ไม่พบผลการค้นหา
ไม่เฉพาะสโมสรใหญ่ถ.วิภาวดี แต่เล็งสโมสรในค่ายทหารทั่วประเทศ กำลังพิจารณาดึงแพทย์ทหารเก่ามาช่วยระบบ รวมถึงนายสิบเสนารักษ์ ส่วนศูนย์ประสานงานเคลื่อนย้ายก็ยังดำเนินการอยู่ มีรถ 200 กว่าคัน ลำเลียงผู้ป่วยส่งปลายทางแล้วหมื่นกว่าคน

22 ก.ค.64 พล.ท.สันติพงศ์ ธรรมปิยะ รองเสนาธิการทหารบก/ผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กองทัพบก (ผอ.ศบค.19 ทบ.) เปิดเผยว่า จากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้สั่งการให้ทุกเหล่าทัพระดมทรัพยากรดูแลประชาชน ขยายขีดความสามารถของรพ.สนามที่มีอยู่เดิม และเพิ่มการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในพื้นที่หน่วยทหาร โดยเฉพาะใน 13 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุด ล่าสุด พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ได้สั่งการให้หน่วยทหารทั่วประเทศ ใช้อาคารสโมสรหรืออาคารเอนกประสงค์ในค่ายทหารทั่วประเทศ เป็นโรงพยาบาลสนามศูนย์คัดกรอง เพื่อประเมินอาการ และดูแลผู้ป่วยสีเขียวในเบื้องต้น ก่อนประสานส่งต่อให้สถานพยาบาลตามระบบของ สธ. ด้วย

ในพื้นที่ กทม.จะใช้สโมสรทหารบก ถ.วิภาวดี จัดเตรียมตั้งเป็น "โรงพยาบาลสนามศูนย์คัดกรอง (สโมสร ทบ.)" เพื่อเป็นศูนย์แรกรับผู้ป่วย ประเมินและดูแลผู้ป่วยสีเขียวในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล ก่อนส่งต่อเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลที่ สธ. กำหนด เมื่อพร้อมเปิดดำเนินการจะสามารถรองรับผู้ป่วยได้ประมาณ 300-400 เตียง

ด้าน พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า นอกเหนือจากสโมสรทหารบก ขณะนี้สโมสรตำรวจก็เตรียมการจัดตั้งเป็น รพ.สนามด้วยเช่นกัน คาดว่าจะสามารถเปิดบริการได้เร็วๆ นี้ ในส่วนของสโมสรในค่ายทหารอื่นๆ ทั่วประเทศก็อยู่ระหว่างสำรวจว่าจะสามารถปรับเป็น รพ.สนามเพิ่มเติมได้หรือไม่ หากพื้นที่ใดมีข้อจำกัด เช่น ระบบแอร์ไม่แยกส่วน ไม่มีระบบบำบัดน้ำเสีย ก็อาจปรับให้เป็นศูนย์พักคอย  

พล.ท.คงชีพกล่าวด้วยว่า ขณะนี้กระทรวงกลาโหมกำลังพิจารณานำ ‘แพทย์แถว 2’ เข้ามาช่วยเสริมการดูแลในรพ.สนาม โดยจะเป็นผู้ที่เคยเป็นแพทย์พยาบาลสังกัดกระทรวงกลาโหม แต่ปัจจุบันไม่ได้อยู่ในระบบ ไปทำงานอย่างอื่น รวมถึงแพทย์ที่เกษียณแล้วที่อาสาเข้าร่วม

นอกจากนี้ยังจะพิจาณา ‘แพทย์แถว 3’ คือ นายสิบเสนารักษ์ ซึ่งโดยปกติทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยพยาบาล แต่จะดึงมาอบรมเพิ่มเติมเพื่อให้ทำหน้าที่ในการดูแลรักษาพยาบาลได้ขั้นต้นสำหรับวิกฤตการณ์โควิด  

ทั้งนี้ กองทัพบก มีโรงพยาบาลสนามทั่วประเทศที่ได้สนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์, สิ่งอุปกรณ์และสถานที่ในหน่วยทหาร ร่วมกับ สธ.จังหวัด รวม 19 แห่ง รองรับผู้ป่วยได้ 3,323 เตียง

สำหรับประเด็นของ ‘ศูนย์ประสานการเคลื่อนย้าย’ ที่กระทรวงกลาโหมได้ประสานกับหน่วยงานรับผิดชอบทั้งศูนย์เอราวัณ ศูนย์การแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อรับส่งผู้ป่วยโควิดจากที่บ้านไปยังสถานพยาบาลปลายทางที่หน่วยงานสาธารณสุขจัดสรรนั้น ปัจจุบันมียานพาหนะของทุกเหล่าทัพรวมถึงหน่วยงานตำรวจรวม 200 กว่าคัน เป็นทั้งรถตู้ รถกระบะ และมีเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการฝึกอบรม ใส่ชุดพีพีอีไปรับผู้ป่วย มีเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือที่ไปกับรถ 1-2 คน การดำเนินงานของศูนย์ประสานการเคลื่อนย้ายเริ่มมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ขณะนี้ได้ลำเลียงรับส่งผู้ป่วยไปแล้วกว่า 10,000 ราย และในช่วงเดือนนี้รับส่งวันละประมาณ 200-300 ราย ประชาชนสามารถโทรติดต่อโดยตรงได้ที่ โทร. 02-270-5685-9 ตลอด 24 ชม.