย่างจะเป็นไปด้วยดี เขาย้ำว่า ตอนเป็นนายกรัฐมนตรี เขาสามารถทำให้กองทัพอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือนได้ แต่สุดท้ายรัฐซ้อนรัฐเริ่มทำงานทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลงไป

เมื่อผู้สัมภาษณ์ถามว่า เพราะอะไรเขายังเลือกที่จะกลับมาในทางการเมืองอีกครั้งหลังการรัฐประหารปี 2549 ทักษิณตอบว่า จริงๆ แล้วเขาอยากไปให้ไกลจากการเมือง แต่ยังผู้มีอำนาจยังคงรังแกเขาอยู่ ผู้มีอำนาจหวาดกลัวเขา เหมือนเป็นผีดิบทางการเมือง

ทักษิณย้ำด้วยว่า หลังจากที่เขาต้องออกมาใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศหลายปี ก็ทำให้เข้าใจว่า ชีวิตต้องดำเนินต่อไปไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม เขายึดหลักการที่ว่า ชีวิตต้องมีคุณค่าสำหรับตัวเองและคนอื่น จึงต้องหาอะไรทำในทางสร้างสรรค์ให้มากที่สุด เลยเลือกที่จะลงทุนในเทคโนโลยี และเรียนรู้หลายเรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยี

“เพื่อว่าวันหนึ่งหากประเทศไทยต้องการสมอง และประสบการณ์ของผมอีกครั้งผมก็พร้อมจะแบ่งปัน ถ้าพวกเขาไม่ต้องการ ผมก็ใช้กับตัวเอง แต่ถ้าพวกเขาต้องการเมื่อไหร่ ผมก็พร้อมสนับสนุน ”

ทักษิณ มองถึงการลุกขึ้นต่อสู้ของกลุ่มนักศึกษาในประเทศไทยเวลานี้ ซึ่่งสะท้อนให้เห็นถึง ความพยายามต่อสู้เพื่ออนาคต คนในประเทศไทยตอนนี้พยายามจะคิดถึงอนาคตว่าในประเทศไทยกำลังจะไปทางไหน แต่ก็ยังมองไม่เห็น ทุกอย่างยังเป็นเหมือนเดิม ไม่มียุทธศาสตร์ ไม่มีวิสัยทัศน์สำหรับอนาคต จึงเป็นสาเหตุที่นักศึกษา คนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาประท้วง

“คนรุ่นใหม่ตอนที่เขายังเป็นเด็ก เขาได้ยินพ่อแม่และคนอื่นๆ พูดว่า ฉันจะได้งานใหม่ รถใหม่ บ้านใหม่ เมื่อ 20 ปีที่แล้ว แต่พอมาตอนนี้เขานั่งฟังพ่อแม่พูดอีกครั้งว่า ฉันกำลังจะตกงาน กำลังจะสูญเสียรถ กำลังจะสูญเสียบ้าน คนรุ่นใหม่คิดว่า ก่อนหน้านี้เรามีอนาคตที่สดใส แต่ทำไมตอนนี้อนาคตมันกลับดูมัวหมอง

คนรุ่นใหม่ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นหลังจากได้รับการศึกษาจากระบบการศึกษาที่มันแย่ พอเรียนจบแล้วจะไปทำอะไร กระบวนทัศน์ในการคิดได้เปลี่ยนไปจากการระบาดครั้งใหญ่นี้ทุกเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก แต่ยุทธศาสตร์ของประเทศไทยคืออะไร ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาลนี้หรือ ยุทธศาสตร์ที่เขามองว่าศักดิ์สิทธิ์นี้หรือ” ทักษิณ กล่าว

ทักษิณ เชื่อว่า การลุกขึ้นมาของนักศึกษา และกลุ่มคนรุ่นใหม่นั้น ไม่เกี่ยวกับการจะได้กลับมาประเทศไทยของเขาหรือไม่ เพราะการลุกขึ้นมาของคนรุ่นใหม่เป็นความพยายามที่จะมองหาอนาคตของตัวเองผ่านระบอบประชาธิปไตย

"พวกเขาอยากเห็นประชาธิปไตยในประเทศไทย แต่ประเทศไม่มีประชาธิปไตยมานานหลายปี เขาไม่อยากให้ทหารเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมืองไทย พวกเขาไม่ต้องการการรับรองการรัฐประหารจากสถาบันกษัตริย์ นั่นคือสิ่งที่ผมมองเห็นได้

"พวกเขายังอายุน้อย แต่มันความตั้งใจที่ดี ผมว่าถ้าเราพูดคุยกันได้ ทุกอย่างมันจะจบลง อย่าไปพยายามคิดว่าคนที่พูดอะไรตรงข้ามกับเราเป็นคนไม่ดี เราต้องนั่งลง ฟังความเห็น แล้วเราจะเห็นมุมมองใหม่ๆ ที่ดี แล้วประเทศก็จะกลับไปเป็นปกติได้อีกครั้ง" ทักษิณ ทิ้งทาย