ไม่พบผลการค้นหา
4 จาก 5 จำเลยคดีทุบรถควบคุมตัว 'ไมค์-เพนกวิน' ติดโควิดระหว่างถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำ

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธมนุษยชน เปิดเผยว่า ช่วงเช้าที่ผ่านมาทีมทนายความได้เดินทางไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพ เพื่อเข้าพบกับลูกความ 5 คน ที่ถูกสั่งขังระหว่างการพิจารณาคดี จากกรณีการทุบรถควบคุมตัวไมค์ ภาณุพงศ์ จาดนอก และ เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์ ซึ่งถูกควบคุมตัวโดยกรมราชทัณฑ์ตั้งแต่วันที่  24 ก.พ. 2564 โดยไม่ได้สิทธิประกันตัวจนกระทั่งปัจจุบัน 

อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ได้แจ้งกับทนายความว่า ผู้ถูกควบคุมตัวในคดีดังกล่าวไม่สามารถออกมาพบได้ เนื่องจากตรวจพบเชื้อโควิด 4 รายด้วยกันประกอบด้วย  ธวัช สุขประเสริฐ, ศักดิ์ชัย ตั้งจิตสดุดี, สมคิด โตสอย และ ฉลวย เอกศักดิ์ ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งหมด มีเพียงณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร  เพียงคนเดียวที่ไม่ติดเชื้อ 

สำหรับคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่  30 ต.ค. 2563 ในคำฟ้องของอัยการระบุว่า  

1. จำเลยทั้ง 5 กับพวกที่หลบหนียังไม่ได้ตัวมาดําเนินคดี ซึ่งมีจำนวนรวมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ได้ร่วมกันมั่วสุมโดยชุมนุมสาธารณะบริเวณด้านหน้าเรือนจําพิเศษกรุงเทพ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวพริษฐ์ ชิวารักษ์ และภาณุพงศ์ จาดนอก ผู้ต้องหาในคดีอื่น ซึ่งศาลอาญามีคําสั่งปล่อยตัวชั่วคราวออกจากเรือนจําพิเศษกรุงเทพ แต่ถูกอายัดตัวเพื่อดําเนินคดีที่ สภ.เมืองนนทบุรี, สภ.เมืองพระนครศรีอยุธยา และ สภ.เมืองอุบลราชธานี โดยจําเลยทั้งห้ากับพวกได้ร่วมกันนําไม้มากั้นปิดขวางทางเข้าออกไว้บริเวณหน้าเรือนจําพิเศษกรุงเทพ ซึ่งมิใช่การชุมนุมโดยสงบและรบกวนการครอบครองการใช้ทางผ่านเข้าออกเรือนจําพิเศษกรุงเทพของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์และประชาชนทั่วไป และทําให้ พ.ต.ต.ทําเนียบ ขลังธรรมเนียม ผู้เสียหายที่ 1, ด.ต.ประสิทธิ์ ดวงสุพรรณ์ ผู้เสียหายที่ 2, ส.ต.อ.อรรถพงษ์ คําแปงคํา ผู้เสียหายที่ 3 และ ส.ต.อ.วีระชาติ สาริภา ผู้เสียหายที่ 4 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตํารวจประจํา สน.ประชาชื่น มีหน้าที่ควบคุมตัวนายพริษฐ์ และนายภาณุพงศ์ ขึ้นรถยนต์ควบคุมผู้ต้องขังอันเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท วี.อาร์.พี แอดวานซ์ จํากัด นิติบุคคลตามกฎหมาย ผู้เสียหายที่ 5 โดยสํานักงานตํารวจแห่งชาติเป็นผู้เช่ารถยนต์คันดังกล่าวแล้ว ต้องหลบหลีกกลุ่มจําเลยทั้งห้ากับพวกเพื่อนําตัวนายพริษฐ์ และนายภาณุพงศ์ ออกจากเรือนจําพิเศษกรุงเทพ

2.  ภายหลังเกิดเหตุตามฟ้องข้อ 1 ผู้เสียหายทั้งสี่ได้นํารถควบคุมผู้ต้องขังขับบนถนนงามวงศ์วานมาถึงบริเวณด้านหน้าตลาดพงษ์เพชรและได้จอดติดสัญญาณไฟจราจรสีแดงอยู่ จําเลยทั้งห้ากับพวกที่หลบหนียังไม่ได้ตัวมาดําเนินคดีได้ร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปโดยใช้กําลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้าย กระทําการให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยร่วมกันนํารถจักรยานยนต์จํานวนหลายคันไปขวางล้อมการเดินทางของรถควบคุมผู้ต้องขังไว้ และได้ใช้หมวกนิรภัยและวัสดุแข็งเป็นอาวุธ ทุบรถควบคุมผู้ต้องขังบริเวณกระจกข้างรถ และได้กระชากและดึงประตูรถควบคุมผู้ต้องขัง, ทุบรถควบคุมผู้ต้องขัง, ใช้เท้าเตะรถควบคุมผู้ต้องขัง และได้ใช้ของแข็งตีที่กระจกหน้าต่างห้องควบคุมผู้ต้องหาด้านซ้ายและด้านหลังจนแตก พร้อมกับตะโกนว่า “ปล่อยเพื่อนกู” ทั้งเป็นการกระทําโดยเจตนาด้วยประการใดให้พริษฐ์ และภาณุพงศ์ ผู้ที่ถูกคุมขังตามอํานาจของพนักงานสอบสวนและเจ้าพนักงานผู้มีอํานาจสืบสวนคดีอาญาหลุดพ้นจากการคุมขังไป โดยใช้กําลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้าย ทั้งนี้ โดยจําเลยทั้งห้ากับพวกได้ลงมือกระทําความผิดไปโดยตลอดแล้ว แต่การกระทํานั้นไม่บรรลุผล

ต่อมา เมื่อรถควบคุมผู้ต้องขังแล่นมาบนถนนเทศบาลนิมิตรเหนือถึงบริเวณปากซอยเทศบาลนิมิตเหนือ ซอย 40 จําเลยทั้งห้ากับพวกได้ร่วมกันขัดขวางผู้เสียหายทั้งสี่ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตํารวจ สน.ประชาชื่น โดยมีเจตนาทําร้ายผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งนั่งอยู่ตอนหน้าของรถควบคุมตัวผู้ต้องขัง โดยได้ใช้ก้อนหินขนาดใหญ่เป็นอาวุธทุ่มใส่รถควบคุมตัวผู้ต้องขังจํานวนหลายครั้ง จนกระจกด้านหน้าซ้ายแตก อันเป็นการทําให้เสียหาย ทําลาย ทําให้เสื่อมค่าหรือทําให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งรถยนต์ควบคุมผู้ต้องขังอันเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้เสียหายที่ 5 คิดเป็นเงินค่าเสียหายทั้งสิ้นประมาณ 70,000 บาท และเป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 1 ได้รับบาดเจ็บถูกกระจกที่แตกบาดที่บริเวณหลังมือด้านขวา มีบาดแผลฉีกขาด ขนาด 0.3 x 0.1 เซนติเมตร และขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้ายโดยมีหรือใช้อาวุธ โดยร่วมกันกระทําความผิดตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ซึ่งเป็นการทําร้ายเจ้าพนักงานซึ่งกระทําการตามหน้าที่ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ รายละเอียดปรากฏตามรายงานการชันสูตรผู้ป่วยคดี โรงพยาบาลตํารวจ ทั้งนี้เพื่อขัดขวางเพื่อมิให้ผู้เสียหายที่ 1 ถึงผู้เสียหายที่ 4 พา พริษฐ์และภาณุพงศ์ ไป สน.ประชาชื่น ได้สําเร็จ

3.จําเลยทั้งห้ากับพวกที่หลบหนียังไม่ได้ตัวมาดําเนินคดีซึ่งมีจํานวนตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ได้ร่วมกันมั่วสุมโดยชุมนุมสาธารณะบริเวณ สน.ประชาชื่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวพริษฐ์และภานุพงศ์ โดยในการชุมนุมดังกล่าวจําเลยทั้งห้ากับพวกมิได้แจ้งความประสงค์ที่จะจัดการชุมนุมสาธารณะต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง อีกทั้งไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ของผู้ชุมนุมที่ต้องไม่ใช้กําลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้ายผู้อื่น โดยจําเลยทั้งห้ากับพวกได้ร่วมกันใช้กําลังประทุษร้าย ชกต่อยร่างกาย ผู้เสียหายที่ 2 – ที่ 4 จนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 2 ได้รับบาดเจ็บบริเวณหลังฟกช้ำ ผู้เสียหายที่ 3 ใบหูฟกช้ำ ถลอกนิ้วก้อย จุดกดเจ็บบ่าซ้าย ผู้เสียหายที่ 4 ฟกช้ำเอว กดเจ็บไหล่ขวา ปรากฏตามรายงานการชันสูตรผู้ป่วยคดี และเป็นการมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปโดยใช้กําลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้ายและทําให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง

ในท้ายคำฟ้องของอัยการยังระบุว่า ศักดิ์ชัยเป็นบุคคลคนเดียวกับจําเลยในคดีอาญา หมายเลขดําที่ อ.3089/2562 ของศาลอาญา (คดีคนอยากเลือกตั้งหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และหน้าองค์การสหประชาชาติ) และขอให้ศาลนับโทษคดีนี้ต่อจากคดีดังกล่าวด้วย 

ทั้งนี้ การกระทําของจําเลยตามคําฟ้อง อัยการถือว่า เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138, 140, 191, 215, 295, 296, 358 พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 6, 10, 14, 16 

หากไล่เรียงข้อกล่าวหาที่จำเลยถูกฟ้อง จะพบว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวมีอัตราโทษสูงสุดไม่เกิน 7 ปี 6 เดือน 

อย่างไรก็ตามสำหรับคดีนี้ สูนย์ทนายเปิดเผยข้อมูลว่า ฉลวยให้ข้อมูลว่า เขาไม่ได้ไปชุมนุมในวันเกิดเหตุ มีเพียงลูกสาวกับแฟนใช้รถมอเตอร์ไซค์ของเขาขี่ไปเจอเหตุการณ์แล้วเข้าไปถ่ายคลิปเหตุการณ์เท่านั้น