ไม่พบผลการค้นหา
"เท่าพิภพ" ผลักดันร่าง พ.ร.บ.สุรา ฉบับพรรคก้าวไกล เข้าสภาฯ หวังปลดล็อกอุตสาหกรรมสุรา ทลายทุนผูกขาด เพิ่มมูลค่าส่วนแบ่งตลาดคราฟต์เบียร์รายย่อยเติบโตร้อยละ 5 ของตลาด

นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ส่วนตัวมีความฝันอยากทำเบียร์เป็นของตัวเองมาโดยตลอด ในฐานะเป็นตัวแทนของประชาชนและเป็นผู้ผลิตสุรารายย่อย ที่ส่งเสียงเรียกร้องมายังสภาฯ วันนี้ถึงเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมทำลายกำแพงเล็กๆ จากกำแพงใหญ่ของนายทุน โดยพ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ฉบับพรรคก้าวไกล ที่ตนและทีมงานพรรคฯ นั้นได้ร่างขึ้นมา มีจุดประสงค์ในการปลดล็อกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยเฉพาะการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรอันเป็นหนึ่งในกลไกการพัฒนาเศรษฐกิจไทย

ทั้งนี้ ในช่วงที่สภาวะเศรษฐกิจถดถอยเนื่องจากปัญหาโควิด-19 เช่นนี้ แนวทางการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจมีอยู่ 2 แนวทาง ทางแรกคือการอัดฉีดเงิน ทางที่ 2 คือการแก้ข้อบังคับต่างๆ ซึ่งเป็นวิธีการที่ตนกำลังจะเสนออยู่ในขณะนี้ นั่นก็คือการแก้ไขกฎหมายและคลายข้อบังคับอันเป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพเพื่อหารายได้ของประชาชน อันจะเป็นการพื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก โดยที่ไม่ต้องลงทุนอะไรเลย โดยในประวัติศาสตร์ไทย การผลิตสุรานำรายได้มาสู่บรรพกษัตริย์และราชอาณาจักรไทยมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่สมัยสุโขทัยและอยุธยา และจากประสบการณ์ในการลงพื้นที่สำรวจทำให้พบว่าการผลิตสุราเป็นภูมิปัญญาและเป็นอัตลักษณ์อันหลากหลายในแต่ละท้องถิ่นของไทยมูลค่าของตลาดสุราและเบียร์มีมูลค่า 3 แสนล้าน ซึ่งกระจุกตัวอยู่กับผู้ผลิตรายใหญ่ และมีเพียงแค่ 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เป็นผู้ประกอบการรายย่อย 

ดังนั้น การปลดล็อกครั้งนี้จะเพิ่มมูลค่าส่วนแบ่งตลาดรายย่อยทันที 100 เปอร์เซ็นต์และจากการคาดการณ์ภายใน 10 ปี หลังจากการปลดล็อกตาม พ.ร.บ ฉบับนี้ ตลาดของคราฟต์เบียร์รายย่อยจะเติบโตเป็น 5 เปอร์เซ็นต์ของตลาดเบียร์

ชงแก้ไข พ.ร.บ.สรรพสามิต 'แก้นิยามผู้ผลิต-ยกเลิกกำหนดกำลังการผลิต เงินทุน-เปิดทางผลิตบริโภคในครัวเรือน'

สำหรับการแก้ไขพ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตเพื่อให้มีการปลดล็อกการผลิตสุรารายย่อยมีการแก้ไขมาตรา 153 ของ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต โดยมีการแก้ไขใน 3 ส่วน ดังนี้

1.เพิ่มคำว่า " การค้า "ต่อจากข้อความเดิม ที่ว่า "ผู้ใดประสงค์จะผลิตสุรา" เป็น"ผู้ใดประสงค์จะผลิตสุราเพื่อการค้า"

2. การเพิ่มบทห้ามกำหนดเกณฑ์ กำหนดกำลังการผลิต จำนวนคนงาน เงินทุน เพื่อปลดล็อกทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กเข้ามาอยู่ในธุรกิจสุรา เปิดโอกาสสร้างศักยภาพทางการแข่งขัน อันจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคลายล็อกในกฎกระทรวง การอนุญาตผลิตสุรา 2560 ที่เคยกำหนดขั้นต่ำในการทำสุราประเภทต่างๆไว้ อาทิเช่น การขออนุญาตผลิตเบียร์ที่ต้องมีขั้นต่ำ 10 ล้านลิตร การผลิตสุราขาวที่จำกัดไม่เกิน 5 แรงม้าและ 7 แรงคน การปรุงแต่งสุรา การบ่มสุรา

3. การอนุญาตให้การทำสุราเพื่อบริโภคเองภายในครัวเรือน

ทั้งนี้ การตรวจสอบและควบคุมคุณภาพของสุราเพื่อความปลอดภัยที่ดีจะไม่มีการเปลี่ยนเเปลง



ข่าวที่เกี่ยวข้อง :