ไม่พบผลการค้นหา
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เผยเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ยังไม่กล้าฟันธงจีดีพีปีนี้โตตามเป้าร้อยละ 2.8 หรือไม่ ยอมรับยอดนักท่องเที่ยวเดือน ก.พ. ลดลงจากปัญหาโควิด-19 คาดปรับคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้ใหม่ เม.ย.นี้

นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ในฐานะรองโฆษก สศค. ยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้มีความเสี่ยงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่จะทำให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวในเดือน ก.พ.นี้ ปรับตัวลดลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่จะลดลงจากประมาณการทั้งปีที่คาดว่าจะมีประมาณ 41.1 ล้านคน หรือไม่ ต้องรอดูสถานการณ์อีกอย่างน้อย 1-2 เดือน เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงกว่าที่คาดไว้เดิม โดยล่าสุด กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประกาศปรับลดการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้เหลือเพียงร้อยละ 3.2 จากเดิมคาดการณ์ร้อยละ 3.3

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยบวก จากการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ได้เร็วกว่าที่คาดไว้ 1 เดือนและการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 ของงบลงทุนทั้งหมด ซึ่งจะเป็นผลบวกให้มีเม็ดเงินลงสู่ระบบเร็วขึ้น ประกอบกับค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงจากประมาณการเดิมที่คาดจะแข็งค่าที่ 30.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ 31.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งก็จะส่งผลดีต่อการส่งออกของไทย 

ส่วนจะมีการปรับประมาณการจีดีพีในเดือน เม.ย.นี้ หรือไม่ จากเดิมที่ประมาณการร้อยละ 2.8 ยังคงต้องติดตามผลกระทบไวรัสโควิด-19 อย่างใกล้ชิด เพราะไม่กล้าฟันธงว่าจะยืดเยื้อนานหรือไม่

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในเดือน ม.ค. 2563 ที่ผ่านมา มีสัญญาณที่ดีขึ้นจากภาคการส่งออกสินค้า การบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งกลับมาขยายตัวเป็นบวกในรอบ 6 เดือนที่ร้อยละ 0.4 ต่อปี หรือขยายตัวได้ร้อยละ 37.1 จากเดือนก่อนหน้า ขณะที่รายได้เกษตรกรที่ขยายตัวต่อเนื่องจากราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้นอย่างไรก็ดีการลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณชะลอตัว ในด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรมมีสัญญาณชะลอตัว ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่เริ่มเห็นผลกระทบไวรัสโควิด-19 ในช่วงปลายเดือนม.ค.ที่ผ่านมาบ้างแล้ว 

ส่วนเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 1.1 ต่อปี และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.5 ต่อปี สัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนธ.ค. 2562 อยู่ที่ร้อยละ 41.2 ต่อจีดีพี ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง ขณะที่เสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนม.ค. 2563 อยู่ในระดับสูงที่ 2.3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ