ไม่พบผลการค้นหา
นักวิทยาศาสตร์สตรีชี้ ความเข้าใจทางสังคมและเงินสนับสนุนงานวิจัย จะส่งเสริมวงการวิทยาศาสตร์ประเทศ

ตามข้อมูลจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ประจำปี 2561 จำนวนเพศหญิงในวงการวิทยาศาสตร์ยังนับเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับเพศชาย หรือคิดเป็นเพียงร้อยละ 28.8 จากจำนวนนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก 

เมื่อแยกสัดส่วนจำนวนนักวิทยาศาสตร์เพศหญิงเทียบกับเพศชายจากรายงานของยูเนสโก พบว่า เอเชียกลาง เป็นภูมิภาคที่มีสัดส่วนเพศหญิงในวงการวิทยาศาสตร์สูงที่สุดถึงร้อยละ 48.1 เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ อย่างไรก็ตาม เอเชียตะวันออกและแปซิฟิค ซึ่งมีประเทศไทยเป็นสมาชิกกลับมีสัดส่วนนักวิทยาศาสตร์เพศหญิงน้อยที่สุด เพียงร้อยละ 23.4 เท่านั้น

กรอบความเชื่อเดิมปิดโอกาสผู้หญิง

ตัวเลขจากยูเนสโกแสดงให้เห็นว่าผู้หญิงที่เข้าเรียนในสาขาวิชาทางวิทยาศาสตร์ในระดับปริญญาตรีมีถึงร้อยละ 53 อย่างไรก็ตาม ตัวเลขผู้หญิงในวงการวิทยาศาสตร์กลับน้อยลงเรื่อยๆ เมื่อระดับความเชี่ยวชาญเพิ่มขึ้น โดยในระดับนักวิจัยมีเพศหญิงเพียงร้อยละ 29 เท่านั้น อีกทั้งนักวิทยาศาสตร์หญิงที่ได้รับรางวัลโนเบลมีเพียงร้อยละ 3 ตั้งแต่มีการประกาศรางวัลมากว่า 30 ปี 

สตรีวิทยาศาสตร์ออริอัล

'ธัญญพร วงศ์เนตร' นักวิจัยจากสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล สถาบันสิริเมธี กล่าวว่า สาเหตุที่ผู้หญิงไม่สามารถเติบโตได้ไปไกลในระดับสูงมาจากหน้าที่ด้านครอบครัวที่ต้องรับผิดชอบ 

ธัญญพร สะท้อนว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่ค่อนข้างมีความคาดหวังที่สูงขึ้นเวลาผู้หญิงมีครอบครัว ว่าจะต้องเป็นฝ่ายรับผิดชอบภาระหน้าที่ภายในบ้าน จึงทำให้ไม่มีเวลาไปทุ่มเทกับงานมากเท่าที่ควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการวิทยาศาสตร์ที่ต้องใช้เวลามาก


"สังคมไทยมีความคาดหวังที่สูงขึ้นเวลาผู้หญิงมีครอบครัว" ธัญญพร กล่าว


สตรีวิทยาศาสตร์ออริอัล

ขณะที่ 'ธิดารัตน์ นิ่มเชื้อ' นักวิจัยจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สนับสนุนในทำนองเดียวกันว่า สังคมไทยมองว่าภาระในการดูแลครอบครัวเป็นของผู้หญิง ทำให้เวลา 24 ชั่วโมง ครึ่งหนึ่งจึงต้องแบ่งไปกับการดูแลลูก และอีกครึ่งไปกับการทำงาน ซึ่งยากมากที่จะแบ่งได้เด็ดขาด 

ขณะที่แนวทางการแก้ไขที่ ธิดารัตน์ นำเสนอคือการเปลี่ยนแนวคิดทั้งระบบสังคม พร้อมชี้ว่าความเชื่อที่ผ่านมาเหมือนกรอบที่มาตั้งแต่โบราณและส่งผลต่อการทำงานของผู้หญิงโดยตรง เพราะฉะนั้นผู้หญิงยุคใหม่เลยถูกบังคับให้ต้องทำตัวนอกกรอบไปโดยปริยายหากอยากจะยืนหยัดในการทำงาน ดังนั้นการแบ่งหน้าที่ระหว่างผู้หญิงและผู้ชายให้ชัดเจนจึงเป็นเรื่องสำคัญ

วิทยาศาสตร์และการผลักดันเศรษฐกิจ

รัฐบาลไทยมีความพยายามในการพาประเทศออกจากกับดักรายได้ปานกลางที่ไทยติดอยู่มาหลายสิบปีด้วยการใช้วิทยาศาสตร์เข้ามาพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศ จนเกิดเป็นแนวคิดอุตสาหกรรมใหม่ที่ไม่เน้นจำนวนการผลิตและต้นทุนต่ำเหมือนเดิม แต่เน้นที่นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์

อย่างไรก็ตาม ธิดารัตน์ ชี้ว่า การสนับสนุนจากภาครัฐทั้งในเรื่องเม็ดเงินการสนับสนุนงานวิจัยและการกระจายความรู้เพื่อสร้างทรัพยากรณ์บุคคลยังไม่เพียงพอ

หุ่นยนต์-ญี่ปุ่น-เทคโนโลยี-เด็ก
"การไม่มีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง ก็เหมือนต้องยืมจมูกคนอื่นหายใจอยู่ตลอดเวลา" ธิดารัตน์ กล่าว

ขณะที่ 'ธัญญพร' ยกตัวอย่างว่า ปัญหาขยะอินทรีย์ที่เป็นหัวข้องานวิจัยของเธอ ตั้งใช้งบประมาณในการดูแลของแต่ละจังหวัดถึงปีละ 20 ล้านบาท ซึ่งเม็ดเงินดังกล่าวสามารถนำไปพัฒนาจังหวัดได้ในอีกหลายมิติ

ในงานวิจัยหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่อเปลี่ยนขยะอินทรีย์เป็นสารที่มีมูลค่าเพิ่ม ธัญญพร ชี้ว่า นอกจากรัฐจะไม่ต้องเสียเงินจำนวน 20 ล้านบาทต่อปี ผลพลิตที่ได้จากการหมักหัวเชื้อจุลินทรีย์กับขยะอินทรีย์ต่างๆยังสามารถนำไปสร้างมูลค่าเพิ่มได้ เพราะผลิตภัณฑ์ที่ได้ออกมาคือ เชื้อเพลิงและสารชีวภัณฑ์(ปุ๋ย)ทางชีวภาพ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;