ไม่พบผลการค้นหา
10 ประเทศดังกล่าว ได้แก่ แคนาดา เดนมาร์ก ฝรั่งเศส  เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน ฟินแลนด์ นิวซีแลนด์ และสหรัฐอเมริกา

ประธานาธิบดีเรเจป ทายยิป แอร์โดอัน ของตุรกี ประณามและสั่งการให้เอกอัครราชทูตจาก 10 ประเทศ เป็น ‘บุคคลที่ไม่พึงปรารถนา’ (persona non grata) หลังจากเรียกร้องให้ปล่อยตัว ออสมัน คาวาลา นักเคลื่อนไหวที่ถูกคุมขัง โดย 10 ประเทศดังกล่าว ได้แก่ แคนาดา เดนมาร์ก ฝรั่งเศส  เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน ฟินแลนด์ นิวซีแลนด์ และสหรัฐอเมริกา

สำนักข่าวรอยเตอร์สและซีเอ็นเอ็นรายงานต้นเหตุของการขับไล่นี้ ว่ามาจากแถลงการณ์ร่วมของทั้งสิบประเทศเมื่อวันพฤหัสบดี (21 ต.ค.) ที่ผ่านมา เรียกร้องให้รัฐบาลตุรกีปล่อยตัว ออสมัน คาวาลา นักธุรกิจ นักบุญ และนักเคลื่อนไหวที่ถูกกล่าวหามีส่วนเกี่ยวข้องกับความพยายามก่อรัฐประหารที่ล้มเหลวเมื่อปีพ.ศ. 2559 และถูกคุมขังมาแล้วเกือบสี่ปี

ในแถลงการณ์ระบุว่า “ความล่าช้าอย่างต่อเนื่องในการพิจารณาคดีของเขา รวมถึงการรวมคดีต่างๆ เข้าด้วยกัน และการสร้างคดีใหม่หลังจากการพ้นผิดครั้งก่อน ทำให้เกิดข้อกังขาต่อการเคารพในระบอบประชาธิปไตย หลักนิติธรรม และความโปร่งใสในระบบตุลาการของตุรกี จากการสังเกตคำตัดสินของศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปในเรื่องนี้ เราเรียกร้องให้รัฐบาลตุรกีปล่อยตัวเขาโดยด่วน"

กลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า คดีของคาวาลาเป็นสัญลักษณ์ของการกวาดล้างผู้เห็นต่างภายใต้การปกครองของแอร์โดอัน โดยคาวาลาถูกตั้งข้อหาให้เงินสนับสนุนการประท้วงทั่วประเทศในปีพ.ศ.2556 และมีส่วนเกี่ยวข้องกับความพยายามก่อรัฐประหารที่ล้มเหลวเมื่อปีพ.ศ. 2559 ซึ่งเขาปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา


ออสมัน คาลาวา นักเคลื่อนไหวตุรกี.JPG

ผู้กำกับและนักเขียนชาวเยอรมันถือภาพของ ออสมัน คาวาลา ที่ถูกคุมขังโดยรัฐบาลตุรกี ในการแถลงข่าวหัวข้อ "ตุรกี ยุโรป และสิทธิมนุษยชน" เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา (ที่มาภาพ: DPA via Reuters)



กระทรวงการต่างประเทศตุรกีเรียกเหล่าทูตเข้าพบและวิจารณ์แถลงการณ์ร่วมนี้ว่า "ไร้ความรับผิดชอบ" และมองว่าทั้งสิบชาติ “พยายามแทรกแซงระบบศาลของตุรกี”

“พวกคุณเป็นใคร? นี่มันอะไรกัน? เลิกยุ่งกับคาวาลา คุณไม่จัดการพวกโจร ฆาตกร ผู้ก่อการร้าย ในประเทศของคุณหรือไง?” ประธานาธิบดีแอร์โดอันพูดกับนักข่าว พร้อมบอกว่า เอกอัครราชทูตเหล่านี้ควรออกจากประเทศหากไม่เข้าใจตุรกี

“ฉันบอกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเราว่าเราไม่สามารถให้การต้อนรับพวกเขาในประเทศของเราได้ นี่มันใช่ที่ของคุณไหมที่จะมาสอนบทเรียนให้ตุรกี?”

ด้านประธานรัฐสภาสหภาพยุโรป เดวิด แซสโซลิ ทวีตเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาว่า การขับไล่เอกอัครราชทูตเป็น "สัญญาณของการเปลี่ยนสู่การเป็นเผด็จการ" ของรัฐบาลตุรกี

“เราจะไม่ยอมถูกข่มขู่” เขากล่าวพร้อมยืนยันเรียกร้องเสรีภาพให้กับออสมัน คาวาลา

สำนักข่าวอัลจาซีรารายงานว่า ในบรรดาเอกอัครราชทูตทั้งหมด มีอยู่ 7 คนที่เป็นผู้แทนของประเทศพันธมิตรกลุ่มสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต หากตุรกีดำเนินการขับไล่จริง จะยิ่งเป็นการกัดกร่อนความสัมพันธ์ระหว่างตุรกีกับตะวันตกให้ร้าวลึกที่สุดในช่วงเวลา 19 ปีที่แอร์โดอันครองอำนาจ


ที่มา:

https://edition.cnn.com/2021/10/23/world/turkey-erdogan-ambassadors-persona-non-grata-osman-kavala/index.html?fbclid=IwAR312WKWi9FPv6ePXh2crPz6JiRF0ruYUZistvLfDHg3PSC484O23lRusBI

https://www.reuters.com/world/middle-east/turkeys-erdogan-blasts-ambassadors-call-philanthropists-release-2021-10-21/

https://www.aljazeera.com/news/2021/10/23/turkeys-erdogan-orders-expulsion-of-10-western-ambassadors