ไม่พบผลการค้นหา
“ยุทธศาสตร์ชาติ เปรียบเสมือนทางเดินที่เราร่วมสร้าง เพื่อจะทำให้เราไปถึงเป้าหมายที่เรากำหนดไว้ เมื่อเรามีทางเดินก็จะทำให้เราเดินได้อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยังยืน”

ในสปอตโฆษณา #Missอนาคต ที่เข็นออกมาเพื่อประชาสัมพันธ์ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (ถ้าไม่เคยเห็นไม่เป็นไร เพราะสปอตโฆษณานี้ออนแอร์อยู่ไม่นาน มีคนรู้จักแค่วงแคบๆ แม้จะใช้งบถึง 4 ล้านบาทเศษ) จะเน้นคำว่า “เรา” ถึง 5 ครั้งด้วยกัน

ถ้าฟังผ่านๆ หลายคนอาจคิดว่า “เรา” ที่ว่า หมายถึงพวกเราทุกคน คือประชากรไทยทั้งประเทศ 66.2 ล้านคน

แต่พอลองคิดดูอีกที “เรา” ตามความเข้าใจข้างต้นไปมีส่วนร่วมในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติตอนไหนกัน เพราะรู้ตัวอีกที ก็โผล่ออกมาเป็นเล่มๆ มีคนเขียนไว้หมดเสร็จแล้ว

ถ้าเช่นนั้น “เรา” ที่ Miss อนาคต บอกว่าเป็นคน “ร่วมสร้าง-ร่วมกำหนดเป้าหมาย-ร่วมวางทางให้คนทั้งชาติต้องเดินตาม” ผ่านสิ่งที่เรียกว่า “ยุทธศาสตร์ชาติ” นั้นหมายถึงใคร?

หากหมุนเวลากลับไปสัก 3-4 ปีก่อน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.จะพูดอยู่บ่อยๆ ว่าการดำเนินงานของรัฐบาลในอนาคตจะต้องทำตามยุทธศาสตร์ ที่เป็น “แผนการพัฒนาประเทศในระยะยาว” ซึ่ง ณ เวลานั้น ไม่มีใครรู้ว่าหมายถึงอะไร รู้แต่ว่าประเทศไทยมีสิ่งที่เรียกว่า “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” ที่สภาพัฒน์เป็นผู้จัดทำ และบังคับใช้ฉบับละ 5 ปี มาตั้งแต่ปี 2504 สมัยรัฐบาลของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และถึงปัจจุบัน ก็มีถึงฉบับที่ 12 แล้ว ที่จะใช้ระหว่างปี 2560-2564

กระทั่งมีผู้ไปพบว่า รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ได้แอบตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติไว้ตั้งแต่ปี 2558 มี พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกฯ เป็นประธาน ก่อนจะผลิตผลงานออกมาเป็น “ร่างยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี” ซึ่งมีการเผยแพร่ “ฉบับสรุปย่อ” ไว้ตั้งแต่กลางปี 2559 และมีผู้ไปออกแรงใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ขออยู่หลายเดือน กว่าจะได้ “ฉบับเต็ม” มาในกลางปี 2560

แต่กระทั่งตอนนั้น แม้แต่สื่อมวลชนเองก็ยังไม่เอะใจว่า เอกสารนี้มีความสำคัญแค่ไหน กระทั่งได้เห็นรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 และ พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ

กล่าวโดยย่นย่อ ก็คือ

- ยุทธศาสตร์ชาติสำคัญแค่ไหน? เป็นเอกสารที่จะใช้ไปอีก 20 ปี (แม้จะปรับปรุงได้ทุก 5 ปี) กำหนดแนวทางการพัฒนาประเทศในระยะยาว รัฐบาลชุดต่อๆ ไปจะต้องจัดทำนโยบายและงบประมาณให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ หากไม่ทำอาจมีความผิด มีโทษทั้งถูกถอดถอนและ/หรือถูกจำคุก

- ใครเป็นคนจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ? ต้องผ่านคณะกรรมการ 4 ชุด คือ คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านต่างๆ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะรัฐมนตรี และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แต่ที่น่าสนใจคือ ทุกชุดมีจุดร่วมเดียวกันคือมาจากคนที่ คสช.แต่งตั้งทั้งสิ้น

- ยุทธศาสตร์ชาติเกิดจากอะไร? ยุทธศาสตร์ชาติที่จะใช้ระหว่างปี 2561-2580 นี้ เกิดขึ้นโดยปรับปรุงจากร่างยุทธศาสตร์ชาติที่คณะกรรมการซึ่งมีเลขานายกฯ เป็นประธาน จัดทำขึ้นมาเป็น “พิมพ์เขียว” ทั้งคู่มีจุดเหมือนกันที่สำคัญ คือให้ด้านความมั่นคงมีความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง

หากดูที่มาที่ไปข้างต้น ก็น่าจะพอเห็นลางๆ แล้วว่า “เรา” ในยุทธศาสตร์หมายถึงใคร คนทั้งประเทศ หรือผู้มีอำนาจแค่บางกลุ่ม

แต่ถามว่า ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการจัดทำเลยหรือ คำตอบคงจะไม่ใช่ เพียงแต่ช่องทางการมีส่วนร่วมมีอยู่น้อยมากๆ เช่น ผ่านการแสดงความเห็นทางเว็บไซต์ของสภาพัฒน์ (ที่ไม่รู้ว่ามีการแสดงความเห็นเข้าไปมากน้อยเพียงใด และนำไปสู่การปรับแก้เนื้อหาบ้างหรือไม่)และการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น 4 เวที 4 ภาค ในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเพียง 3,200 คน หรือคิดเป็น 0.00005% ของประชากรทั้งหมด แถมกว่าครึ่งยังเป็นคนจากภาครัฐ

ผมมีโอกาสได้คุยกับผู้บริหารสภาพัฒน์ที่มีบทบาทสำคัญในการจัดทำยุทธศาสตร์ (สภาพัฒน์เป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านต่างๆ) เขาบอกว่า เหตุที่ต้องกำหนดแผนการพัฒนาประเทศระยะยาวไว้ 20 ปี เนื่องจากที่ผ่านมาเวลาเปลี่ยนรัฐบาลที นโยบายก็เปลี่ยนตาม สุดท้ายการพัฒนาเลยไม่ต่อเนื่อง ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน

ช่วงปี 2548-2549 จึงเริ่มมีการคิดถึงแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศระยะยาวขึ้นมา หลังจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับหลังๆ ถูกรัฐบาลขณะนั้นละเลย ไม่ปฏิบัติตาม

“ที่มาของตัวเลข 20 ปี คือระยะเวลาที่เราคิดว่า นานพอจะทำให้เห็นหน้าเห็นหลังแล้วว่า ประเทศจะเดินไปทางไหน แผนที่วางไว้มีโอกาสประสบความสำเร็จไหม”

และนอกจากผู้บริหารสภาพัฒน์รายนี้ ผมยังได้มีโอกาสคุยกับผู้เกี่ยวข้องในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติหลายๆ คน เท่าที่ฟังแต่ละคนก็ดูตั้งใจดี อยากให้ประเทศได้พัฒนาต่อเนื่อง ไม่รวมถึงนึกไม่ออกเลยว่า คนเหล่านี้จะได้ประโยชน์อะไรจากการเข้าไปร่วมจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ชื่อเสียง เงินทอง หรือตำแหน่ง?

หรือพูดง่ายๆ ก็คือ คนเหล่านั้น เข้าไปช่วยทำยุทธศาสตร์ด้วยเจตนาดี ไม่น่าจะหวังลาภยศสรรเสริญใดๆ

และเท่าที่อ่านดูคร่าวๆ เนื้อหาของยุทธศาสตร์ชาติฉบับล่าสุด ที่หนา 71 หน้านั้น ก็ไม่ได้แย่อะไร

เพียงแต่ยุทธศาสตร์ชาตินี้ น่าจะผิดตั้งแต่การที่ให้คนรุ่นปัจจุบันไปกำหนดอนาคตคนรุ่นหลังไว้อย่างตายตัว (ไม่ทำตามมีโทษ) แถมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดทำก็มีเพียงหยิบมือ ที่สำคัญมีกำเนิดจาก คสช.แทบทั้งสิ้น

“เรา” ในคำโฆษณาของ #Missอนาคต สำหรับคนจำนวนไม่น้อย จึงไม่คิดว่า หมายถึงตัวพวก “เขา”

แต่กลายเป็น “เรา” คนที่ยังไม่ยอมปล่อยมือจากอำนาจ แถมยังถือวิสาสะมากำหนดอนาคตของชาวบ้าน ไว้ถึง 20 ปี ทั้งๆ ที่ตัวเองก็ไม่อาจนับเป็นตัวแทนคนส่วนใหญ่ของประเทศได้

ไม่แปลกที่ #Missอนาคต สปอตที่ใช้ในการโฆษณายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จะถูกล้อว่าเป็น “อนาคตที่พลาด” หรือ “อนาคตที่สูญหาย” ไม่ใช่อนาคตที่ใครๆ ฝันถึง

เพราะอนาคตใคร ใครก็อยากจะกำหนดด้วยตัวเอง หรือถูกกำหนดโดยคนที่เขาเลือกมาให้ช่วยกำหนดให้

ไม่ใช่โดยใครก็ไม่รู้?

พงศ์ บัญชา
0Article
0Video
0Blog