ไม่พบผลการค้นหา
รมช.สาธารณสุข เปิด "เครื่องฉายรังสีแปรความเข้มข้นเชิงปริมาตร" พร้อมระบบนำวิถี ที่โรงพยาบาลมะเร็งสุราษฎร์ธานี มีความแม่นยำสูง ลดระยะเวลาฉายรังสี ลดผลข้างเคียง รองรับผู้ป่วยรายใหม่ปีละกว่า 1,200 ราย

นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขพร้อมด้วย นายแพทย์วันชัย เหล่าเสถียรกิจ สาธารณสุขนิเทศก์เขตสุขภาพที่ 11 นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลมะเร็งสุราษฎร์ธานี เปิดเครื่องฉายรังสีแปรความเข้มข้นเชิงปริมาตรพร้อมระบบนำวิถีและให้สัมภาษณ์ ว่า กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้เร่งรัดพัฒนาศักยภาพของการดูแลรักษาโรคมะเร็ง ให้ก้าวหน้าทันสมัยรองรับอุบัติการณ์และสถานการณ์ของโรค เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนผู้รับบริการ โดยในปีงบประมาณ 2562 โรงพยาบาลมะเร็งสุราษฎร์ธานีได้รับการจัดสรรงบจัดซื้อเครื่องฉายรังสีแบบแปรความเข้มเชิงปริมาตร พร้อมระบบภาพนำวิถี (mage Guided Radiation Therapy:VMAT ) สามารถตรวจสอบนำร่องก่อนการรักษาทำให้การฉายรังสีมีความถูกต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้น รองรับผู้ป่วยมะเร็งในเขตภาคใต้ตอนบน 7 จังหวัด ประกอบด้วย สุราษฎร์ธานี ชุมพร ระนอง กระบี่ พังงา ภูเก็ต นครศรีธรรมราช ช่วยลดระยะเวลารอคอยรักษา ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางไปรักษานอกเขตบริการ

สำหรับเครื่องฉายรังสี VMAT นี้มีศักยภาพการฉายรังสีครอบคลุมทั้งเทคนิคการฉายรังสีแบบสองมิติ สามมิติ และแปรความเข้มเชิงปริมาตร ซึ่งเป็นเทคนิคที่ให้ประสิทธิผลการรักษาโรคมะเร็งด้วยรังสีที่ดีในปัจจุบัน โดยระบบการทำงานของเครื่องขณะฉายรังสีเครื่องจะหมุนอย่างต่อเนื่อง

20191116_๑๙๑๑๑๗_0013.jpg

ขณะเดียวกันเครื่องกำบังลำรังสีก็จะปรับเปลี่ยนไปตามรูปร่างและความหนาบางของก้อนมะเร็ง ทำให้สามารถช่วงลดระยะเวลาในการฉายรังสีทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องนอนบนเตียงฉายรังสีนาน จึงสามารถลดความผิดพลาดอันอาจเกิดจากการขยับตัวของผู้ป่วย ทำให้ฉายรังสีได้อย่างถูกต้องแม่นยำ อันจะส่งผลดีต่อประสิทธิผลของการรักษาผู้ป่วยมีโอกาสหายจากโรคมะเร็งสูง ลดความรุนแรงของผลข้างเคียงจากการรักษา และเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย

ทั้งนี้ โรงพยาบาลมะเร็งสุราษฎร์ธานี เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางที่ดูแลรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งแบบครบวงจร มีการให้บริการด้านโรคมะเร็งทั้งการตรวจวินิจฉัยและการรักษามะเร็งครอบคลุมทั้งการผ่าตัด เคมีบำบัด รังสีรักษา การรักษาแบบประดับประคอง และการรักษาแบบผสมผสาน โดยเฉพาะรังสีรักษาเป็นหน่วยงานเดียวในภาคใต้ตอนบนที่ มีการบริการด้านรังสีรักษา เริ่มเปิดให้บริการด้านรังสีรักษากับผู้ป่วยในเขตบริการสุขภาพตั้งแต่ปี 2540 โดยในแต่ละปีพบผู้ป่วยรายใหม่เข้ารับการรักษา 4,847 ราย ในผู้ชายพบมะเร็งปอดสูงสุด รองลงมามะเร็งตับและถุงน้ำดี ส่วนผู้หญิงเป็นมะเร็งเต้านมมากสุด รองลงมามะเร็งปากมดลูก ส่วนงานรังสีรักษาในปี 2562 ให้บริการผู้ป่วยรายใหม่กว่า 1,200 ราย