ไม่พบผลการค้นหา
บุหรี่และกัญชาถึงแม้จะเป็นพืชคนละตระกูลกัน โดยบุหรี่ซิกาแรตลักษณะเป็นใบยาสูบมวนด้วยกระดาษและก้นกรองที่พบเห็นในปัจจุบันนั้นใบยาสูบเป็นพืชใน Family: Solanaceae และ Genus: Nicotiana ส่วนกัญชาเป็นพืชใน Family: Canabaceae และ Genus: Cannabis

แต่พืชทั้งสองชนิดสามารถนำมาผลิตเป็นสินค้าเสพติดโดยการสูบและสร้างรายได้มหาศาลแก่บริษัทข้ามชาติ ตลอดจนภาษีมหาศาลแก่รัฐบาล

ด้วยการเป็นสารเสพติดส่งผลเสียต่อสุขภาพประชาชนและสังคมโดยรวม รัฐบาลทั่วโลกจึงมีความพยายามควบคุมบุหรี่และกัญชาด้วยมาตรการทางกฎหมายต่างๆ ตลาดบุหรี่และกัญชาจึงเป็นตลาดที่มีการแทรกแซงจากรัฐอย่างเข้มข้น แต่เมื่อลงรายละเอียดเปรียบเทียบสินค้าสองชนิดแล้วจะพบว่าประวัติศาสตร์วิถีทางการดำเนินการควบคุมกัญชาและบุหรี่มีความแตกต่างกัน

บุหรี่ : ประวัติศาสตร์การเปลี่ยนสินค้าวัฒนธรรมเป็นสินค้าบริโภคในตลาดเสรีทุนนิยม

มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์บ่งชี้ว่า มนุษยชาติมีการใช้ยาสูบมา 10000 ปีก่อนคริสตกาล ยาสูบเป็นพืชพื้นเมืองที่พบได้ในทวีปอเมริกา โดยชนเผ่ามายาใช้ใบยาสูบในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ยาสูบเริ่มแพร่หลายสู่โลกภายนอกเมื่อมีการค้นพบทวีปอเมริกาโดยโคลัมบัสในศตวรรษที่ 15 ชาวยุโรปจึงนำเมล็ดพันธุ์และต้นยาสูบเข้ามาปลูกในทวีปยุโรป และมีการแพร่หลายปลูกในประเทศอาณานิคมที่มีอุณหภูมิเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของยาสูบ

ยาสูบนำมาบริโภคได้หลายวิธี เช่น การเคี้ยว การจุดไฟเผาแล้วสุดควัน การสูดไอน้ำ เป็นต้น ด้วยฤทธิ์ของนิโคตินในยาสูบที่ส่งผลต่อสมอง ให้เกิดภาวะคลายความเครียด ผ่อนคลาย และยังเชื่อว่ามีฤทธิ์ทางยาในการรักษาแก้ปวด แก้ไข การบริโภคยาสูบจึงเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน และค่อยๆแพร่หลายจากชนชั้นสูงในยุโรปไปสู่ชนชั้นอื่นๆ จากยุโรปไปสู่เอเชีย แอฟริกา อเมริกาและทั่วโลก กลายเป็นสินค้าของมวลประชาในโลกทุนนิยมต่อเนื่องยาวนานกว่า 3 ศตวรรษ และเมื่อมีการพัฒนานวัตกรรมไม้ขีดไฟที่ลดความเสี่ยงของการเกิดอัคคีภัยจากการจุดบุหรี่ และเครื่องมวนยาสูบที่ลดการเสียเวลาและความไม่สะดวกจากการมวนบุหรี่แล้ว ยิ่งทำให้อัตราการสูบบุหรี่ของประชากรโลกพุ่งทะยานกว่าร้อยละ 60-70 ของประชากรในบางประเทศ ในสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 บุหรี่ยิ่งแพร่ระบาดหนักและเป็นหนึ่งในค่าตอบแทนของทหารในแดนหน้า บุหรี่สร้างกำไรงดงามแก่บริษัทยาสูบยักษ์ใหญ่ในตลาดโลก เป็นบริษัทข้ามชาติที่มีฐานในยุโรปและอเมริกา ซึ่งวางรากฐานห่วงโซ่การผลิตอย่างมั่นคงด้วยการนำใบยาสูบดิบจากประเทศค่าแรงต่ำและมีผลผลิตต่อไร่สูง เพื่อมวนเป็นบุหรี่ซิกาแรตบรรจุหีบห่อและเครื่องหมายการค้าเพิ่มมูลค่าตลาด

ในศตวรรษที่ 20 ประเทศต่างๆและประชาคมโลกเพิ่งเริ่มตระหนักพิษภัยบุหรี่และหามาตรการควบคุมเนื่องจากมีการค้นพบหลักฐานทางวิทยาศาสตร์บ่งชี้ความสัมพันธ์ของบุหรี่ต่อการเกิดมะเร็งปอด ถุงลมโป่พอง โรคหัวใจและทางเดินหายใจ มะเร็งริมฝีปาก ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นาซีเยอรมันเป็นประเทศที่ริเริ่มการควบคุมบุหรี่เพื่อให้สุขภาพของประชากรดีขึ้น ส่วนประเทศอื่นๆยังไม่ค่อยตระหนักถึงปัญหานี้นักจนกระทั่งทศวรรษ 1960 ที่นิตยาสารรีดเดอร์ไดเจสต์ตีพิมพ์ภัยของบุหรี่ และมีสิ่งพิมพ์อื่นๆตามมาได้รายงานถึงภัยของการสูบบุหรี่มือสอง การสูบบุหรี่ไม่เพียงแต่ก่อปัญหาสุขภาพแก่ผู้สูบแต่ส่งผลต่อคนรอบข้าง

บุหรี่จึงเป็นปัญหาสังคมและสาเหตุการตายที่หลีกเลี่ยงได้ของมนุษย์ องค์ความรู้จากประเทศพัฒนาแล้วเพื่อหามาตรการควบคุมบุหรี่ก็ค่อยๆแพร่ขยายไปสู่ประเทศกำลังพัฒนา อย่างไรก็ตามเนื่องจากยาสูบเป็นสินค้าที่บริโภคอย่างแพร่หลายเป็นค่านิยมสังคม การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคนจำนวนมหาศาลจึงเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความอดทนและเวลา มาตรการควบคุมยาสูบจึงค่อยๆเป็นค่อยๆไป เช่น การห้ามโฆษณายาสูบในสื่อสาธารณะ การห้ามขายยาสูบแก่เยาวชน การห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ การควบคุมหีบห่อและผลิตภัณฑ์ให้มีข้อมูลเตือนภยันตรายของยาสูบ การห้ามขายบุหรี่ปลีกเป็นมวน เป็นต้น

บุหรี่ไฟฟ้า

กัญชา: ประวัติศาสตร์การเปลี่ยนสินค้าบริโภคในทุนนิยมเป็นสินค้าผิดกฎหมาย

กัญชาเป็นพืชที่พบได้ในเอเชียกลางและอินเดีย มีหลักฐานประวัติศาสตร์บ่งชี้ถึงการใช้กัญชามาอย่างน้อย 3 พันปีก่อนคริสตกาล เช่นเดียวกับยาสูบ มนุษยชาติมีการใช้กัญชาในพิธีกรรมทางศาสนา นอกจากนี้มีการใช้ในการรักษา ใช้เพื่อพักผ่อนหย่อนใจ ส่วนใยจากต้นกัญชาก็สามารถนำไปใช้ในการทอผ้าหรือเชือก กัญชาที่นิยมใช้มีด้วยกัน 2 รูปแบบคือ กัญชาในรูปน้ำมัน และกัญชาในรูปใบ กัญชาเริ่มแพร่ขยายจากเอเชียกลาง ไปอินเดีย ตะวันออกกลาง แอฟริกาและยุโรปตามลำดับ กัญชาเริ่มมีการผลิตในเชิงอุตสาหกรรมมากขึ้นเมื่อประเทศในยุโรปนำกัญชาข้ามน้ำข้ามทะเลไปเพาะปลูกในทวีปอเมริกา ในช่วงศตวรรษที่ 16-17 ต่อมาอเมริกาใต้และแอฟริกาเหนือจึงเป็นเขตแดนหลักในการเพาะปลูกกัญชาและป้อนอุปทานกัญชาในตลาดโลก

ด้วยฤทธิ์ของกัญชาที่ส่งผลต่อสมอง ผู้สูบจะมีอาการร่าเริง ต่อมาฤทธิ์ของกัญชาจะกดสมองทำให้มีอาการง่วงนอน และถ้าสูบในปริมาณมากจะเห็นภาพหลอน ดุร้าย เมื่อสะสมในร่างกายมากๆร่างกายจะเริ่มมีอาการติดยา ต้องเพิ่มปริมาณการเสพ และระบบประสาทค่อยๆถูกทำลาย จึงเริ่มมีการควบคุมกัญชาจากรัฐ โดยเริ่มแรกเป็นการควบคุมเฉพาะกรณีหรือประชากรเฉพาะกลุ่ม เช่น นโปเลียน โบนาปาร์ต ห้ามมิให้ทหารสูบกัญชาเพราะมีฤทธิ์อารมณ์ดี ลดความน่าเกรงขามของทหารเวลาออกรบ ส่วนในตุรกีก็มีการออกกฎหมายห้ามนำเข้าและเสพกัญชาในช่วง 1868 เนื่องจากความชุกของประชากรที่เสพกัญชาสูงจนน่าเป็นห่วง

กัญชากลายสภาพจากสินค้าที่บริโภคทั่วไปในสังคมเป็นสินค้าต้องห้ามในระดับสากลเมื่อเข้าสู่ทศวรรษที่ 1960 และมีการถกเถียงกันในเวทีระดับโลกถึงมาตรการควบคุมการเสพกัญชาเพื่อสังสรรค์ และการผลิตกัญชาเพื่อใช้ในการแพทย์ โดยอเมริกาเป็นผู้เล่นหลักในการผลักดันการเปลี่ยนกัญชาให้เป็นสารเสพติด เนื่องจากปัญหาภายในประเทศที่มีผู้เสพกัญชาสูงมากขึ้น ในปี 1961 องค์กรอนามัยโลกได้จัดกัญชาเป็นสารเสพติดประเภท 1 ร่วมกับเฮโรอีน โคเคน ฝิ่น ซึ่งถือว่าเป็นสารเสพติดรุนแรง และเป็นสารตั้งต้นในการผลิตสารเสพติดร้ายแรงชนิดอื่นๆ อีกทั้งส่งผลเสียต่อสุขภาพและมีวิธีการรักษาที่ยากลำบาก อีกทั้งสหประชาชาติได้ประกาศให้การเสพกัญชาเพื่อจุดประสงค์อื่นนอกเหนือการแพทย์ต้องหยุดลงภายใน 25 ปี ซึ่งส่งผลให้การครอบครองการเสพการผลิตกัญชาเป็นสิ่งผิดกฎหมายในประเทศต่างๆตามมา

สำหรับประเทศไทยบทลงโทษของกัญชาเป็นโทษทางอาญา ผู้ผลิตหรือนำเข้ามีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 500000 บาท หากเป็นการกระทำเพื่อจำหน่ายมีโทษจำคุก 1 ปี ถึง 15 ปีและปรับตั้งแต่ 100000 ถึง 1500000 บาท ผู้ครอบครองมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 150000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีจำหน่ายหรือครอบครองไม่ถึงสิบกิโลกรัม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 150000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีจำหน่ายหรือมีไว้ครอบครองตั้งแต่สิบกิโลกรัมขึ้นไป ต้องระวางคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 15ปี และปรับตั้งแต่ 150000 บาท ถึง 1500000 บาท การเสพต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 20000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

จะเห็นได้ว่ามาตรการควบคุมกัญชามีความรวดเร็วรุนแรงกว่าการควบคุมบุหรี่ที่ค่อยๆเป็นค่อยๆไป   

นโยบายปลูกกัญชา ภูมิใจไทย

ลมเปลี่ยนทิศ : นโยบายเสรีกัญชาและสิ่งที่ควรระวัง

กัญชากลายเป็นสินค้าผิดกฎหมายอาญาทั่วโลก แต่ทว่าก็เป็นสินค้าที่มีการลักลอบบริโภคมากที่สุดเช่นกัน ประมาณการกว่า 180 ล้านคนที่เคยเสพกัญชา บทลงโทษของกัญชาหนักหนาระดับเดียวกับสารเสพติดหลอนประสาทชนิดอื่นที่รุนแรงกว่า การเพิ่มบทลงโทษกัญชาอาจไม่เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการลดผู้เสพผู้ค้ามากนัก ตรงกนข้ามกับเพิ่มมูลค่าของกัญชา การลงโทษจำคุกกับผู้เสพแม้เพียงปริมาณเล็กน้อยกลับทำให้เกิดปัญหาคนล้นคุก รัฐต้องเสียงบประมาณในการจับกุม ผู้เสพมีตราบาปในการกลับเข้าสังคมอีกครั้ง ดังนั้นในบางประเทศหรือบางมลรัฐจึงมีความคิดริเริ่มการทำกัญชาให้ถูกกฎหมายอีกครั้ง รวมถึงประเทศไทยที่ภาคประชาสังคมออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องเสรีกัญชา เพราะมีความเชื่อว่าสามารถพัฒนาเป็นยารักษาโรคมะเร็งได้ ส่วนรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขเองก็สนับสนุนการปลดล็อคกัญชาอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตามการเร่งดำเนินการโดยขาดความระมัดระวัง ตรึกตรองรอบด้าน อาจเกิดความเข้าใจผิดและปัญหาสังคมตามมา

ประการแรก ไม่มีกัญชาเสรี แต่มีการถอดโทษกัญชา (decriminalized) ประสบการณ์ในต่างประเทศเรื่องการทำกัญชาให้ถูกกฎหมายเป็นกระบวนการยกเลิกโทษของการเสพและการครอบครองกัญชาในปริมาณเล็กน้อย มิใช้การปล่อยเสรีกัญชาตามกลไกตลาด รัฐบาลยังมีบทบาทสำคัญในการควบคุมกัญชาอยู่ เช่น กัญชาในฮอลแลนด์ยังเป็นสินค้าผิดกฎหมายอยู่ แต่รัฐบาลถอดโทษอาญาออกในบางกรณี คือ กัญชาที่ผ่านกระบวนการผลิตสกัดสารเสพติดออกและใช้สำหรับทางการแพทย์โดยต้องมีการสั่งจ่ายจากแพทย์เท่านั้น หรือการอนุญาตเสพกัญชาเพื่อสังสรรค์ในปริมาณไม่เกิน 5 กรัมในร้านกาแฟ

ประการสอง กัญชาเป็นสินค้าที่ใช้ควบคู่กับบุหรี่ ในทางทฤษฎีกัญชาและยาสูบเป็นสินค้าที่มีลักษณะการบริโภคคล้ายๆกันและออกฤทธิ์ไม่ต่างกันมากนัก ซึ่งคาดว่าสินค้าสองชนิดนี้ใช้ทดแทนกันได้ เมื่อราคาของยาสูบสูงขึ้นคนจึงน่าจะหันไปสูบกัญชามากขึ้นและลดการสูบบุหรี่น้อยลง อย่างไรก็ตามงานศึกษาเชิงประจักษ์กลับพบว่า กัญชาและยาสูบเป็นสินค้าที่ใช้ควบคู่กัน กล่าวคือเมื่อมีการเสพกัญชาเพิ่มมากขึ้น เป็นไปได้สูงที่จะมีการสูบบุหรี่เพิ่มสูงขึ้นตามมา บุคลากรการแพทย์และเครือข่ายสังคมร่วมมือกันใช้เวลากว่า 30 ปีในการต่อสู้เพื่อผลักดันการควบคุมยาสูบให้สังคมตระหนัก ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบความสำเร็จในการควบคุมยาสูบและมีนโยบายที่สนับสนุนจากภาครัฐที่ก้าวหน้าที่สุดในภูมิภาคด้านควบคุมยาสูบ แต่ทว่าความเชื่อที่ว่ากัญชาเป็นยารักษามะเร็งจนนำไปสู่เสรีกัญชาก็อาจจะส่งผลให้การสูบบุหรี่ปะทุขึ้นมาอีกครั้ง

ประการสาม กัญชาเสรีและผลประโยชน์ต่อบริษัทผู้ผลิต การล็อบบี้ของบริษัทยาสูบข้ามชาติเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การควบคุมยาสูบเป็นไปอย่างช้าๆ ยุทธวิธีที่บริษัทเคยใช้ได้แก่ การให้เงินสนับสนุนงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ รวมถึงวารสารบางชนิดเพื่อสร้างข้อมูลว่า ยาสูบไม่ได้มีผลร้ายอย่างที่คิด การล็อบบี้กระบวนการออกกฎหมายและนโยบายด้านควบคุมยาสูบ การสร้างวาทกรรมว่ายาสูบเป็นสินค้าวัฒนธรรมที่มนุษย์บริโภคมาเป็นปกติ การสร้างภาพลักษณ์ผลิตภัณฑ์ให้คู่กับคุณค่าเสรีภาพและความเท่าเทียมกันทางเพศ

อย่างไรก็ตามด้วยความเข้มแข็งของเครือข่ายต่อต้านยาสูบทั่วโลก ทำให้ความพยายามของบริษัทยาสูบไม่สัมฤทธิ์ผลนัก และปริมาณการสูบบุหรี่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ในยุโรปลดลงจาก 1.4 ล้านล้านมวนในปี 2000 เป็น 1.2 ล้านล้านมวนในปี 2016 ในทวีปอเมริกาลดจาก 8 แสนล้านมวนเป็น 5 แสนล้านมวน สำหรับประเทศไทย ความชุกของประชากรสูบบุหรี่ลดลงจากร้อยละ 32 เป็นร้อยละ 19 จำนวนผู้สูบบุหรี่ก็ลดลงจาก 12.26 ล้านคน เป็น 10.7 ล้านคน ตลาดบุหรี่จึงเป็นตลาดขาลงและมีกฎระเบียบที่ไม่เป็นคุณต่อบริษัทยาสูบนัก และถ้าในอนาคตมีการถอดโทษกัญชาในไทยและที่อื่นทั่วโลกแล้ว ย่อมเป็นตลาดใหม่ที่น่าลงทุนและสร้างกำไรให้กับนายทุน

เป็นที่น่าเสียดายว่าภาคประชาสังคมไทยที่เป็นปราการหลักในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของบุหรี่แล้ว เริ่มมีความเห็นไปในทางสนับสนุนกัญชาเสรี

ภาคภูมิ แสงกนกกุล
นักวิชาการผู้ศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข และวิจัยเรื่องความเหลื่อมล้ำในระบบสาธารณสุขไทย
1Article
0Video
21Blog