ไม่พบผลการค้นหา
'พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา' กำลังเผชิญวิกฤตศรัทธาอย่างหนักในช่วงครึ่งเทอมของรัฐบาลหลังการเลือกตั้งปี 62 เมื่อเศรษฐกิจยังแก้ไม่ได้ ต้องมาเจอมรสุมโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้ารุมกระหน่ำตลอดเดือน ก.ค. 64 'วอยซ์' พาไปดูยอดผู้ป่วยของการบริหารจัดการรัฐบาล ศบค. ทั้งการออกยาแรงเคอร์ฟิว-ล็อกดาวน์ในจังหวัดสีแดงเข้ม แต่ยอดผู้ป่วยโควิดในประเทศยังพา 'ไทย' ขึ้นทะยานถึงอันดับที่ 15ของเอเชียและ 43 ของโลก

เป็นเวลา 1 เดือนเต็มๆที่ นับจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค. งัดอำนาจออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 25) ที่เริ่มเห็นสัญญาณอันตรายจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

"หากไม่เร่งจัดการอาจกระทบต่อระบบบริการสาธารณสุขไม่ว่จะเป็นบุคลากรทางการแพทย์ เตียงผู้ป่วย เครื่องช่วยหายใจและอุปกรณ์การแพทย์ที่รองรับผู้ป่วยอาการหนักหรือผู้ป่วยภาวะฉุกเฉินซึ่งมีอยู่จำกัด ประกอบกับพบการระบาดเกิดขึ้นอันเป็นนผลจากการตรวจคัดกรองเชิงรุกเพื่อค้นหาและสกัดกั้นการระบาดแบบกลุ่มก้อน ทำให้พบกลุ่มผู้ติดเชื้อกระจายอยู่โดยรอบพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นในที่พักแรงงานก่อสร้าง สถานประกอบการ โรงงาน ตลาดและแหล่งชุมชน"

"รัฐบาลโดยข้อเสนอแนะของฝ่ายสาธารณสุข ประกอบกับความเห็นของคณะที่ปรึกษาด้านการสาธารณสุขในศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 จึงจำเป็นต้องกำหนดพื้นที่เป้าหมายเฉพาะและบังคับใช้มาตรการควบคุมที่จำเป็นเพื่อมุ่งชะลอและสกัดกั้นการระบาดของเชื้อโรคอย่างเร่งด่วนและหยุดยั้งอัตราการเร่งของจำนวนผู้ป่วย"

ข้อกำหนด มาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉิน (ฉบับที่ 25) ระบุถึงเหตุผลของการงัดยาแรงด้วยการล็อกดาวน์กรุงเทพมหานคร-ปริมณฑล จังหวัดนครปฐม จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดสมุทรสาคร และพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดสงขลา) พร้อมทั้งล็อกดาวน์ปิดแคมป์ก่อสร้างเป็นเวลา 30 วัน ส่วนการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซื้อซื้อเฉพาะนำกลับเท่านั้น

มาตรการยาแรงข้อกำหนดดังกล่าวให้มีผลบังคับใช้วันที่ 28 มิ.ย. 2564 เกิดขึ้นเพราะเริ่มมีสัญญาณแรงของการแพร่ระบาดหนักของสายพันธุ์เดลต้าได้เริ่มจู่โจมประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

28 มิ.ย. 2564 มีผู้ป่วยติดเชื้อใหม่รายใหม่เริ่มเพิ่มสูงขึ้นจากผลพวงของสายพันธุ์เดลต้า จำนวน 5,406 ราย

เพียงไม่กี่วันหลังออกข้อกำหนด มาตรา 9 (ฉบับที่ 25) ยอดผู้ป่วยโควิด-19 ยังคงพุ่งขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องลงนามออกข้อกำหนด (ฉบับที่ 26) ให้มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ก.ค. 2564 

2 ก.ค. 2564 ยอดผู้ป่วยติดเชื้อใหม่ ยังคงก้าวกระโดดต่อเนื่อง จำนวน 6,087 ราย

10 ก.ค. 2564 ยอดผู้ป่วยรายใหม่ยังสร้างสถิติใหม่ จำนวน 9,326 ราย

สถานการณ์การระบาดของสายพันธุ์เดลต้า ยังไม่คลี่คลาย ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาตรการเข้มข้นขึ้นอีกครั้งในเดือน ก.ค. 2564 ด้วยการลงนามออกข้อกำหนด (ฉบับที่ 27) ประกาศเคอร์ฟิวในเขตกรุงเทพมหานคร -ปริมณฑลและ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยห้ามประชาชนออกนอกเคหสถานตั้งแต่เวลา 21.00 -04.00 นาฬิกา ต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน โดยให้มีผลบังคับใช้ วันที่ 12 ก.ค. 2564 เป็นต้นไป

11 ก.ค. 2564 ถัดมาเพียง 1 วันผู้ป่วยใหม่ยังพุ่งอีกครั้ง จำนวน 9,539 ราย

17 ก.ค. 2564 ผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่รายวันเพิ่มขึ้นหลักหมื่นต่อวันเป็นครั้งแรก จำนวน 10,082 ราย

20 ก.ค. 2564 ผู้ป่วยติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้น จำนวน 11,305 ราย

พล.อ.ประยุทธ์ ถึงขั้นยกระดับมาตรการยาแรงเพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของ 'เดลต้า' อีกครั้ง โดยออกข้อกำหนดออกตามมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉิน (ฉบับที่ 28) สั่งปรับพื้นที่เข้มงวดสูงสุดเคอร์ฟิว 13 จังหวัดต่อเนื่องอย่างน้อย14วัน รวมทั้งออกมาตรการกำชับประชาชนเลี่ยงหรืองดเว้นในการออกนอกเคหสถานโดยไม่จำเป็น พร้อมทั้งสั่งปิดกิจการเสี่ยงในการแพร่เชื้อโควิดอีกอย่างน้อย 14 วัน โดยข้อกำหนดฉบับที่ 28 นี้มีผลบังคับใช้วันที่ 20 ก.ค. 2564 เป็นต้นไป

31 ก.ค. 2564 ยอดผู้ป่วยใหม่ ยังเดินหน้าทุบสถิติใหม่อีกครั้ง พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นสูงสุดต่อวัน จำนวน 18,912 ราย และมีผู้เสียชีวิตสะสมเพิ่มขึ้นรายวัน เป็นจำนวนสูงสุดรายวันที่ไทยเคยพบมา จำนวน 178 ราย

ทำให้สิ้นเดือน ก.ค. 2564 ประเทศไทยมียอดผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 สะสมแล้ว จำนวน 597,287 ราย

โควิด ยอดผู้ป่วย 31 กค 64 -E698-40A3-B032-3FA4293A150E.jpeg

หากนับเฉพาะวิกฤตโควิดในระลอกหลัง จะมีผู้ป่วยสะสมนับแต่ 1 เม.ย. 2564 - 31 ก.ค. 2564 จำนวน 568,424 ราย ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตสะสมในช่วงดังกล่าว จำนวน 4,763 ราย

ยิ่งนับรวมตลอดระยะเวลา 122 วันของการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์อัลฟ่าและเดลต้าแล้ว ประเทศไทยจะเฉลี่ยมียอดผู้ป่วยโควิดถึงวันละ 4,659 คน ซึ่งถือว่าเป็นยอดการติดเชื้อที่พุ่งสูงมาก หรือเฉลี่ยมีการเสียชีวิตวันละ 39 คน

สัมภาษณ์ อ.บุญ เครือธนบุรี เรื่องวัคซีนต้านโควิด19ประยุทธ์ โควิด อนุทิน E84832A3-ADA6-43CE-A76C-E7068F441974.jpeg

ยิ่งดูข้อมูลการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วย วันที่ 31 ก.ค. 2564 จะพบว่าในต่างจังหวัด 71 จังหวัดมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 10,908 ราย (60%) เป็นยอดที่แซงหน้า กทม.และปริมมณฑล ที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นน 7,184 ราย (40%)

ด้าน www.worldometers.info รายงานข้อมูลยอดผู้ป่วยติดโควิด-19 ทั่วโลก ณ 31 ก.ค. 2564 ประเทศไทยขยับขึ้นมาติดอันดับ 43 ของโลกที่มียอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมทะลุกว่าครึ่งล้านคน

หากไล่ย้อนไปก่อนหน้านี้ วันที่ 20 ก.ค. 2564 ไทยอยู่อันดับที่ 52 ของโลก มีผู้ป่วยสะสม 426,475 ราย ยอดเสียชีวิตสะสม 3,502 ราย

12 ก.ค. 2564 เป็นวันที่ไทยเริ่มใช้มาตรการเคอร์ฟิว ในจังหวัดสีแดงเข้ม 10 จังหวัด โดยไทยอยู่อันดับที่ 60 ของโลก ผู้ป่วยสะสม 345,027 ราย ยอดเสียชีวิตสะสม 2,791 ราย

1 ก.ค. 2564 ไทยอยู่อันดับที่ 72 ของโลก ผู้ป่วยสะสม 264,834 ราย ยอดเสียชีวิตสะสม 2,080 ราย

28 มิ.ย. 2564 ซึ่งเป็นวันแรกที่เริ่มใช้มาตรการเข้มข้น (ข้อกำหนด ฉบับที่ 25) หลัง ศบค.เริ่มเห็นสัญญาณอันตรายจากสายพันธุ์เดลต้าที่กำลังแพร่ระบาดยอดผู้ติดเชื้อให้เพิ่มสูงขึ้นหลายเท่า โดยวันดังกล่าวได้ใช้มาตรการสั่งปิดแคมป์คนงานและห้ามร้านค้าจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มนั่งทานในร้านนั้น แต่ยังไม่มีมาตรการเคอร์ฟิว พบว่าไทยมียอดผู้ป่วยสะสม 249,853 รายอยู่อันดับ 76 ของโลก และมียอดผู้เสียชีวิตสะสมขณะนั้น 1,934 ราย

โควิด โลก 31 กค 64 -269B-4388-82BD-558A49C59A22.jpeg

(ข้อมูล worldometers ระบุุ ไทยมีผู้ป่วยสะสมอยู่อันดับที่ 43 ของโลก ณ 31 ก.ค. 64)

โควิด เอเชีย 31 กค 64 F347A6FF-6DA8-4B88-B68A-7F1F815AFE98.jpeg

(ข้อมูล worldometers ระบุุ ไทยมีผู้ป่วยสะสมอยู่อันดับที่ 15 ของเอเชีย ณ 31 ก.ค. 64)

โควิด โลก 1 สค 64 -2313-451D-AB3A-366E56D62515.jpeg

(ข้อมูล worldometers ระบุุ ไทยมีผู้ป่วยสะสมในรอบ 7 วันล่าสุดอยู่อันดับที่ 12 ของโลก ณ 31 ก.ค. 64)

หากนับเฉพาะเอเชีย ณ 31 ก.ค. 2564 ไทยจะมีผู้ป่วยสะสมอยู่อันดับที่ 15 ของเอเชีย และหากนับเฉพาะอาเซียน ไทยซึ่งมีผู้ป่วยสะสม 597,287 ราย จะอยู่อันดับที่ 4 โดยอันดับ 1 ของอาเซียนเป็น อินโดนีเซีย (ผู้ป่วยสะสม 3,409,658 ราย) อันดับ 2 ฟิลิปปินส์ (ผู้ป่วยสะสม 1,588,965) และอันดับ 3 มาเลเซีย (ผู้ป่วยสะสม 1,113,272 ราย)

หากไล่ดูสถิติทั่วโลกของยอดผู้ป่วยสะสมที่เพิ่งติดโควิด-19 ในรอบ 7 วันล่าสุุด ตาม https://www.worldometers.info/coronavirus/weekly-trends/#weekly_table

พบว่า ประเทศไทยทะยานขึ้นแท่นอยู่อันดับที่ 12 ของโลก มีผู้ป่วยสะสม 115,320 ราย และตลอด 7 วันที่ผ่านมามียอดเสียชีวิตสะสม 927 ราย

ใช้เวลาจากวันที่ 28 มิ.ย. 2564 ประเทศไทยขยับยอดผู้ป่วยโควิดสะสมจาก อันดับที่ 76 ของโลกขึ้นมาอยู่ที่อันดับที่ 43 ของโลก ณ 31 ก.ค. 2564 เพียงระยะเวลา 1 เดือน ไทยพบการระบาดเพิ่มขึ้นของโควิด-19 จำนวน 347,434 ราย

นี่จึงเป็นสัญญาณแรงและหายนะต่อวงการสาธารณสุขของไทย และยังเป็นมรสุมรุมเร้าซัดรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะหากควบคุุมโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าไม่อยู่ ความน่าเชื่อถือของ พล.อ.ประยุทธ์และพรรคร่วมรัฐบาลย่อมมีความหมดลงเรื่อยๆ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง